กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายฯ
โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบาย
การจัดการทรัพยาการชีวภาพในประเทศไทย (BRT)
ไม่มีสิ่งใดที่เกิดมาแล้วอยู่เพียงลำพังได้ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องการการอยู่อาศัยร่วมกัน และคอยเกื้อกูลกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เป็นความรัก ความเอื้ออาทรที่สรรพสิ่งพึงมีต่อกัน และในเทศกาลวันแห่งความรักที่กำลังจะมาถึงนี้ หากจะกล่าวถึงเรื่องความรักอีกรูปแบบหนึ่งที่มีอยู่บนโลกนี้ คือความรักแบบพึ่งพาอาศัยกันของสิ่งมีชีวิตต่างชนิดกัน ระหว่างสัตว์กับพืช นั่นคือการอยู่ร่วมกันคือปูน้ำเค็มกับป่าชายเลน
ปูน้ำเค็ม กับ ป่าชายเลน เป็นการสะท้อนภาพการอยู่อย่างเกื้อหนุนกัน ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้และไม่เคยสังเกต ป่าชายเลนซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีพันธุ์ไม้ป่าชายเลนรวมกันอยู่มากมายหลายชนิด เปรียบเสมือนปราการที่ยิ่งใหญ่ ที่ปกป้องแนวชายฝั่งทะเลไม่ให้ถูกกัดเซาะจากแรงของคลื่น แหล่งที่อยู่อาศัยและอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และยังเป็นแหล่งหากินของชุมชนริมฝั่งทะเล ขณะเดียวกันหากสังเกตดีๆ จะเห็นว่าป่าชายเลนทุกแห่งต้องมีปูน้อยใหญ่ ที่วิ่งกันขวักไขว่ไปมา นั่นอาจเป็นเพราะปูกับต้นไม้ในป่าชายเลนมีสัมพันธภาพที่ลึกซึ้ง เกื้อกูลกันเป็นอย่างดี จนเรียกได้ว่า “มีเธอจึงมีฉัน”
นายเรืองฤทธิ์ พรหมดำ หนึ่งในทีมนักวิจัยในชุดโครงการขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ โดยการสนับสนุนของโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยาการชีวภาพในประเทศไทย (BRT) และบริษัทโททาล อีแอนด์พีไทยแลนด์ เล่าว่าจากการศึกษาวิจัยเรื่องปูน้ำเค็มในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ ทำให้ได้เห็นความสัมพันธ์อันน่าประทับใจของปูน้ำเค็มที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลน
“ต้นไม้ทุกชนิดจำเป็นต้องมีธาตุอาหารสำหรับการเจริญเติบโต แต่คำถามคือต้นไม้ในป่า ชายเลนได้ธาตุอาหารมาจากที่ไหน คำตอบก็คือจากเจ้าปูตัวน้อยๆ ที่เดินกันไปมาในป่าชายเลน ปูจะทำหน้าที่เป็นผู้หมุนเวียนสารอาหาร และเร่งอัตราการย่อยสลายของอินทรียสารให้กับป่าชายเลน โดยหลักๆ จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ปูกลุ่มที่กินอาหารได้หลากหลายชนิด เช่น ปูแสม Episesarma spp. (หรือปูเค็ม) ปูกลุ่มนี้จะกินใบไม้ในป่าชายเลนที่ร่วงหล่นลงบนพื้นป่า โดยการนำมาฉีกตัดให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำกลับไปเก็บไว้ในรู เพื่อให้จุลินทรีย์ได้ช่วยย่อยสลายเศษใบไม้ก่อน จากนั้นปูจึงค่อยกินเศษซากใบไม้ อาหารเหล่านี้จะผ่านกระเพาะและทางเดินอาหารอย่างรวดเร็ว แต่จะสามารถดูดซึมสารอาหารได้น้อย ปูจึงต้องกินในปริมาณมาก เพื่อให้ได้สารอาหารที่เพียงพอ ซึ่งอินทรียสารที่ได้รับการย่อยสลายจากปูกลุ่มนี้จะถูกส่งต่อไปเป็นอาหารทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับสัตว์ชนิดอื่นที่เป็นสัตว์ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ปลากระบอก กุ้งทะเล หอยแมลงภู่ และหอยอีกหลายชนิด
ปูอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ปูที่กินดินกินทราย ซึ่งได้สารอาหารส่วนหนึ่งจากมูลของปูกลุ่มแรก เมื่อปูกินอินทรียสารแล้วขับถ่ายออกมา มูลของปูจะกลายเป็นปุ๋ย ที่เป็นแร่ธาตุกลับคืนสู่ดิน และสู่ต้นไม้อย่างเป็นวัฏจักร หรือแม้แต่พฤติกรรมการขุดรูของปูที่ขุดชอนไชลงไปในดินเพื่ออาศัย ยังเป็นเส้นทางนำพาออกซิเจนเข้าสู่ชั้นดินเบื้องล่าง เพิ่มความสามารถในการย่อยสลายอินทรียสารให้กับจุลชีพซึ่งสร้างแร่ธาตุให้กับดินอีกด้วย ดังนั้นจึงเป็นคำตอบของคำกล่าวที่ว่า มีเธอถึงมีฉัน นั่นก็เพราะมีปูจึงมีป่าชายเลน นั่นเอง” นายเรืองฤทธิ์ กล่าว
นอกจากนี้ จากการศึกษาชนิดความหลากหลายของปูน้ำเค็มในพื้นที่ป่าชายเลนบริเวณอุทยาน แห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ ทำให้พบว่าพื้นที่บริเวณนี้มีความหลากหลายของปูน้ำเค็มหลายชนิด โดยขณะนี้สามารถรวบรวมได้แล้วถึง 21 ชนิด จาก 14 สกุล ใน 7 วงศ์ ซึ่งแต่ละชนิดมีสีสันที่สวยงาม จนเปรียบได้ว่าเป็น อัญมณีสีสดใสในผืนป่าชายเลน อาทิ ปูก้ามดาบ หรือเปี้ยวโนรา ปูที่พบมากที่สุดในบริเวณนี้ ด้วยลักษณะพฤติกรรมที่ชอบโบกก้ามข้างใหญ่ไปมาคล้ายกับท่ารำของการรำโนรา และสีสันที่หลากหลาย ทั้งสีส้ม เหลือง ชมพู ปูแสมหลายชนิดที่มีสีสันฉูดฉาดสดใสไม่แพ้กัน นอกจากนี้ยังมีปูชนิดที่เป็นรายงานการพบครั้งแรกของประเทศไทยด้วย คือ ปู Paracleistostoma tweediei Tan & Humphreys 1995 โดยจากการตรวจสอบพบว่าเป็นชนิดเดียวกับที่มีการบรรยายลักษณะ ครั้งแรกจากประเทศบรูไน และสิงคโปร์ และจากนั้นก็ยังไม่มีรายงานการพบเพิ่มเติมที่ใดอย่างเป็นทางการ
จะเห็นได้ว่าพื้นที่ชายฝั่งและในทะเลของประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีสิ่งมีชีวิตที่ยังไม่ถูกค้นพบ และสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดล้วนมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน หากขาดสิ่งมีชีวิตตัวใดตัวหนึ่งไป ก็อาจจะส่งผลกับระบบนิเวศทั้งหมดได้ เป็นเหตุผลที่ว่าเหตุใดมนุษย์อย่างเราก็ควรหันมาให้ความรักกับธรรมชาติ ก็เพราะมนุษย์เองก็ไม่อาจจะอยู่รอดได้ หากขาดทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ดังนั้นในเทศกาลแห่งความรักปีนี้ นอกจากนึกถึงคนที่คุณรักแล้ว อย่าลืมที่จะนึกถึงธรรมชาติที่อยู่แวดล้อมเราทุกคนด้วย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โครงการ BRTโทรศัพท์ 02-6448150 ต่อ 554 โทรสาร 02-6448106 e-mail : prbrt.thai@gmail.com