ปภ. แนะวิธีขับขี่และการนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ถูกวิธี

ข่าวทั่วไป Thursday February 12, 2009 15:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--ปภ. จากสถิติอุบัติเหตุทางถนน พบว่า ยานพาหนะที่ประสบอุบัติเหตุมากที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ โดยสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากความประมาท คึกคะนองและการไม่ปฏิบัติตามวินัยจราจรของผู้ขับขี่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงขอแนะนำวิธีการขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์อย่างถูกต้องและปลอดภัย เพื่อลด ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ดังนี้ ตรวจสอบสภาพรถจักรยานยนต์ให้พร้อมก่อนขับขี่ โดยตรวจปริมาณน้ำมันในถัง สภาพลมยาง ความตึงของโซ่รถ ระบบเบรก สัญญาณไฟ ปริมาณน้ำกลั่นในแบตเตอรี่ กระจกมองข้าง และที่วางเท้าให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ดีและปลอดภัย สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ เพราะหมวกนิรภัยจะช่วยลดความรุนแรงและการบาดเจ็บที่สมองได้หากเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น ทุกครั้งที่ขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ควรสวมหมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐาน และมีตรารับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.) กำกับบนหมวก ให้สัญญาณไฟก่อนเลี้ยวหรือหยุดรถ หากต้องการให้ผู้ใช้รถใช้ถนนคันอื่นทราบวัตถุประสงค์ของผู้ขับขี่ว่าต้องการเลี้ยวรถ ขอทางหรือหยุดรถ ควรให้สัญญาณไฟล่วงหน้าเพื่อให้ผู้ขับขี่คันอื่นทราบ ซึ่งจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึง รักษาระยะห่างรอบๆรถ หากพบว่าช่องทางที่จะขับขี่รถจักรยานยนต์คับแคบเกินไป ควรขับชิดไปทางใดทางหนึ่งหรือเปลี่ยนไปใช้เส้นทางอื่น อีกทั้งรักษาระยะห่างระหว่างรถคันหน้าและคันหลังให้อยู่ในระยะที่พอดี ไม่อยู่ใกล้รถคันอื่นเกินไป เพราะอาจถูกแรงลมจากรถคันใหญ่กว่าดูดเข้าไปใกล้จนเกิดอุบัติเหตุได้ ไม่ควรซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์เกินกว่า 1 คนและบรรทุกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากเกินไป เพราะจะ ทำให้ความสามารถในการรองรับน้ำหนักและการทรงตัวของรถไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการควบคุมรถ ทำให้รถเสียการทรงตัวได้ง่าย และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนมากขึ้น สำหรับวิธีการซ้อนท้ายที่ถูกต้อง ควรปฏิบัติดังนี้ - สุภาพสตรี ไม่ควรนุ่งกระโปรงยาว กางเกงที่มีขากว้าง หรือบานรุ่มร่ามเพราะขณะที่รถวิ่งปะทะแรงลม ชายกระโปรงหรือชายกางเกงอาจพันเข้าไปในซี่ล้อรถจนเป็นเหตุให้ประสบอุบัติเหตุหล่นหรือตกจากรถได้ หากไม่สามารถเลี่ยงได้ ก่อนนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ควรเก็บชายประโปรงหรือชายกางเกงให้เรียบร้อยก่อนออกรถ - หากนำเด็กซ้อนท้ายไปด้วย ควรให้เด็กนั่งด้านหลังแบบนั่งคร่อม ไม่ควรนำเด็กนั่งด้านหน้าผู้ขับขี่ เพราะหากเบรกกะทันหัน เด็กอาจกระแทกกับคันบังคับรถจนได้รับบาดเจ็บ ให้เด็กสวมหมวกนิรภัยสำหรับเด็กโดยเฉพาะ และเพิ่มความเอาใจใส่เป็นพิเศษ อีกทั้ง ควรติดตั้งแผ่นโลหะหรือพลาสติกกันเท้าหรือส้นเท้าเข้าไปซี่ล้อรถ เพื่อป้องกันขาเด็กเข้าซี่ล้อและไม่ใช้ความเร็วเกิน 40 กม.ต่อชั่วโมง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิตหากเกิดอุบัติเหตุ - สำหรับการอุ้มเด็กทารกอายุ 3 เดือนขึ้นไป ซึ่งกล้ามเนื้อคอของเด็กยังไม่แข็งแรงโดยสารรถจักรยานยนต์ควรใช้เป้หรือถุงผ้าคล้ายกระเป๋าหน้าท้องจิงโจ้ แทนการอุ้มนั่งซ้อนท้าย เพื่อที่จะได้ใช้มือในการโอบกอดผู้ขับ ซึ่งจะช่วยป้องกันเด็กพลัดตกจากรถ หากใช้ผ้าห่มหรือผ้าอ้อมห่อตัวเด็กไว้ควรเพิ่มความระมัดระวังมิให้ชายผ้าเกี่ยวหรือเข้าไปในซี่ล้อรถขณะที่รถกำลังวิ่ง เพราะเด็กอาจหลุดเข้าไปติดในซี่ล้อรถ จนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตไม่ควรเร่งความเร็วเพื่อฝ่าสัญญาณไฟจราจร เนื่องจากการเร่งเครื่องยนต์เพื่อฝ่าสัญญาณไฟเหลือง ในการข้ามทางแยก อาจมีรถแล่นออกมาจากอีกทางแยกหนึ่ง ทำให้เกิดอุบัติเหตุรถชนกันจนถึงขั้นบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้น หากผู้ขับขี่สังเกตเห็นสัญญาณไฟเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ควรชะลอความเร็วลงและหยุดรถรอจนกว่าสัญญาณไฟเปลี่ยนเป็นสีเขียวจึงจะขับขี่ต่อไป รวมทั้งจอดรถบริเวณพื้นที่ที่ไม่กีดขวางเส้นทางการจราจรที่สำคัญ ผู้ขับขี่ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ก่อนขับขี่ เนื่องจากจะทำให้สูญเสียความสามารถในการขับรถ การตัดสินใจและการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินช้ากว่าปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน รวมทั้งผู้ขับขี่ควรปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของ ผู้ขับขี่ ผู้ซ้อนท้าย และผู้ใช้รถใช้ถนนคันอื่นๆ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ