เนคเทคและไมโครซอฟท์ลงนาม “การร่วมวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์” มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ

ข่าวเทคโนโลยี Friday February 13, 2009 11:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน เนคเทคและไมโครซอฟท์ลงนาม “การร่วมวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์” มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ผนวกแนวคิดด้านการวิจัยและพัฒนาของเนคเทค และเทคโนโลยีชั้นนำของไมโครซอฟท์ พร้อมตอกย้ำความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศไทยในระยะยาว ศูนย์เทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (เนคเทค) และบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง “การร่วมวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์” เพื่อผลักดันการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ผ่านงานวิจัยและพัฒนาของเนคเทค ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ เพื่อพัฒนาสู่การใช้งานที่เปิดกว้าง ข้ามแพล็ตฟอร์ม ประเดิมด้วยโครงการวิจัย 4 โครงการ อันได้แก่โครงการเทคโนโลยีเพื่อคนพิการและผู้ด้อยโอกาสเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ โครงการ “ดิจิไทย” โครงการการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อการแก้ปัญหาจราจร และ โครงการการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการทดสอบระบบ เพื่อการทำงานร่วมกันระหว่างไมโครซอฟท์และแพลตฟอร์มอื่นๆและประยุกต์ใช้ในภาครัฐและเอกชน พร้อมขยายความร่วมมือสู่งานวิจัยอื่นๆ ในอนาคต ตอกย้ำศักยภาพการลงทุนด้านซอฟต์แวร์ของประเทศไทย สำหรับประเทศไทยแล้ว การลงทุนทางเทคโนโลยีและการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นต้นทุนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การสร้างงาน และปัจจัยอื่นๆ อันจะนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตาม การลงทุนทางเทคโนโลยีและการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาให้ประสบความสำเร็จโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเป็นเวลาที่ประเทศต่างๆ ต้องทำงานหนักในการคิดหามาตรการป้องกันและแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นความจำเป็นอันดับแรกในขณะนี้ ดังนั้น หากมีการผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน โดยนำความชำนาญที่มีอยู่มาเสริมกันและกัน ก็จะก่อให้เกิดการลงทุนทางเทคโนโลยีการสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริงและยั่งยืน ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า “เนคเทคในฐานะหน่วยงานของรัฐที่มีบทบาทและหน้าที่ ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและโครงสร้างพื้นฐาน มีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะขยายความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาไปยังหน่วงานภาครัฐและเอกชน จากเดิมที่เป็นความร่วมมือระหว่างคลัสเตอร์ภายในเนคเทค ทั้งนี้ เพื่อให้การวิจัยและพัฒนามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการนำไปใช้พัฒนาประเทศในด้านต่างๆ สำหรับความร่วมมือกับไมโครซอฟท์ในครั้งนี้ ที่ได้มีการนำเทคโนโลยีไมโครซอฟท์มาช่วยพัฒนาการวิจัยถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยผลักดันการพัฒนาประเทศด้วยไอที ทั้งโครงการในปัจจุบัน และในอนาคตต่อไป” ทั้งนี้ รายละเอียดความร่วมมือเรื่อง “การร่วมวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์” ระหว่างศูนย์เทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (เนคเทค) และบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ในระยะแรกจะมี 2 แนวทาง ได้แก่ - โครงการเทคโนโลยีเพื่อคนพิการและผู้ด้อยโอกาสเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ (Accessible technology) จะช่วยให้กลุ่มคนพิการหรือกลุ่มที่มีความบกพร่องทางร่างกาย สามารถใช้เพื่อปรับแต่งเครื่องคอมพิวเตอร์ของตนให้เหมาะสมกับข้อจำกัดต่างๆ อาทิเช่น ข้อบกพร่องด้านการมองเห็น การเคลื่อนไหวของมือ ด้านสติปัญญาและการออกเสียงและสนับสนุนให้ผู้ใช้มีปฏิสัมพันธ์กับเทคโนโลยีได้มากขึ้น ช่วยให้ผู้ใช้งานสร้างเนื้อหาบนเอกสารที่ผู้พิการทางสายตาและผู้ที่มีปัญหาทางการอ่านสามารถอ่านได้ รู้จักกันในชื่อ “Save as DAISY XML” ออกแบบมาสำหรับโปรแกรม Microsoft ? Office Word 2007 ให้ผู้ใช้สามารถแปลงรูปแบบเอกสารให้อยู่ในรูปแบบของ DAISY XML ตามมาตรฐานขององค์กรนานาชาติที่ชื่อ Digital Accessible Information System (DAISY) (www.daisy.org) เทคโนโลยีนี้เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดช่องว่างและทำให้กลุ่มคนพิการได้มีการเข้าถึงเทคโนโลยีได้เหมือนๆ กับบุคคลทั่วไป ปัจจุบันมีผู้ใช้คอมพิวเตอร์กว่าแสนคนในประเทศไทยที่มีโอกาสจะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีภายใต้ความร่วมมือนี้ - โครงการเทคโนโลยีสำหรับสารดิจิทัลประเทศไทย หรือ Digitized Thailand หรือ “ดิจิไทย” ภายใต้แนวคิดที่จะเตรียมความพร้อมนำสังคมไทยสู่โลกดิจิทัล และเพื่อเป็นการสร้างโอกาสด้านเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy) การแสดงความเป็นไทยในรูปแบบดิจิทัลต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงในการจัดเก็บข้อมูล การบันทึกการเคลื่อนไหว การวิเคราะห์และการนำเสนอ โดยอาศัยเครื่องมือสำหรับการปฏิสัมพันธ์ที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด เพื่อประโยชน์ต่อการถ่ายทอดภูมิปัญญาไทยอันทรงคุณค่าสู่คนรุ่นหลัง โดยผู้ชมงานสามารถสัมผัสและเข้าถึงข้อมูล อาทิเช่น ข้อมูลด้านภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทย ไม่ว่าจะเป็น ความรู้สมุนไพร จารึกบนใบลาน การละเล่นพื้นเมือง การร่ายรำตามแบบนาฏศิลป์ไทยโบราณ ท่าฤาษีดัดตน เป็นต้น โดยจะถูกนำมาอนุรักษ์ไว้ในรูปแบบดิจิทัล และใช้สร้างมูลค่าเพิ่มด้านการออกแบบเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมให้แก่ผลิตภัณฑ์และการบริการ ในระยะที่ 2 จะเป็นความร่วมมือด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อแก้ปัญหาจราจรและการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการทดสอบระบบ การพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการทดสอบระบบเพื่อการทำงานร่วมกันระหว่างไมโครซอฟท์และแพลตฟอร์มอื่นๆและประยุกต์ใช้ในภาครัฐและเอกชนร่วมกัน นางสาวปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ไมโครซอฟท์มุ่งเน้นการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน คู่ค้า ภาคธุรกิจต่างๆ ภาคการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGO เพื่อให้เข้าใจความต้องการที่ต่างกันของภาคส่วนต่างๆ อีกทั้งนำจุดเด่นมาเสริมซึ่งกันและกัน สอดคล้องกับแนวทางการทำธุรกิจของไมโครซอฟท์ที่มุ่งเติบโตไปพร้อมๆ กับคู่ค้า ลูกค้า และสังคม สำหรับการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ นั้นถือเป็นพันธกิจหลักที่ไมโครซอฟท์ดำเนินการอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการต่างๆ ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทยและทรัพยากรในประเทศ โดยในแง่ของเทคโนโลยีนั้น ไมโครซอฟท์มุ่งเน้นเรื่องของความสามารถในการทำงานร่วมกัน (Interoperability) ของเทคโนโลยีที่แตกต่าง ซึ่งการทำงานร่วมกันจะเสริมให้เกิดการพัฒนาใหม่ๆ ที่ไม่มีข้อจำกัด สำหรับความร่วมมือเรื่อง “การวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์” กับเนคเทคในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวิจัย กับความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ ที่จะมาเสริมซึ่งกันและกัน และจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศด้วยงานวิจัยที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริงต่อไป” คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างเนคเทค และไมโครซอฟท์ ในวันนี้มีความสำคัญต่อประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของซอฟต์แวร์เพื่อผู้พิการและด้อยโอกาส ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะให้ทุกภาคส่วนในสังคมของประเทศนี้ได้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ในเชิงสังคมเท่านั้น แต่เชื่อว่า จะก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจด้วย โดยเน้นที่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ กล่าวคือ แม้ว่าสถาบันต่างๆ ที่ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์วิจัยภาวะอุตสาหกรรมทั้งในระดับโลกและระดับประเทศในปี 2552 นี้ ได้มีการประเมินวิเคราะห์เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ตลาดไอที ซึ่งหมายรวมถึงตลาดซอฟต์แวร์ด้วย จะมีอัตราการเติบโตลดลง อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ทุกฝ่ายต่างพยายามที่จะปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เป็นวิกฤติเช่นนี้ แต่วันนี้เรากลับมีโอกาสดีในการที่จะสร้างความแข็งแกร่ง และนวัตกรรมทางด้านซอฟต์แวร์เพื่อรองรับอนาคต โดยอาศัยความเชี่ยวชาญหลักของทั้งสององค์กร โดยการสร้างสรรค์เทคโนโลยีร่วมกัน” ความร่วมมือครั้งนี้ระหว่างศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (เนคเทค) และบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด นอกจากจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศแล้ว ยังนับเป็นการสร้างความเชื่อมั่นทางด้านการลงทุนของประเทศด้วยเช่นกัน ข้อมูลเกี่ยวกับไมโครซอฟท์ บริษัท ไมโครซอฟท์ (Nasdaq “MSFT”) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2518 เป็นผู้นำระดับโลกด้านบริการซอฟต์แวร์ และโซลูชั่นที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของผู้ใช้และองค์กรธุรกิจ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2536 บริษัทฯ เสนอซอฟต์แวร์ชั้นนำระดับโลกที่ใช้งานง่ายและเหมาะกับความต้องการของผู้ใช้คนไทย ตลอดจนแพลตฟอร์มที่ช่วยให้องค์กรธุรกิจพัฒนาโซลูชั่นที่ตรงตามความต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถรองรับได้ตั้งแต่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คไปจนถึงเครื่องขนาดใหญ่ระดับเมนเฟรม เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวของจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในประเทศไทย หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ของไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) http://www.microsoft.com/thailand. ไมโครซอฟท์เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของ ไมโครซอฟท์ คอร์ป ประเทศสหรัฐอเมริกา และ/หรือ ประเทศอื่นๆ ชื่อบริษัทและผลิตภัณฑ์ที่มีการกล่าวถึงในเอกสารชุดนี้อาจจะเป็นเครื่องหมายการค้าของเจ้าของนั้นๆ หมายเหตุ: หากท่านต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไมโครซอฟท์ สามารถดูได้ที่ http://www.microsoft.com/presspass/ ในส่วนของหน้าข้อมูลบริษัท ข้อมูลเกี่ยวกับเนคเทค ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (National Electronics and Computer Technology Center : NECTEC หรือเนคเทค) ก่อตั้งขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2529 ทำหน้าที่เป็นองค์กรหลักของประเทศไทยในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้านี้เนคเทคตั้งเป้าหมายความท้าทายในการนำผลการวิจัยและพัฒนาไปสู่การพัฒนาประเทศ เพื่อการผลักดันเอาผลงานการวิจัยและพัฒนาที่ดำเนินการอยู่ออกไปสู่การใช้ประโยชน์ที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะในอุตสาหรรม ซอฟต์แวร์ ไมโครชิป และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นแผนการดำเนินงานในระยะปานกลาง (3-5 ปี) ที่จะต้องให้ความสำคัญกับการทำงานแบบบูรณาการ ด้วยการสร้างพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมมือกันใน Flagship Projects ตั้งแต่ต้นจนไปสู่การใช้งานได้ ในปัจจุบัน เนคเทคได้กำหนด Flagship Projects ไว้ 3 ด้าน คือ 1) Digitized Thailand แนวคิดหลักคือ การนำประเทศไปสู่ Creative Economy ที่เน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการจัดเก็บ วิเคราะห์และนำเสนอสาระดิจิทัลที่นำจุดแข็งด้านภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมมาสร้างเป็นอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ (creative industry) และส่งเสริมการอนุรักษ์เพื่อความยั่งยืนของประเทศ 2) Smart Farm แนวคิดหลักคือ From Farmer to Market - - เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ยกระดับมาตรฐานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยการใช้เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ สารสนเทศ และการสื่อสาร เข้าไปพัฒนา Value Chain ของกระบวนการทางการเกษตร ตั้งแต่การผลิตในระดับไร่นาไปจนถึงตลาดและผู้บริโภค 3) Smart Health แนวคิดหลักคือ การสร้างสุขภาพดีถ้วนหน้า ประกันคุณภาพของการบริการที่ทั่วถึง มุ่งสู่การรักษาเชิงป้องกัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: คุณศุภาดา ชัยวงษ์ ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน ประเทศไทย โทรศัพท์: 0-2627-3501 ต่อ 209 โทรสาร: 0-2627-3510 Email: sjaidee@th.hillandknowlton.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ