การบินไทยเปิดจุดบินใหม่สู่เมืองพุทธคยา และพาราณสี ประเทศอินเดีย

ข่าวท่องเที่ยว Thursday October 26, 2006 12:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--การบินไทย
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดจุดบินใหม่สู่เมืองพุทธคยา และพาราณสี ประเทศอินเดีย สถานที่ตั้ง สังเวชนียสถาน 2 ใน 4 แห่ง ที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ เพื่อรองรับจำนวนพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางเข้าไปสักการะ และเดินทางในเส้นทางตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าในประเทศอินเดีย โดยจะเริ่มทำการบินตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2549 - 24 มีนาคม 2550 เป็นต้นไป
เรืออากาศโท อภินันทน์ สุมนะเศรณี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน ) เปิดเผยว่า บริษัทฯ จะเปิดทำการบินสู่เมืองสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ เมืองพุทธคยา และ เมืองพาราณสี ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และนับเป็นเมืองที่ตั้ง 2 ใน 4 สังเวชนียสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ สถานที่ตรัสรู้ และสถานที่แสดงปฐมเทศนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้า โดยจะเริ่มทำการบินในตารางการบินภาคฤดูหนาว ปี 2549/2550 นี้ ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2549 — 24 มีนาคม 2550 ในเส้นทาง กรุงเทพฯ — พุทธคยา — พาราณสี — กรุงเทพฯ ด้วยเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-400 ทั้งนี้เพื่อรองรับจำนวนพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางเข้าสักการะและเยี่ยมชมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า สังเวชนียสถาน 4 ได้แก่ สถานที่ประสูติ (เมืองกบิลพัสดุ์) ตรัสรู้ (เมืองพุทธคยา) แสดงปฐมเทศนา (สารนาถ,เมืองพาราณสี) และปรินิพพาน (เมืองกุสินารา) ของพระพุทธเจ้า ซึ่งสถานที่ทั้งหมดนี้พุทธศาสนิกชนควรเดินทางไปกราบนมัสการเป็นอย่างยิ่ง
นายวัลลภ พุกกะณะสุต รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปิดเที่ยวบินของการบินไทยไปยังเมืองพุทธคยาและพาราณสีในครั้งนี้ จะเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการของการบินไทยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเมืองดังกล่าวเป็นหนึ่งในเส้นทางตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า อีกทั้งยังเป็นการอำนวยความสะดวกและลดระยะเวลาการเดินทางซึ่งจากเดิมการเดินทางระหว่างเมืองพุทธคยาและพาราณสี ใช้เวลา 8-12 ชั่วโมง (ทางรถยนต์)ทั้งที่อยู่ห่างกันเพียง 250 กิโลเมตรแต่ถ้าเดินทางโดยเครื่องบินจะใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันมีเพียงไม่กี่สายการบินที่ทำการบินไปยังเมืองพุทธคยาและพาราณสี ซึ่งลูกค้ากลุ่มเป้าหมายประกอบชาวเอเชีย อาทิ ชาวไทย ชาวไต้หวัน ชาวจีน รวมถึงพุทธศาสนิกชนจากประเทศต่างๆ
ทั้งนี้ การบินไทยจะทำการบินเส้นทาง กรุงเทพฯ — พุทธคยา —พาราณสี — กรุงเทพฯ สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน ทุกวันจันทร์ พุธ และเสาร์ ด้วยเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-400 โดยมีตารางการบินดังนี้
เที่ยวบินที่ เส้นทาง ไป-กลับ ออกเดินทาง เดินทางถึง
ทีจี 8820 กรุงเทพฯ - พุทธคยา 10.25 น. 12.15 น. (เวลาท้องถิ่น)
ทีจี 8821 พุทธคยา - พาราณสี 13.00 น. (เวลาท้องถิ่น) 13.50 น. (เวลาท้องถิ่น)
ทีจี 8821 พาราณสี - กรุงเทพฯ 14.45 น. (เวลาท้องถิ่น) 19.30 น.
เมืองพุทธคยา หรือ คยา ตั้งอยู่ในรัฐพิหาร ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย เป็นสถานที่ตั้งสังเวชนียสถานแห่งที่ 2 คือ เป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เดิมทีเดียวในสมัยพุทธกาลนั้น คือตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมืองคยา แคว้นมคธ ซึ่งมีเมืองราชคฤห์ เป็นเมืองหลวง ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้นี้เรียก ตำบลพุทธคยา ขึ้นอยู่กับจังหวัดคยา (ห่างจากจังหวัดคยา ๑๒ กิโลเมตร) รัฐพิหาร มีเมืองหลวงชื่อ ปัฎนะ หรือ ปัฎนา (หรือชื่อเดิมว่า ปาฎลีบุตร) สถานที่ที่น่าสนใจ ได้แก่ องค์พระมหาเจดีย์พุทธคยา พระวิหารสูง 170 ฟุต มีลักษณะคล้ายปิรามิดปลายตัด ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปกะไหล่ทอง ปางมารวิชัย สัญลักษณ์แห่งการเอาชนะหมู่มาร ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งมีขนาดใหญ่ขนาด 3-4 คนโอบ กล่าวกันว่าพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใต้ต้นไม้นี้ พระแท่นวัชรอาสน์ตำแหน่งที่พระพุทธเจ้าทรงประทับขณะบรรลุธรรมขั้นสูงสุด อาสนะแห่งนี้เป็นหินสกัดที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงโปรดให้สร้างเป็นพุทธบูชา ชมสระโบกธรณี เสาหินของพระเจ้าอโศกมหาราช และเส้นทางริมแม่น้ำเนรัญชลา ที่ซึ่งนางสุชาดาได้ถวายข้าวมธุปายาส และพระพุทธเจ้าได้ทรงลอยถาดทองอธิษฐานจิต
เมืองพาราณสี ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของประเทศอินเดีย เป็นสถานที่ตั้ง สังเวชนียสถานแห่งที่ 3 คือ สถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระปฐมเทศนาครั้งแรก ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันใกล้เมืองพาราณสี ปัจจุบันเรียกว่า สารนาถ ห่างจากเมืองประมาณ 8 กิโลเมตร ซึ่งเมืองพาราณสีนี้อยู่ห่างจากเมืองพุทธคยา สถานที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 250 กิโลเมตร สถานที่ที่น่าสนใจ ได้แก่ ธัมเมกขสถูป สูง ๑๕๐ ฟุต เป็นสถานที่ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถให้พระอรหันต์ ๖๐ รูป ออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก เสาหินศิลาจารึกของพระเจ้าอโศก ส่วนหัวของเสาหินซึ่งเป็นรูปราชสีห์ รูปสิงห์จากหัวเสาพระเจ้าอโศกนี้ ภายหลังรัฐบาลอินเดีย ได้นำไปเป็นต้นแบบตราแผ่นดินและใช้มาจนปัจจุบัน มูลคันธกุฎี กุฎิแห่งแรกที่พระองค์จำพรรษาเป็นพรรษาแรก หลังจากตรัสรู้ วิหารอนาคาริก และเจาคันธีสถูป สถานที่พระพุทธองค์ทรงพบปัญจวัคคีย์ก่อนที่จะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าและสำเร็จเป็นพระอรหันต์
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติประจำเมืองสารนาถ เป็นที่รวมชิ้นงานประวัติศาสตร์อันเกี่ยวกับพุทธศาสนาในช่วงต่างๆ อาทิ หินสลักรูปธรรมจักรกับกวางหมอบเหลียวหลัง สิ่งแทนพระธรรมเทศนาครั้งแรก อันหมายถึงกงล้อพระธรรมที่จะหมุนไปไม่สิ้นสุด เพื่อขจัดอวิชชาหรือความไม่รู้ในมนุษย์ ส่วนกวางนั้นบอกเล่าถึงสถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่อยู่ของมฤคะ คือ ฝูงกวางในป่าอิสิปตนะ ธรรมจักรยังเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ และกรมการศาสนาในอดีตพระพุทธรูปหินทรายปางสารนาถ หรือปางเทศนา ประติมากรรมชั้นเยี่ยมของอินเดีย ทั้งลีลาและอารมณ์แห่งพระพักตร์ และเส้นสายของนิ้วโป้งที่แตะนิ้วกลางเพื่อสื่อนัยยะแห่งทางสายกลาง ข้อธรรมที่ทรงแสดงเป็นปฐมเทศนา การล่องเรือชมแม่น้ำคงคา แม่น้ำอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู สถานที่ที่มีพิธีการการอาบน้ำล้างบาป บูชาพระอาทิตย์ และการเผาศพริมฝั่งแม่น้ำคงคาที่กว่า 3,000 ปี ไฟไม่เคยดับ
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
Jiraprapa Bundhuwong (KAY)
Media Relations & Corporate News Division,
Corporate Communications Department,
Thai Airways Public Company Limited
Tel: 662-545-2779
Fax: 662-545-3891

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ