กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--ก.พ.ค.
ก.พ.ค. เผยกรอบการทำงานเพื่อปกป้องระบบพิทักษ์คุณธรรมภาคราชการ เตรียมจับมือองค์กรอิสระ เพื่อดูแลให้ความเป็นธรรมแก่ข้าราชการในเรื่องอุทธรณ์และร้องทุกข์ พร้อมขจัดกฎระเบียบที่ไม่เป็นธรรม
นางจรวยพร ธรณินทร์ กรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ในฐานะโฆษก ก.พ.ค. กล่าวว่า ภายหลังมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการ ก.พ.ค. ระหว่างนี้ทางคณะกรรมการฯ จึงอยู่ระหว่างเร่งจัดทำยุทธศาสตร์และกรอบการทำงานตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี รวมถึงแนวทางปฏิบัติงานในปี 2552 ซึ่งจากการระดมสมองร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ รองประธานศาลปกครองสูงสุด ดร.ฤทัย หงส์ศิริ อธิบดีศาลปกครองขั้นต้น และนางผาณิต นิติฑัณฑ์ประภาศ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ประชุมเห็นควรให้ ก.พ.ค. เน้นการทำงานเชิงรุก
นอกจากนี้ ให้ประสานการทำงานร่วมกับองค์กรกลางบริหารงานบุคคลภาครัฐอีก 13 องค์กร และองค์กรอิสระ อาทิ ศาลปกครอง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เพื่อให้การพิจารณาวินิจฉัยเรื่องอุทธรณ์ร้องทุกข์ที่ส่งไปยัง ก.พ.ค. อย่างเป็นธรรม ทั้งนี้ สืบเนื่องจากมาตรา 115 และมาตรา 124 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ได้วางกลไกที่สำคัญให้ ก.พ.ค.เป็นผู้ทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัย และ สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยเพื่อทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ตลอดจนคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์
ขณะเดียวกัน จากการที่มาตรา 126 บัญญัติให้ ในกรณีที่ ก.พ.ค.เห็นว่ากฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใดที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้และมุ่งหมายให้ใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่สอดคล้อง กับระบบคุณธรรมตามมาตรา 42 ให้ ก.พ.ค. แจ้งให้หน่วยงานหรือผู้ออกกฎ ระเบียบ หรือคำสั่งดังกล่าวทราบเพื่อดำเนินการแก้ไข หรือยกเลิกตามควรแก่กรณี เรื่องดังกล่าวยังเป็นไปในแนวทางเดียวกับความเห็นของที่ประชุม ซึ่งมองว่าควรวางระบบคุ้มครองคุณธรรมในระบบราชการ เพื่อตรวจสอบกฎระเบียบที่ไม่เป็นธรรมที่มาจากฝ่ายการเมืองหรือในวงราชการกันเองว่ายังคงมีอยู่หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางในการสนับสนุนข้าราชการที่ทำดี
“ในการหารือกับผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อกำหนดกรอบการทำงานของ ก.พ.ค. เห็นควรให้เร่งกำหนดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของ ก.พ.ค. เพื่อให้เป็นองค์กรหลักในการวางระบบพิทักษ์ระบบคุณธรรม โดยเน้นสร้างความตระหนักให้เกิดระบบคุณธรรมโดยทั่วกัน นอกจากนี้ยังให้สร้างตราสัญลักษณ์ คำขวัญของ ก.พ.ค. ภายใต้หลักการ “ยุติธรรม เป็นธรรม และรวดเร็ว” เนื่องจาก ก.พ.ค. เป็นองค์กรใหม่ จึงควรประชาสัมพันธ์ให้ข้าราชการและประชาชนได้เข้าใจ ถึงบทบาทหน้าที่” โฆษก ก.พ.ค. กล่าว
โฆษก ก.พ.ค. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ ก.พ.ค. ได้รับเรื่องร้องทุกข์ของ นายพีรพล ไตรทศาวิทย์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย กรณีระบุว่าถูกโยกย้ายโดยไม่เป็นธรรมแล้ว โดยรับไว้ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งขั้นตอนการพิจารณานั้น ก.พ.ค. จะแต่งตั้งกรรมการเจ้าของสำนวน จากนั้นจะสั่งให้คู่กรณีจัดส่งคำแก้คำร้องทุกข์ พร้อมเอกสารหลักฐานมายัง ก.พ.ค. ซึ่ง ก.พ.ค. เจ้าของสำนวนอาจแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้อีกหากข้อมูลไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2551 ที่มีการยกเลิกระบบซีและส่งผลให้เรื่องอุทธรณ์ ร้องทุกข์ของข้าราชการพลเรือน อยู่ในวินิจฉัยของ ก.พ.ค. พบว่า จนถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 มีเรื่องอุทธรณ์ร้องทุกข์ที่ส่งถึง ก.พ.ค.แล้ว จำนวน 59 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องอุทธรณ์ที่ ก.พ.ค.สามารถรับไว้พิจารณา 7 เรื่อง และเรื่องร้องทุกข์ที่ ก.พ.ค. สามารถรับไว้พิจารณา 7 เรื่อง นอกจากนี้ มีเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของ ก.พ.ค. ได้แก่ เรื่องร้องทุกข์ที่ส่งผิดที่ 27 เรื่อง บัตรสนเท่ห์ 4 เรื่อง รวมทั้งมีเรื่องที่อยู่ระหว่างทำบันทึกเสนอประธาน ก.พ.ค. เพื่อพิจารณาสั่งการอีกจำนวน 14 เรื่อง โดยแบ่งเป็น เรื่องอุทธรณ์ 2 เรื่อง และเรื่องร้องทุกข์ 12 เรื่อง
สอบถามเพิ่มเติมติดต่อเบอร์โทรศัพท์ : 080-447-1362