อาจารย์นิด้าชี้หน้าตารัฐบาลนี้พอใช้ได้ แนะ 13 วาระเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ

ข่าวทั่วไป Monday October 9, 2006 14:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--Master Mind Communications
รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ คณบดี คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้ความเห็นถึงคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ว่า ในรูปแบบของรัฐบาลเฉพาะกาล ถือว่าบุคคลที่ได้รับเลือกเข้ามานี้อยู่ในระดับที่ใช้ได้ เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของสังคม แต่สิ่งที่นักธุรกิจกังวลก็คือโครงการที่ดีที่เริ่มมาจากรัฐบาลเก่าจะยังคงอยู่หรือไม่
"ไม่อยากให้มองว่าสิ่งที่รัฐบาลเก่าทำมาเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะหลายอย่างเป็นเรื่องที่ดีที่ควรสานต่อ เช่นนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่ดำเนินมาแล้ว นักลงทุนต่างชาติเขาจับตาดูอยู่ หากไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ อาจกระทบต่อการลงทุนของต่างประเทศได้" รศ.ดร.ประดิษฐ์กล่าว
ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และรองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐมนตรีแต่ละคนที่ได้รับเลือกเข้ามาล้วนทำงานในด้านที่รับผิดชอบมาโดยตลอด จึงถือเป็นคณะรัฐมนตรีที่ดี และการเข้ามาทำงานในภาวะที่ไม่ต้องพะวงกับแรงกดดันทางการเมือง ก็น่าจะทำงานได้ดี ได้ผลรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม เวลาทำงานของรัฐบาลนี้มีจำกัด แต่ต้องทำงานให้เกิดผลมาก จึงต้องมียุทธศาสตร์และมีวาระในการทำงานที่ชัดเจน ดังนั้น จึงอยากจะฝากวาระที่สำคัญที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการ ดังนี้ ประการแรก ต้องเร่งแก้ไขปัญหาและผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น และวางแผนในการรับมือในระยะยาว ไม่เช่นนั้นจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นทุกๆ ปี ประการต่อมา จะต้องเร่งสร้างภาพลักษณ์ โดยนายกรัฐมนตรีอาจจะต้องพบปะชี้แจงกับชาวต่างชาติ และยืนยันการบริหารงานภายใต้ระบอบประชาธิปไตย สร้างความร่วมมือกับอาเซียนให้มากขึ้น นอกจากนี้ ต้องผลักดันนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติอย่างได้ผลอย่างจริงจัง เพราะจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจเสรีดำเน้นไปอย่างมีคุณภาพ สมดุล ยั่งยืน และผาสุกขึ้น อันเป็นหลักเศรษฐกิจสากลที่ทุกประเทศกำลังปรารถนา
ดร.วรพลกล่าวอีกว่า รัฐบาลยังจะต้องเร่งนโยบายการกระจายรายได้ แก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อลดปัญหาที่เคยเกิดขึ้นจากการมุ่งเน้นอัตราการขยายตัวอย่างเดียว และก่อให้เกิดความแตกแยกขึ้นในสังคม
นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องเร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญๆ เช่น ต้องระบบขนส่งมวลชนทางน้ำ และระบบราง ระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานน้ำมัน ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าลดลง และแข่งขันในระดับโลกได้ดีขึ้น และยังเป็นการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคด้วย อย่างไรก็ตาม การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่จะต้องมีความโปร่งใส ยึดหลักผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
ดร.วรพลกล่าวด้วยว่า ในด้านนโยบายการเงินการคลังนั้นจะต้องเน้นเสถียรภาพ เพราะเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงหลายประการ เช่น ราคาน้ำมันยังสูง เงินไหลเข้าออกเร็ว เศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกายังมีความผันผวน จึงอาจมีเงินจากสหรัฐไหลเข้ามามากกว่าเดิม 4-5 เท่า จึงต้องสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการส่งเสริมการออมทุกรูปแบบ ลดการพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศ นอกจากนั้น ต้องสร้างกติกาที่จะนำไปสู่การพัฒนาการจัดการทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมุ่งการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล เพื่อกำจัดระบบคอรัปชั่นที่บั่นทอนเศรษฐกิจไทย ส่วนในด้านของนโยบายประชานิยมที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนจะต้องมีการทบทวน และปรับปรุงให้มีคุณภาพมากขึ้น
"รัฐบาลยังต้องส่งเสริมกลไกตลาดเสรี ป้องกันการผูกขาด เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม โดยรัฐบาลมีหน้าที่อำนวยความสะดวกและใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้ทุนกับการเมืองผูกโยงกัน เพราะการผูกขาดของทุนมีแนวโน้มจะส่งผลให้เกิดการผูกขาดทางการเมืองไปด้วย อันเป็นวงจรไม่ดีที่จะกัดกรอ่นประเทศ" ดร.วรพลกล่าว
นอกจากนี้ ในด้านของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจใหม่นั้น จ้องต้องทำอย่างโปร่งใส ถูกวิธี ถูกขั้นตอน และทำความเข้าใจสู่สังคมว่าหลักการแปรรูปนั้นมีประโยชน์กับสังคมอย่างไร ส่วนในด้านนโยบายพลังงาน จะต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพื่อเศรษฐกิจจะได้ปรับตัว รัฐต้องยกเลิกการเข้าแทรกแซงชดเชยทั้งเรื่องราคาน้ำมันและแก๊สหุงต้ม เพราะจะเป็นภาระของรัฐในระยะยาว
ในด้านการศึกษานั้น รัฐบาลจะต้องเน้นการจัดการความรู้ พัฒนาครู สื่อการสอน เพิ่มการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาส พัฒนาทักษะ ความรู้ความสามารถของผู้ประกอบการ พัฒนาฝีมือแรงงานให้กับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ เพื่อยกระดับรายได้และความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้ ในภาคธุรกิจเอกชนที่จะสามารถแข่งขันได้ในอนาคตนั้นจะต้องมีระบบการบริหารจัดการภายในที่ดี มีหลักการป้องกันความเสี่ยง และที่สำคัญต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยี
ประการสุดท้าย จะต้องมีการปฏิรูปสุขภาวะของคนไทยและระบบประกันสุขภาพ ดูแลสภาพแวดล้อม คุณภาพอากาศ อารมณ์ จัดงบประมาณการประกันสุขภาพให้เพียงพอ ลดปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ที่ลาออกและขาดแคลน ซึ่งจะเป็นปัญหาระยะยาว และต้องเชื่อมโยงระบบสวัสดิการทั้ง 3 ระบบ คือประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และหลักประกันถ้วนหน้า 30 บาท ให้สอดคล้องกัน
"ในปีหน้าเชื่อว่าความชัดเจนที่เกิดขึ้นจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตดีขึ้น ด้วยแรงหนุนจากราคาน้ำมันที่ทรงตัว การดูแลอัตราเงินเฟ้อที่ทำได้ดี ทำให้เงินเฟ้อชะลอลง และอัตราดอกเบี้ยมีโอกาสลดลงได้ในต้นปีหน้า" ดร.วรพลกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ