กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางพิเศษฉลองรัช (ทางด่วนสายรามอินทรา-อาจณรงค์) โดยเชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร หรือถนนกาญจนาภิเษก (ด้านตะวันออก) เป็นระยะทางอีก 9.5 กิโลเมตร ภายใต้ชื่อ ทางพิเศษสายรามอินทรา-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาจราจรและเป็นอีกเส้นทางในการเดินทางไปยังภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่าจะสามารถเชื่อมต่อและเปิดให้บริการได้ในเดือนมีนาคม 2552 นี้
จากการที่ กทพ. ได้เปิดให้บริการทางพิเศษฉลองรัช หรือทางด่วนสายรามอินทรา-อาจณรงค์ ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร มาตั้งแต่ปี 2539 โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณถนนรามอินทรา กม.ที่ 5.5 ไปสิ้นสุดและเชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ระบบทางด่วนขั้นที่ 1) บริเวณอาจณรงค์ ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณจราจรใช้ทางพิเศษฉลองรัชสูงถึงกว่า 100,000 เที่ยว/วัน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับปริมาณจราจรในอนาคต และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการระบบทางพิเศษให้กว้างขวางครอบคลุมมากยิ่งขึ้น กทพ. จึงได้ขยายเส้นทางของทางพิเศษฉลองรัช บริเวณถนนรามอินทรา กม.ที่ 5.5 ไปเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร หรือถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก ระยะทาง 9.5 กิโลเมตร ภายใต้ชื่อโครงการทางพิเศษสายรามอินทรา-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร
โดยก่อสร้างเป็นทางพิเศษยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ประกอบด้วยไปด้วยทางแยกต่างระดับ 3 แห่ง พร้อมทางขึ้น-ลง ได้แก่ ทางแยกต่างระดับรามอินทรา ทางแยกต่างระดับ กม.11 และทางแยกต่างระดับวงแหวนรอบนอกฯ มีด่านเก็บค่าผ่านทาง 4 แห่ง ได้แก่ ด่านฯ รามอินทรา 1 (ขาออกเมือง) ด่านฯ สุขาภิบาล 5-1 (ขาเข้าเมือง) ด่านฯ สุขาภิบาล 5-2 (ขาออกเมือง) และด่านฯ จตุโชติ (ขาเข้าเมือง) ซึ่งคาดว่า
ส่วนเชื่อมต่อนี้จะสามารถเปิดให้บริการได้ในเดือนมีนาคม 52 นี้
ทางพิเศษสายรามอินทรา-วงแหวนรอบนอกฯ ถือเป็นส่วนหนึ่งของทางพิเศษฉลองรัช มีระยะทาง รวม 28.2 กิโลเมตร เมื่อเปิดให้บริการแล้ว นอกจากจะเป็นการขยายโครงข่ายระบบทางพิเศษแล้วยังช่วยเสริมโครงข่ายเส้นทางคมนาคมในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพมหานครให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพิ่มเส้นทางไปสู่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือรองรับปริมาณการจราจรบริเวณ
เขตสายไหมและพื้นที่ข้างเคียง บรรเทาปัญหาการจราจรบริเวณถนนรามอินทรา ถนนประดิษฐ์มนูธรรม ทางแยกต่างระดับรามอินทรา และโครงข่ายถนนใกล้เคียง ขยายขอบข่ายถนนเพื่อรองรับปริมาณการจราจรของถนนรังสิต-นครนายก
“ทางพิเศษทางเลือก เพื่อการประหยัดเวลา น้ำมัน และลดมลพิษ”
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย คู่ใจผู้ใช้ทาง
www.exat.co.th