กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การส่งออกสินค้าอาหารและเกษตรของไทยที่ผ่านมา พบว่า ปัจจุบันการส่งออกผลไม้ของไทยยังคงประสบปัญหาเกี่ยวกับ กฎระเบียบ/มาตรการการนำเข้าของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยโดยเฉพาะผลไม้ที่ส่งออกไปยังประเทศจีน ถึงแม้จะมีการเปิดเสรีทางการค้าผลไม้ระหว่างกันภายใต้ FTA อาเซียน-จีนแล้วก็ตาม ประกอบกับตลาดจีนเป็นตลาดส่งออกผลไม้สดและแห้ง ลำดับที่ 1 ของไทย มีมูลค่าการส่งออก ปี 2551 มูลค่า 4,941.57 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 36 ของมูลค่าการส่งออกผลไม้สดและแห้งทั้งหมดของไทย
ด้วยเหตุที่การส่งออกผลไม้ของไทยมีความสำคัญดังกล่าว กรมฯ จึงได้กำหนดจัดสัมมนา เรื่อง “รู้ระเบียบ เพิ่มโอกาส ผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดจีน” ในวันพุธที่ 11 มีนาคม 2552 ณ โรงแรม อโนมา กรุงเทพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบมาตรการการนำเข้าผลไม้ของจีนให้กับผู้ผลิต ผู้ส่งออกผลไม้ของไทยและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น รวมทั้งเตรียมความพร้อมให้กับผู้ที่สนใจจะเริ่มธุรกิจการส่งออกผลไม้ไปตลาดจีน เช่น กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ เป็นต้น ตลอดจนเพื่อให้ผู้ส่งออกและผู้ที่สนใจได้รับทราบปัญหา อุปสรรคในการส่งออกผลไม้ไปจีน รวมทั้งแนวทางการพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดจีน อันจะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ส่งออก ในการส่งออกสินค้าผลไม้ของไทยไปจีนให้มากขึ้น
การสัมมนาครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากได้เชิญวิทยากร จากหน่วยงานของจีน (Administration for Quality Supervision, Inspection and Quarantine: AQSIQ) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎระเบียบ/มาตรการการนำเข้า และขั้นตอนการผ่านด่านศุลกากรของจีนโดยตรง รวมทั้งการถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ เกี่ยวกับการนำเข้าผลไม้ของจีน และวิทยากรของไทยที่มีประสบการณ์การส่งออกผลไม้ไปยังประเทศจีนมาบรรยายให้แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาด้วย
ทั้งนี้ หากผู้ผลิต ผู้ส่งออก และผู้สนใจประสงค์จะเข้าร่วมสัมมนาในวันดังกล่าวสามารถดาวน์โหลดกำหนดการและแบบฟอร์มเพื่อสมัครเข้าร่วมสัมมนาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการสัมมนาตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ได้ที่ www.dft.go.th โดยขอให้ส่งโทรสารกลับมายังสำนักมาตรการทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ ภายในวันที่ 3 มีนาคม 2552 หมายเลขโทรสาร 0-2547-4736 และขอทราบข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางหมายเลขโทรศัพท์ 0-2547-5096 หรือสายด่วน 1385