ก.ล.ต. ให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจโบรกเกอร์ gold futures แก่ผู้ค้าทอง 4 ราย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 16, 2009 14:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--ก.ล.ต. ก.ล.ต. ให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจโบรกเกอร์ gold futures แก่ผู้ค้าทอง 4 ราย และขยายระยะเวลาการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการไปถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2552 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่จำกัดการประกอบธุรกิจเฉพาะสัญญา ซื้อขายล่วงหน้าที่เกี่ยวกับทองคำ แก่ผู้ค้าทอง 4 ราย และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนขยายระยะเวลาการผ่อนปรนหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติการเงิน และยกเว้นหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล การซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างงวดสำหรับบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ที่เป็นธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทประกันภัย นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2552 ดังนี้ 1. ให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่จำกัดเฉพาะที่เกี่ยวกับทองคำตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้ออก หลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตการเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่จำกัดการประกอบธุรกิจเฉพาะสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่เกี่ยวกับทองคำ เพื่อให้ผู้ค้าทองในปัจจุบันสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการทำธุรกิจซื้อขาย gold futures ในตลาดอนุพันธ์ (TFEX) ได้นั้น ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้เห็นชอบให้ออกใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจดังกล่าวให้แก่ผู้ค้าทอง 4 ราย ได้แก่ (1) บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (2) บริษัท ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (3) บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ ฟิวเจอร์ จำกัด และ (4) บริษัท ที.ซี. ออสสิริส ฟิวเจอร์ส จำกัด ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจะเริ่มประกอบธุรกิจได้ต่อเมื่อ ได้รับการตรวจประเมินความพร้อมด้านระบบงานโดยสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว 2. ขยายระยะเวลาการบังคับใช้มาตรการพิเศษเกี่ยวกับการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ คณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีมติให้ขยายระยะเวลาการผ่อนปรนหลักเกณฑ์การทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์บางส่วน โดยไม่กำหนดสัดส่วนหุ้นขั้นต่ำที่ต้องทำคำเสนอซื้อ และการผ่อนปรนให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์หากข้ามจุดที่ต้องทำคำเสนอซื้อ (trigger point) เนื่องจากกิจการซื้อหุ้นคืน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตสถาบันการเงิน โดยให้ขยายระยะเวลาการใช้มาตรการนี้ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2552 (เดิมสิ้นสุด 16 กุมภาพันธ์ 2552) พร้อมทั้งปรับปรุงข้อกำหนดให้ชัดเจนขึ้น โดยกรณีที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ข้าม trigger point เนื่องจากกิจการซื้อหุ้นคืนในช่วงก่อนหรือระหว่างมาตรการนี้มีผลใช้บังคับ ผู้ถือหุ้นดังกล่าวมีสิทธิที่จะซื้อหุ้นเพิ่มเติมตามสิทธิเดิมที่มีอยู่ รวมถึงสิทธิที่จะทำคำเสนอซื้อบางส่วนด้วย ทั้งนี้ สิทธิดังกล่าวจะหมดไปเมื่อกิจการลดทุนที่ชำระแล้วโดยวิธีตัดหุ้นที่กิจการซื้อคืน 3. ยกเว้นการเปิดเผยข้อมูลการซื้อและขายหลักทรัพย์ในงบการเงินของธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทประกันภัยเนื่องจากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) และบริษัทประกันชีวิตและประกันวินาศภัย (บริษัทประกันภัย) ลงทุนในหลักทรัพย์เป็นธุรกิจปกติ ซึ่งผู้ลงทุนทั่วไปสามารถคาดหมายได้ว่าบริษัทเหล่านี้มีการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นประจำและมีความเสี่ยงจากการลงทุนในหลักทรัพย์ระดับหนึ่งดังนั้น การกำหนดให้ บล. ธพ. และบริษัทประกันภัย เปิดเผยข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เกิดขึ้นระหว่างงวดบัญชีในหมายเหตุประกอบงบการเงินนั้น จึงเป็นการเพิ่มภาระให้แก่บริษัทเหล่านี้โดยไม่จำเป็นและไม่เป็นประโยชน์เพิ่มแก่ผู้ลงทุนคณะกรรมการกำกับตลาดทุนจึงยกเว้นการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวสำหรับบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ที่เป็น บล. ธพ. บริษัทประกันภัย และบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ที่มี บล. ธพ. หรือบริษัทประกันภัยเป็นบริษัทย่อย นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงนิยามของเงินลงทุนในหลักทรัพย์ที่กำหนดในประกาศให้ชัดเจนขึ้น โดยให้หมายถึงเฉพาะหลักทรัพย์เพื่อค้าและหลักทรัพย์ เผื่อขายที่ตั้งใจถือไว้ไม่เกินหนึ่งปีเท่านั้น โดยไม่รวมเงินลงทุนในบริษัทย่อย บริษัทร่วมและกิจการร่วมค้า ทั้งนี้ ประกาศที่แก้ไขดังกล่าว จะมีผลใช้บังคับสำหรับงบการเงินที่จัดส่งตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2552 นี้เป็นต้นไป สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฝ่ายงานเลขาธิการ: 0-2695-9502-5 e-mail: press@sec.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ