เผยผู้ได้รับรางวัลอาจารย์ตัวอย่างของสภาคณาจารย์ ม.มหิดล ประจำปี ๒๕๕๑

ข่าวทั่วไป Tuesday February 17, 2009 13:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--ม.มหิดล สภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศเชิดชูเกียรติอาจารย์ผู้มีความสามารถในเชิงวิชาการ มีจริยธรรม และอุทิศตนในด้านต่างๆ เพื่อเข้ารับรางวัลอาจารย์ตัวอย่าง ประจำปี ๒๕๕๑ จำนวน ๕ ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงสุริยา รัตนกุล ศาสตราจารย์ ดร.ยุวดี เชี่ยววัฒนา รองศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ อุดมกิจ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง จารุพิมพ์ เกียรติประจักษ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์พนม เกตุมาน ซึ่งจะเข้ารับรางวัลในงาน ๔๐ ปี วันพระราชทานนาม และ ๑๒๑ ปี “มหาวิทยาลัยมหิดล” ๒ มีนาคม ๒๕๕๒ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงสุริยา รัตนกุล อาจารย์พิเศษวิทยาลัยศาสนศึกษา และที่ปรึกษาคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ท่านเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการคนแรกของโครงการศูนย์ศึกษาวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งต่อมาได้รับการยกฐานะเป็น สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการถึง ๒ วาระ เคยดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายสร้างเครือข่ายภายในและระหว่างประเทศ ศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงสุริยา รัตนกุล เป็นนักภาษาศาสตร์ชั้นนำของไทยในปัจจุบัน ท่านผลิตงานวิจัยทางด้านภาษาศาสตร์ โดยศึกษาภาษาท้องถิ่นต่างๆ ในประเทศไว้เป็นจำนวนมาก ผลงานการวิจัยของท่านได้รับการยอมรับในแวดวงนักภาษาศาสตร์อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ท่านยังเป็นอาจารย์ถวายพระอักษรภาษาฝรั่งเศสแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๓ — ๒๕๒๑ และเป็น Fulbright Visiting Professor มหาวิทยาลัย Eastern Washington และมหาวิทยาลัย Oregon ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงสุริยา รัตนกุล ยังได้รับผลการประเมินการสอนจากนักศึกษาในระดับที่ดีมากทุกวิชาตลอดมาอีกด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ยุวดี เชี่ยววัฒนา ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และรองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางเคมี โครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและการวิจัยทางเคมี (PERCH-CIC) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และโท จาก Tokyo Institute of Technology ประเทศญี่ปุ่น ปริญญาเอก Analytical Chemistry จาก University of New South Wales ประเทศออสเตรเลีย เคยได้รับรางวัลอาจารย์ตัวอย่าง จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ ดร.ยุวดี เชี่ยววัฒนา ถือเป็นบุคลากรคนสำคัญในวงการเคมีวิเคราะห์ของประเทศไทย เป็นผู้ริเริ่มให้มีการจัดการเรียนการสอนและวิจัยทางเคมีวิเคราะห์ระดับปริญญาตรี และขยายต่อไปในระดับบัณฑิตศึกษา มีผลงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงออกในรูปวารสารวิชาการ รวมถึงสิทธิบัตรและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ทดสอบทางเคมี โดยเป็นผู้วิจัยแรกที่เสนอวิธีที่เป็นแนวทางใหม่ในการวิเคราะห์ bioavailability ของธาตุที่เป็นแบบพลวัตร (dynamic) ทดแทนการวิเคราะห์แบบเดิมที่เป็นการศึกษาที่สภาวะสมดุล (equilibrium) แนวทางการวิเคราะห์แบบใหม่นี้ เป็นวิธีวิเคราะห์ bioavailability ของสารที่สอดคล้องกับสภาวะจริงที่เกิดขึ้น มีผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ได้จริงจากชุดทดสอบสารภาคสนามที่ได้รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เผยแพร่ให้ชุมชนได้นำไปใช้ นอกจากนี้เป็นผู้ที่มีความรอบรู้ ทั้งในเชิงลึกและกว้าง สามารถถ่ายทอดความรู้ได้อย่างดี ฝึกนักศึกษาให้รู้จักสังเกตสิ่งรอบตัว อยากรู้และค้นหาคำตอบ ไม่ฝึกให้ท่องจำ แต่ฝึกให้เข้าใจ และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้จริง รองศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ อุดมกิจ สถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาชีวเคมี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทสาขาวิชาชีวเคมี จากมหาวิทยาลัยมหิดล และปริญญาเอกสาขา Molecular Biology จาก University of Edinburgh ประเทศสหราชอาณาจักร มีผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อภาคการเกษตรและเศรษฐกิจโดยรวม ในด้านการศึกษาการใช้เทคโนโลยีทางอณูชีววิทยา เพื่อการกระตุ้นการวางไข่ของแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำโดยไม่ต้องตัดตา ซึ่งผลจากงานวิจัยช่วยให้มีการใช้แม่พันธุ์กุ้งจากธรรมชาติได้อย่างคุ้มค่า ไม่ทรมานสัตว์ และลดต้นทุนการผลิตลูกกุ้ง และจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้และทัศนคติกับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งโดยตรง ทำให้สามารถปรับปรุงและหาแนวทางการวิจัยที่ตอบสนองกับความต้องการของเกษตรกรได้ดีที่สุด ซึ่งจากผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับการเสนอให้ยื่นคำขอจดสิทธิบัตรในเวลาต่อมา นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ อุดมกิจ ยังมีผลการประเมินการสอนอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก ให้ความทุ่มเทและเอาใจใส่นักศึกษาในความดูแลอย่างสม่ำเสมอ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง จารุพิมพ์ เกียรติประจักษ์ ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำเร็จการศึกษาทันตแพทยศาสตรบัณฑิต จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศนียบัตรชั้นสูงสาขาทันตกรรมสำหรับเด็ก และปริญญาโท สาขาบริหารสาธารณสุขมูลฐาน จาก มหาวิทยาลัยมหิดล เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก และประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีบทบาทสำคัญในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน ในสาขาทันตกรรมสำหรับเด็กโดยริเริ่มพัฒนาแบบจำลองการรักษาฟันน้ำนม และเครื่องมือชนิดต่างๆ ที่ใช้ในทางทันตกรรมสำหรับเด็กเพื่อนักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติจนมีความชำนาญก่อนที่จะฝึกปฏิบัติในผู้ป่วยจริง มุ่งมั่นในการให้ความรู้แก่นักศึกษาทันตแพทย์ และประพฤติตนเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับนักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาได้จบการศึกษาไปเป็นทันตแพทย์ที่มีคุณธรรม และจริยธรรมที่ดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์พนม เกตุมาน หัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล วุฒิบัตรฯสาขาจิตเวชศาสตร์และหนังสืออนุมัติฯ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น จากแพทยสภา Diploma of Child and Adolescent Psychiatry จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และเลขาธิการราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้รับรางวัลอาจารย์ดีเด่นทางคลินิก จากสภาอาจารย์ศิริราช เป็นผู้พัฒนาระบบอาจารย์ที่ปรึกษาในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พัฒนาการเสริมสร้างและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในนักศึกษาแพทย์ศิริราช ใช้การวิจัยเพื่อสร้างเครื่องมือในการคัดกรองโรคความผิดปกติทางจิตใจภายหลังภยันตราย PTSD เพื่อใช้ในชุมชน เป็นที่ยอมรับโดยกรมสุขภาพจิต พัฒนางานบริการเชิงรุกทางจิตเวชเด็กและวัยรุ่น โดยการพัฒนาโครงการสุขภาพจิตโรงเรียน (School Mental Health) จนเป็นแบบอย่างแก่สถาบันอื่น นอกจากนี้ เป็นวิทยากรให้ความรู้ทางวิชาการผ่านสื่อมวลชนในเรื่องสุขภาพจิตใจ ช่วยเหลือเด็กที่ประสบภัยสึนามิ ดำรงตนอยู่ในความดี พัฒนาการทำงานให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กร จากผลงานของอาจารย์ทั้ง ๕ ท่าน ที่ได้พัฒนาการสอน มีผลงานการวิจัยที่ทรงคุณค่า และอุทิศตนแก่สังคมเพื่อประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม สภาคณาจารย์มหาวิทยาลัย จึงพิจารณาให้ได้รับรางวัลอาจารย์ตัวอย่างประจำปี ๒๕๕๑ เพื่อเป็นเกียรติแก่บุคคลข้างต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ