กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--กทม.
นางสาวอมรรัตน์ กฤตยานวัช ผู้อำนวยการเขตหลักสี่ กทม. เปิดเผยว่า สำนักงานเขตหลักสี่กำหนดจัดประชุมโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการคัดแยก และ “กิจกรรมเจ็ดแยกที่หลักสี่ มีกินมีใช้ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐ-ภาคเอกชนในพื้นที่เขตหลักสี่ ได้แก่ โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 6 โรงเรียน โรงเรียนเอกชน 13 โรงเรียน หน่วยงานราชการ 20 หน่วยงาน มูลนิธิ 1 แห่ง หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง และมหาวิยาลัย 1 แห่ง รวมหน่วยงานทั้งสิ้น 44 หน่วยงาน เข้าร่วมประชุมรับฟัง การชี้แจงถึงวัตถุประสงค์โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการคัดแยก และแนวทางการดำเนินงานกิจกรรมเจ็ดแยกที่หลักสี่ มีกินมีใช้ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมทั้งรับความรู้ในเรื่องการคัดแยกมูลฝอย ตลอดจน การดำเนินกิจกรรมการคัดแยกมูลฝอยของสำนักงานเขตหลักสี่ เพื่อให้แต่ละหน่วยงานสามารถนำไปดำเนินการหรือนำไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงานของตนเอง ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินการบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะช่วยลดปริมาณมูลฝอยที่กรุงเทพมหานครต้องเก็บขนและนำไปทำลาย รวมทั้งเป็นการช่วยกันดูแลรักษาสภาพแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อนอันเนื่องมาจาก การทำลายมูลฝอย และเป็นการร่วมกันสร้างกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี ให้แก่ประชาชนชาวหลักสี่ นอกจากนี้ มูลฝอยรีไซเคิลที่หน่วยงานคัดแยกสามารถนำไปจำหน่ายสร้างรายได้ให้แก่หน่วยงานอีกด้วย
สำหรับการคัดแยกมูลฝอยของสำนักงานเขตหลักสี่แบ่งเป็น 7 ประเภท ได้แก่ มูลฝอยเศษอาหาร มูลฝอยอันตราย และมูลฝอยรีไซเคิล ประกอบด้วย กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะ และกล่องนม ทั้งนี้สำนักงานเขตหลักสี่ได้เริ่มกิจกรรมคัดแยกขยะมาตั้งแต่เดือน พ.ย. 50 โดยให้แต่ละฝ่ายคัดแยกมูลฝอย ได้แก่ กระดาษขาว-ดำ กระดาษสี หนังสือพิมพ์ กล่องกระดาษ พลาสติกใส พลาสติก ขวดแก้ว โลหะ และขยะพิษ เ โดยให้ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ประสานเครือข่ายออมทรัพย์หลักสี่-ดอนเมืองมารับซื้อขยะรีไซเคิล ซึ่งมียอดรวมขยะที่สามารถคัดแยกและจำหน่ายได้ถึงเดือน ธ.ค. 51 ประมาณ 3008 กิโลกรัมเศษ สามารถสร้างมีรายได้จากการขายขยะดังกล่าวได้เป็นเงินทั้งสิ้น 11374.50 บาท และในโอกาสนี้สำนักงานเขตหลักสี่ได้จัดสรร ถังรองรับมูลฝอยขนาดความจุ 60 ลิตร สนับสนุนให้แก่หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการ นำไปใช้ในกิจกรรมคัดแยกมูลฝอย
นางสาวอมรรัตน์ กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากนี้สำนักงานเขตหลักสี่จะขยายโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการคัดแยกไปยังชุมชนต่างๆ ในพื้นที่เขตหลักสี่ โดยในเย็นวันเดียวกันนี้ตนพร้อมด้วยผู้บริหาร เขตหลักสี่จะเปิดศูนย์คัดแยกขยะรีไซเคิลของชุมชนหมู่บ้าน กฟภ.นิวเวศน์ 2 เพื่อเป็นต้นแบบการจัดการมูลฝอย และนำรูปแบบและผลการดำเนินงานศูนย์คัดแยกขยะรีไซเคิลของชุมชนหมู่บ้าน กฟภ.นิวเวศน์ 2 ไปพัฒนาปรับปรุงเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานในชุมชนต่างๆ ต่อไป