กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
...จะดีแค่ไหนเมื่อ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เพียงทฤษฏีที่ปฏิบัติยากอีกต่อไป โดยเฉพาะในภาคการศึกษา ที่วันนี้ทั้งครูสามารถบูรณาการเข้าไปเนียนอยู่กับการเรียนการสอน และนักเรียนเองก็ซึมซับเข้าไปในหัวจิตหัวใจ กระทั่งสามารถนำทั้งความรู้ที่ได้จากการประสิทธิประสาทวิชาจากครูและทฤษฏีความพอเพียงผสมกลมกลืนเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น กลายเป็นนวัตกรรมใหม่ อาชีพใหม่ ที่สร้างรายได้และความรู้อยู่บนความพอเพียงได้อย่างเหมาะเจาะ...
ดังเช่นชีวิตของ “ประสิทธิ สำนักเอี่ยว” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนห้วยยอด จ.ตรัง แม้ปัจจุบันเขาจะป่วยเป็นโรคธารัสซีเมีย แต่ใจที่สู้มาตลอดทำให้ “ประสิทธิ” ไม่เคยรู้สึกท้อแท้เลยแถมยังชอบที่จะสร้างรอยยิ้มให้เพื่อนๆและผู้คนรอบข้างเสมอ และเขาคนนี้แหละที่สามารถทั้งเชิดทั้งพากษ์หนังตะลุงได้ถึง 5 ตัวในเวลาเดียวกัน แถมยังสามารถพากษ์ตัวละครในหนังตะลุงได้ถึง 50 ตัว แกะหนังตะลุงได้เองตั้งแต่อยู่ม.2 ยังไม่นับรวม ร็องเง็ง ลิเกป่า ลิเกฮูลู ที่เขาสามารถร้องและรำได้ทั้งพากษ์ภาษาถิ่นใต้และภาษาอังกฤษ จึงเป็น “หนังตะลุงพอเพียง” ซึ่งกำลังเป็นที่กล่าวขานกันในวงการสถานศึกษา
จุดเริ่มต้นของ “หนังตะลุงพอเพียง” ของ “ประสิทธิ” เกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน เมื่อเขาได้มีโอกาสติดตามพ่อไปดูหนังตะลุง จึงเกิดความประทับใจ เขาบอกว่าการเรียนรู้แสดงหนังตะลุงของตนนั้นเป็นแบบ ครูพักลักจำ บวกกับประสบการณ์ของตนเองมักจะตามไปดูการแสดงหนังตะลุงทุกครั้งที่มีการแสดงมาละแวกบ้าน
“ผมเริ่มสนใจหนังตะลุงจริงๆ ตอนอยู่ ม.1 พ่อซื้อวีซีดีให้ เพราะผมอยากดู ประกอบกับช่วงนั้นโรงเรียนมีกิจกรรมให้นักเรียนขึ้นไปแสดงศิลปะพื้นบ้านอะไรก็ได้ ผมก็เลยตัดกระดาษเป็นหนังตะลุงแล้วพากษ์เล่นๆ ก็ได้รับความสนใจจากครูและเพื่อนๆ มาก พอขึ้น ม.2 ก็สนใจ และฝึกจริงจังมากขึ้น ตอนนั้นผมตอกลายตัวหนังตะลุงได้หมด กลองชุด ดนตรีหนังตะลุงก็เล่นได้ ทั้งฆ้อง โหม่ง ฉิ่ง กรับ ก็เล่นได้หมด” ประสิทธิ กล่าว
....เมื่อ “ประสิทธิ” คิดว่าตนเองพอจะมีทักษะเรื่องหนังตะลุงอยู่บ้าง จึงไปฝากเนื้อฝากตัวกับคณะหนังตะลุงของอาจารย์ณรงค์ ตะลุงบัณฑิต ไม่ว่าใครที่ไหนจ้างไปเล่นเขาไปหมด แต่ละเดือนเขารับงานไม่ต่ำกว่า 7 งาน หากไม่ใช่ช่วงฤดูฝน แต่ละงานมีรายได้ตั้งแต่ 5,000-8,000 บาท ส่วนตัวเขาเองหากร่วมเล่นกับคณะหนังใหญ่ก็จะได้ส่วนแบ่งประมาณ 2,000 บาทต่อคืนนอกจากจะเล่นให้คนไทยได้ดื่มด่ำกับวัฒนธรรมเก่าแก่ของชาวใต้แล้ว “ประสิทธิ” ยังรับงานทอลค์โชว์ลิเกป่า ภาคภาษาอังกฤษแบบเดี่ยวๆ ให้ฝรั่งต่างชาติได้ชมอีกด้วย
ในส่วนที่หนังตะลุงมาบูรณาการร่วมกับ ความพอเพียง จนกลายเป็น “หนังตะลุงพอเพียง” ของ “ประสิทธิ” ก็มีที่มาจากการบ่มเพาะจากครูในโรงเรียนห้วยยอด ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียน “เครือข่ายเรียนรู้สู่ความพอเพียง” 66 แห่งตามโครงการเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาและชุมชน ดำเนินการโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) และได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ซึ่งโรงเรียนห้วยยอดไม่เพียงจะน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาบูรณาการในการเรียนการสอนและลงมือปฏิบัติจริงตามแนวทางดังกล่าวได้เท่านั้น แต่ยังสามารถปลูกฝังหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตวัฒนธรรมของเยาวชนได้อย่างกลมกลืนทั้งวิชาสาระ และวิชาชีวิต ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และน้อมนำไปปฏิบัติได้จริง แม้แต่ในกระบวนวิชาภาษาอังกฤษที่ไม่คาดคิดเลยว่าจะบูรณาการแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปสู่การเรียนการสอนได้ อีกทั้งครูผู้สอนกลับสร้างสรรค์และสอดแทรกเข้าไปในการสอนได้อย่างสนุกสนาน
“ประสิทธิ” บอกว่า เขาโชคดีที่มีครูดีอย่าง “อาจารย์จรูญ แก้วละเอียด” อาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษ โรงเรียนห้วยยอดอีกทั้งยังมีดีกรีเป็นศิลปินประจำจังหวัดสาขาการละเล่นพื้นบ้าน สิ่งที่เขาได้เรียนรู้จาก อาจารย์จรูญในด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นใต้ มีทั้งลิเกป่า ลิเกฮูลู และที่สำคัญ “ภาษาอังกฤษ” ที่วันนี้เขาเชี่ยวชาญในระดับหนึ่งกระทั่งสามารถสื่อสารศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ดังกล่าวให้ชาวต่างชาติได้เข้าใจ
ทั้งนี้อาจารย์จรูญ กล่าวว่า โดยปกติแล้วการสอนวิชาภาษาอังกฤษของตนจะใช้ “บทเพลง” เป็นเครื่องมือซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการจดจำและเกิดความสนุกสนาน เริ่มต้นจากการยึดหลักสูตรเป็นสำคัญ แต่เนื้อหาที่นำมาสอนอาจารย์จะเน้นเรื่องใกล้ตัวของผู้เรียนเป็นเนื้อหาที่เขามีส่วนร่วมและเข้าใจได้ง่าย โดยอาจารย์จะแต่งเพลงพื้นบ้านขึ้นมาโดยจงใจที่จะให้มีวงศัพท์ และการเชื่อมประโยคซึ่งตรงกับบทเรียนที่นักเรียนต้องเรียน แต่ละบทอาจารย์จะใช้เวลาประมาณ 2 คาบเรียน คาบแรกอาจารย์จะสอนคำศัพท์ทั้งหมดที่อยู่ในกลุ่มคำศัพท์เดียวกัน ที่สำคัญคำศัพท์ทุกคำจะมีอยู่ในเนื้อเพลง (แต่ยังไม่บอกเด็กว่าคาบต่อไปจะสอนร้องเพลง) เมื่อนักเรียนรู้คำศัพท์ทั้งหมดแล้ว คาบต่อไปนักเรียนก็จะได้เรียนรู้เรื่องการเชื่อมคำให้เป็นประโยคตามหลักไวยากรณ์ เมื่อนักเรียนทราบถึงความหมายของคำศัพท์แล้วก็สามารถร้องเพลงได้คล่องอย่างเข้าใจและได้เรียนรู้ตามหลักสูตรไปพร้อมๆ กัน
ในการสอนอาจารย์จรูญ ไม่เพียงสอนภาษาอังกฤษให้นักเรียนเท่านั้น แต่ยังสอนเรื่องความขยัน อดทน แบ่งปัน ซี่อสัตย์ ที่สอดแทรกอยู่ในเนื้อหาเพลงรวมถึงสอนศิลปวัฒนธรรมการแสดงให้ด้วยทั้ง ลิเกป่า ลิเกฮูลู ดนตรีพื้นบ้าน กลอง ฉิ่ง ฉับ กรับ โหม่ง เพราะเวลานักเรียนมาทดสอบความสามารถหน้าชั้นจะต้องทั้งร้องเพลงของอาจารย์เป็นภาษาอังกฤษได้พร้อมๆ กับเล่นดนตรีเป็นหมู่คณะแล้วแต่ใครจะชอบแบบไหน อย่างไรก็ตามในช่วง 4 ปีหลังโรงเรียนน้อมนำแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาบูรณาการในการเรียนการสอนอาจารย์จึงเริ่มเปลี่ยนเนื้อหาเพลงและคำศัพท์ที่เป็นการเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น แต่เด็กๆ ยังคงสนุกและร้องเพลงภาษาถิ่นเป็นภาษาอังกฤษเหมือนเดิม
ในแง่ของความสำเร็จจากการบูรณาการแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าสู่สาระวิชานั้นรับรองได้ว่า ไม่ใช่เพียงการท่องจำกันไปวันๆ แน่นอน เพราะจากคำบอกเล่าของ “ประสิทธิ” พบว่าจากการร้อง รำ ร่ำเรียนแบบบูรณาการเช่นนี้ทำให้เขาซึมซับเข้ามาใช้ในวิถีชีวิตของตนเองโดยไม่รู้ตัว
“...เมื่อก่อนผมเป็นคนที่ใช้เงินเก่ง ไม่ค่อยประหยัด เพราะผมหาเงินได้เองหาได้มากก็จ่ายมาก โดยเฉพาะเรื่องค่าโทรศัพท์ผมจะคุยกับเพื่อนเยอะมาก...แต่พอระยะหลังเริ่มคิดได้ ก็จะพยายามทำงานให้เยอะขึ้นจะได้คุยน้อยลง ปัจจุบันหลังเสร็จภารกิจหากไม่มีแสดงหนังตะลุงก็จะทำการบ้านช่วยงานบ้านแล้วก็จะมานั่งตอกหนังตะลุง เท่านั้นยังไม่พอ เรื่องการกินของผมก็เปลี่ยนไป ไม่กินของแพงๆ แล้ว กินอะไรก็ได้ที่มีประโยชน์ เมื่อก่อนพ่อให้ 70 บาทก็จ่ายหมดไม่มีเหลือ แต่ตอนนี้ก็กินพออิ่มเหลือกลับบ้านทุกวัน 20-30 เอาไว้ซื้ออุปกรณ์การเรียน...” ประสิทธิกล่าว
นอกจากนี้ “ประสิทธิ” ยังผูกเรื่องราวในการแสดงหนังตะลุงขึ้นมาใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างน่าสนใจ ทั้งนี้ “ประสิทธิ” บอกว่า โดยลักษณะของตัวละครหนังตะลุงที่มีความโดดเด่นทั้งความ ความเลว ความเห็นแก่ตัว ความเอารัดเอาเปรียบ ความซื่อสัตย์มีศีลธรรมอย่างชัดเจน ทำให้สามารถดัดแปลงบทละครให้เข้ากับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงได้ง่าย เช่น “นายหนูนุ้ย” ชอบคล้อยตามคนยุยงส่งเสริม หยิบยืมของคนอื่นแล้วไม่คืน เป็นคนไม่ประหยัด ต่างกับ “อ้ายเท่ง” เป็นคนพูดตรง มีศีลธรรมสอนไข่นุ้ยได้อีกทั้งยังมีความประหยัดอดออมใช้ชีวิตแบบพอเพียง “อ้ายโถ” กินทั้งวันกินไม่เลือก กินทุกสิ่งทุกอย่าง “นายยอดทอง” ชอบจีบผู้หญิงไปทั่ว พูดจาเหลวไหล โอ้อวด ใจเสาะ ชอบแกล้งขู่ให้กลัว ส่วน “อินแก้ว” ก็เป็นเพื่อนสนิทกับ “นายยอดทอง” เป็นคนตรงไปตรงมา ไม่มีชั้นเชิง เอาการเอางานและคอยสั่งสอนตักเตือนนายยอดทองไม่ให้ถลำลึกและยังมี “ฤาษี” ที่เป็นผู้ทรงศีลคอยสั่งสอนอบรมชาวบ้านให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมเสมอ... ด้วยความโดดเด่นที่แตกต่างเช่นนี้ สามารถสอดแทรกทั้งแง่คิด และคำสอนเข้าไปได้อย่างไม่ยาก
การบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าสู่หลักสูตรการเรียนการสอนกำลังถูกผลักดันจากระดับนโยบายด้านการศึกษาอย่างจริงจังในขณะนี้ดูเหมือนจะเป็นนิมิตรหมายที่ดี แต่เยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายจะซึมซับความรู้และความเข้าใจไปใช้ได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ยังคงต้องอาศัย “ผู้สอน” ที่มีความคิดนอกกรอบแต่ไม่นอกลู่นอกทางบ้างเพื่อออกไปจากสภาพปัญหาเก่าๆ ที่การศึกษาไทยประสบพบเจอมาโดยตลอด ดังนั้นการเรียนรู้อยู่บนความพอเพียงที่ยังคงยึดโยงอยู่กับรากฐานของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นสังคมไทยไว้อย่างผสมกลมกลืน ที่น่าจะเป็นต้นแบบของสถานบันการศึกษาไทยในยุคปัจจุบัน ที่นับวันจะถอยห่างออกจากบทบาทในการเป็นสถาบันที่ผลิตบุคลากรอันเป็นกำลังสำคัญของชาติไปทุกขณะ.