ก.ไอซีที เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบด้านไอซีทีต่อเยาวชนไทยในทศวรรษหน้า

ข่าวเทคโนโลยี Friday February 13, 2009 11:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--ก.ไอซีที นายอังสุมาล ศุนาลัย รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้ทำการวิจัยแนวโน้มและมาตรการป้องกันผลกระทบของไอซีทีที่มีต่อเยาวชนไทยในทศวรรษหน้า ปีพ.ศ.2552-2562 ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของไอซีทีที่มีต่อเยาวชนไทย รวมทั้งศึกษาหาแนวทางหรือมาตรการป้องกันผลกระทบดังกล่าว โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มบุคคล 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้กำหนดนโยบาย กลุ่มผู้ปฏิบัติตามนโยบาย และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากไอซีทีที่เป็นเยาวชนอายุระหว่าง 12-18 ปี และศึกษาในระดับมัธยมศึกษาในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล รวมทั้งเขตเมืองใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากความเจริญก้าวหน้าทางไอซีที “การวิจัยแนวโน้มและมาตรการป้องกันผลกระทบของไอซีทีที่มีต่อเยาวชนไทยฯ นี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการส่งเสริมการดำเนินงานของคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ หรือ กทสช. ที่ต้องการศึกษาสถานการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตลอดจนค้นคว้ารวบรวมข้อมูลการวิจัยด้านไอซีทีเพื่อนำมาสนับสนุนการดำเนินงานของ กทสช. โดยกรอบแนวคิดในการวิจัยครั้งนี้จะมุ่งเน้นการศึกษาผลกระทบของไอซีทีในด้านการเรียนรู้ ด้านอารมณ์ ด้านสังคม ด้านพฤติกรรม ด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต รวมทั้งศึกษาแนวทางและมาตรการป้องกันแก้ไขทั้งในระดับครอบครัว สถานศึกษา ชุมชน สังคม และระดับชาติ” นายอังสุมาล กล่าว สำหรับผลการวิจัยผลกระทบของไอซีทีที่มีต่อเยาวชนในด้านต่างๆ นั้นมีทั้งด้านบวกและลบ โดยด้านบวก คือ ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทันสมัย รวดเร็ว มีความรู้รอบตัวมากขึ้น ช่วยพัฒนาทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ รวมทั้งช่วยพัฒนาความคิด ทำให้ฉลาดรู้เท่าทันคน ทำให้รู้จักเพื่อนๆ มากขึ้นผ่านทางอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ยังช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด ทำให้เพลิดเพลิน รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ รู้จักกล้าแสดงความคิดเห็นและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เป็นต้น ส่วนผลกระทบในด้านลบ คือ ทำให้เรียนรู้ในเรื่องที่เกินความจำเป็น และเรื่องเสื่อมเสียต่างๆ รวมทั้งทำให้สนใจเรื่องการเรียนหนังสือหรือทบทวนบทเรียนน้อยลง ไม่สนใจทำการบ้าน ผลการเรียนตกต่ำ รวมถึงทำให้การเรียนรู้ในวัฒนธรรมไทยลดลง นอกจากนี้ยังส่งผลให้เยาวชนนึกถึงแต่ตนเอง คิดว่าตนเองเก่งกว่าคนอื่น ทำให้ชอบอยู่คนเดียวไม่ชอบทำงานร่วมกับคนอื่น ทำให้เป็นคนอยากเอาชนะ ชอบใช้ความรุนแรง รวมทั้งทำให้ไม่อยากทำกิจกรรมอื่น และที่สำคัญ คือ ส่งผลกระทบด้านสุขภาพกาย ทำให้มีปัญหาด้านสายตา ด้านกระดูก ด้านการได้ยิน รวมถึงไม่ชอบเล่นกีฬา-ออกกำลังกาย หรือไม่พักผ่อน เป็นต้น จากผลกระทบในด้านต่างๆ กระทรวงฯ จึงได้มีการวิจัยเพื่อหาแนวทางและมาตรการรองรับผลกระทบจากไอซีทีที่มีต่อเยาวชนไทย โดยผลจากการวิจัยระบุว่าควรมีการดำเนินการทั้งการก่อ กัน แก้ และเกี่ยว ซึ่งแนวทางและมาตรการ ‘ก่อ’ คือ การสร้างภูมิคุ้มกันระดับบุคคล ทั้งในด้านการให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย กฎระเบียบ ประโยชน์ โทษภัยของไอซีที สร้างเจตคติที่ดี สร้างวินัยในการใช้ไอซีที ส่งเสริมการวางรากฐานที่เข้มแข็งทางวัฒนธรรม และเสริมทักษะการใช้ไอซีทีให้คนทุกระดับสามารถใช้และเข้าถึงไอซีที ส่วนแนวทางและมาตรการ ‘กัน’ คือ การควบคุมเฝ้าระวังไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้น โดยภาครัฐต้องมีการป้องกันการดาวน์โหลดข้อมูลและภาพที่เสื่อมเสีย มีบทลงโทษการกระทำความผิดที่รุนแรง มีมาตรการควบคุมการผลิตสื่อออนไลน์ที่ส่งผล ด้านลบ มีมาตรการควบคุมสถานให้บริการไอซีทีให้มีคุณภาพ รวมทั้งสร้างการทำงานเชิง Roadmap และคาดการณ์ปัญหาหรือแนวโน้มการใช้ไอซีทีที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ขณะที่หน่วยงานภาคสังคมควรเข้าไปมีบทบาทเสริมในการต่อต้านไอซีทีที่ทำให้เกิดผลเสียต่อเยาวชน การจัดลำดับสถานประกอบการอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ผู้บริโภคเลือกใช้ รวมทั้งสร้างอุปกรณ์ไอซีทีที่ช่วย ในการลดปัญหาสุขภาพ เป็นต้น สำหรับแนวทางและมาตรการ ‘แก้’ คือ การดำเนินการกับปัญหาที่เกิดขึ้นโดยการเพิ่มพื้นที่ดี ลดพื้นที่เสี่ยง ซึ่งภาครัฐจะต้องสร้างการยอมรับในกฎหมาย ปรับแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค และดำเนินการกับผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด รวมทั้งจัดทำโครงการดูแลช่วยเหลือเด็กและเยาวชน ส่งเสริมให้สถานศึกษาใช้สื่อเพื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายกว่าคอมพิวเตอร์ ขณะที่ภาคเอกชนควรผลิตไอซีทีที่ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ ความคิด อารมณ์ พัฒนาเนื้อหาเกมให้เกิดประโยชน์สร้างสรรค์ ส่วนภาคสังคมต้องช่วยควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กและเยาวชน เลือกไอซีทีและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีประโยชน์ให้เยาวชนได้ใช้ และผู้ปกครองไม่ควรซื้อคอมพิวเตอร์ไว้ในห้องส่วนตัวของบุตรหลาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแนวทางและมาตรการ ‘เกี่ยว’ คือ การประสานเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกัน โดยสร้างเครือข่ายการทำงานระหว่างหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งผู้บริหารระดับนโยบายควรมีการประสานในเชิงนโยบายเพื่อกำหนดเป้าหมายการพัฒนาร่วมกัน โดยเน้นการบูรณาการและการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งควรมีการตั้งคณะที่ปรึกษาเพื่อทำงานในระดับยุทธศาสตร์ที่มีตัวแทนจากภาคสังคม สร้างเครือข่ายภาคสังคมในการร่วมสอดส่องดูแลการใช้ไอซีทีของเยาวชน รวมถึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการ สถานประกอบการและองค์กรท้องถิ่นเข้ามา ร่วมดำเนินการ นอกจากนี้ควรมีการตั้งชุดปฏิบัติการพิเศษออกตรวจร้านเกมและอินเทอร์เน็ตอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น “จากผลการวิจัยดังกล่าว ทำให้กระทรวงฯ ได้รับทราบสถานการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทั้งผลกระทบด้านบวก และด้านลบ รวมถึงแนวทางและมาตรการป้องกันผลกระทบของไอซีทีที่มีต่อเยาวชนไทย ซึ่งกระทรวงฯ สามารถนำผลการวิจัยเหล่านี้ไปใช้เป็นแนวทาง และข้อเสนอแนะสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้านไอซีทีที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยทั้งในปัจจุบันจนถึงทศวรรษหน้า” นายอังสุมาล กล่าว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ ทวิติยา เบอร์โทรศัพท์ : 02 568 2453

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ