กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) คงเดิมที่ระดับ “AA-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” ในขณะเดียวกันยังคงยืนยันอันดับเครดิตระดับ “AA-” สำหรับหุ้นกู้ไม่มีประกันของบริษัทที่เพิ่มขึ้นคิดเป็นวงเงินรวมไม่เกิน 7,000 ล้านบาทจากวงเงินไม่เกิน 6,700 ล้านบาท โดยที่หุ้นกู้จำนวน 300 ล้านบาทที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่มีผลกระทบต่ออันดับเครดิตที่ผ่านมาของบริษัท บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปชำระคืนเงินกู้ยืมจากธนาคารจำนวนประมาณ 6,000 ล้านบาท และส่วนที่เหลือจะนำไปใช้เป็นทุนขยายกำลังการผลิตน้ำประปาปริมาตร 120,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (ลบ.ม./วัน) ที่โรงผลิตน้ำประปาบางเลนซึ่งต้องใช้เงินลงทุนจำนวน 1,300 ล้านบาท เนื่องจากเงินกู้ยืมปัจจุบันได้รับการค้ำประกันโดยสินทรัพย์ของบริษัท ดังนั้น อันดับเครดิตหุ้นกู้ของบริษัทจึงขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการนำเงินกู้ใหม่ไปจ่ายหนี้เงินกู้ปัจจุบันและการปลดภาระค้ำประกันจากเงินกู้เดิม
อันดับเครดิตสะท้อนสถานะของบริษัทในการเป็นผู้ให้บริการน้ำประปาเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตลอดจนกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากสัญญาขายน้ำขั้นต่ำระยะยาว และความเสี่ยงในการดำเนินงานที่อยู่ในระดับต่ำ โดยการประเมินอันดับเครดิตดังกล่าวยังพิจารณาถึงความสามารถของคณะผู้บริหารและอุปสรรคในการเข้าสู่ธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากการที่บริษัทมีสัดส่วนเงินกู้จำนวนหนึ่งสำหรับใช้ลงทุนในโรงผลิตน้ำประปาและท่อจ่ายน้ำ รวมถึงความเสี่ยงจากการมีลูกค้าเพียงรายเดียวคือการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และผลกระทบจากพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำที่ยังไม่มีข้อสรุป
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะผู้นำในการเป็นผู้ให้บริการน้ำประปาเอกชนและคงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดเอาไว้ได้โดยที่การดำเนินธุรกิจของบริษัทไม่น่าจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากการออกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ นอกจากนี้ บริษัทควรมีการพิจารณาการลงทุนในอนาคตอย่างรอบคอบโดยจะต้องไม่ให้มีผลกระทบต่อฐานะทางการเงินและสภาพคล่องของบริษัท ทั้งนี้ การให้การสนับสนุนทางการเงินใดใดแก่บริษัทแม่ที่มีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอกว่าจะมีผลกระทบในด้านลบต่ออันดับเครดิตของบริษัท
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทน้ำประปาไทยเป็นผู้ให้บริการน้ำประปาเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งมีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 708,000 ลบ.ม./วัน บริษัทก่อตั้งในปี 2543 โดย บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เธมส์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด หลังจากที่บริษัทได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 แล้ว บริษัท ช. การช่างก็มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในสัดส่วน 35.0% ในขณะที่ บริษัท มิตซุย วอเตอร์ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ถือ 25.9% บริษัทประกอบกิจการโรงผลิตน้ำประปา 2 แห่ง และเป็นผู้ให้บริการน้ำประปาใน 2 พื้นที่คือเขตพื้นที่จังหวัดนครปฐมและสมุทรสาครซึ่งบริษัทเป็นผู้ดำเนินการโดยตรง และเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานีซึ่งดำเนินการโดยบริษัทลูกที่บริษัทถือหุ้น 98% คือ บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด บริษัทให้บริการน้ำประปาภายใต้สัญญาซื้อขายน้ำประปากับ กปภ. อายุ 25 ปีซึ่งจะหมดสัญญาในปี 2566 และอายุ 30 ปีซึ่งจะหมดสัญญาในปี 2577 ปัจจุบัน กปภ. มีพันธะในการรับซื้อน้ำประปาจากบริษัทในปริมาณขั้นต่ำจำนวน 630,000 ลบ.ม./วัน ทั้งนี้ สูตรการคำนวณอัตราค่าน้ำจะเป็นไปตามดัชนีราคาผู้บริโภค ปัจจุบันบริษัทกำลังขยายกำลังการผลิตขนาด 120,000 ลบ.ม./วัน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2553 โดยปริมาณน้ำขั้นต่ำที่ กปภ. รับซื้อจะเพิ่มขึ้นจาก 9,000 ลบ.ม./วัน ณ ปีแรกที่เปิดให้บริการเป็น 54,000 ลบ.ม./วันในปีที่ 6 แม้บริษัทจะมีความเสี่ยงจากการที่มี กปภ. เป็นลูกค้าเพียงรายเดียว แต่สถานะความน่าเชื่อถือของ กปภ. ในฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจนั้นอยู่ในระดับที่รับได้
บริษัทน้ำประปาไทยมีความเสี่ยงจากการดำเนินงานในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่นๆ เนื่องจากเทคโนโลยีในการผลิตน้ำประปาไม่ซับซ้อน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจผลิตน้ำประปานั้นต้องใช้เงินลงทุนสูงในการสร้างโครงข่ายระบบส่งและจ่ายน้ำประปา อีกทั้งบริษัทยังเป็นเจ้าของท่อน้ำประธานและท่อจ่ายน้ำในพื้นที่ให้บริการบางส่วนซึ่งเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการรายใหม่ในพื้นที่ดังกล่าว แหล่งน้ำที่มีเพียงพอและคุณภาพน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตน้ำประปา แหล่งน้ำที่สำคัญในการผลิตน้ำประปาของบริษัทมาจากแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่มีปริมาณน้ำเพียงพอ แม้แหล่งน้ำแต่ละแห่งจะมีคุณภาพน้ำที่แตกต่างกัน แต่บริษัทก็สามารถนำน้ำไปผลิตเป็นน้ำประปาคุณภาพสูงเหมือนกันได้
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทน้ำประปาไทยมีรายได้ที่สม่ำเสมอและมีอัตราการเติบโตที่ต่อเนื่องเนื่องจากรายได้ของบริษัทได้รับการประกันโดยสัญญาที่มีการกำหนดปริมาณน้ำขั้นต่ำที่ต้องรับซื้อและความต้องการบริโภคน้ำประปาในพื้นที่ให้บริการที่เพิ่มขึ้น ยอดขายน้ำประปาในพื้นที่ให้บริการทั้งหมดเพิ่มขึ้น 9.0% ในปี 2550 และ 7.4% ในปี 2551 ทว่ายอดขายในปี 2552 คาดว่าจะลดลงโดยเฉพาะในส่วนของกลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดนครปฐมและสมุทรสาครเนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ
บริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเนื่องจากการมีโครงสร้างสัญญาที่ดีกับ กปภ. อีกทั้งยังมีความต้องการน้ำที่อยู่ในระดับสูง บริษัทมีกระแสเงินสดภายในเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอนับตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการ รายได้รวมของบริษัทสำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 เพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สู่ระดับ 2,646 ล้านบาทเนื่องจากบริษัทรับรู้รายได้จากบริษัทประปาปทุมธานีเพียง 2 ไตรมาสสุดท้ายของปี 2550 ยอดขายของบริษัทมีสัดส่วน 66% ของรายได้ทั้งหมด โดยส่วนที่เหลือมาจากบริษัทประปาปทุมธานี ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตของการบริโภคน้ำประปาเกิดจากการที่ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้น้ำประปาแทนน้ำบาดาลเพราะคุณภาพน้ำบาดาลที่ต่ำลงและการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ในพื้นที่ให้บริการ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 78%-79% เงินทุนจากการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 เพิ่มขึ้น 52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สู่ระดับ 1,541 ล้านบาท เงินกู้รวมของบริษัท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 ลดลงอย่างมากสู่ระดับ 9,781 ล้านบาท จากระดับ 13,678 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2550 หลังจากที่บริษัทนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหุ้นสามัญแก่ประชาชนครั้งแรกไปใช้จ่ายคืนหนี้เงินกู้จำนวน 3,000 ล้านบาท สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 15.8% ในขณะที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 74.4% ณ สิ้นปี 2550 สู่ระดับ 53.4% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551