กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--กรมการค้าต่างประเทศ
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตัวแทนภาคธุรกิจยุโรป (Business Europe) ได้ดำเนินการจัดทำข้อคิดเห็นต่อร่างแนวทางการปฏิบัติการจัดซื้อของรัฐบาล EU โดยให้ความสำคัญต่อการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (Socially — Responsible Public Procurement) เพื่อยื่นให้คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณา มีสาระสำคัญดังนี้
1. คณะกรรมาธิการยุโรป ควรมุ่งจัดทำแนวทางการปฏิบัติกรอบกฎหมายการจัดซื้อโดยรัฐของ EU (EU Directives on Public Procurement) เพื่อให้แน่ใจว่าภาคธุรกิจมีความร่วมมืออย่างจริงจังกับ Suppliers ของตนในการยื่นข้อเสนอให้สามารถปฏิบัติได้
2. ประเด็นความไม่ชัดเจนว่าหน่วยงานจัดซื้อได้จัดลำดับความสำคัญของเกณฑ์ทางสังคมอย่างไร และมีการติดต่อสื่อสารกับ Suppliers ได้ดีเพียงใด ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่ามีการจัดทำข้อเสนอที่สำหรับยื่นประมูลอย่างเหมาะสม คณะกรรมาธิการยุโรป ควรปรึกษาหารือกับหน่วยงานจัดซื้อภาครัฐในระดับชาติของประเทศสมาชิก EU ที่รับผิดชอบนโยบายจัดซื้อและยังมีข้อมูลในการติดต่อกับ Suppliers อยู่แล้ว เพื่อเสริมสร้างการจัดลำดับความสำคัญของเกณฑ์ทางสังคมให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่มีความแตกต่างกันอีกทั้งความหลากหลายของสมรรถนะความสามารถของ ผู้รับจ้าง
3. ในกฎหมาย EU ยังไม่ได้มีการบัญญัติความหมายของคำเหล่านี้ เช่น Decent Work, Fair / Ethical Trade, และ Corporate Social Responsibility (CSR) จึงไม่เหมาะที่จะใส่ถ้อยคำนี้ในสัญญาการจัดซื้อ ซึ่ง CSR เป็นการดำเนินการด้วยความสมัครใจของเอกชน จึงไม่มีผลทางกฎหมาย
4. นอกจากนี้ Business Europe ได้แสดงความกังวลต่อคณะกรรมาธิการฯ ที่ขาดความโปร่งใสโดยไม่ได้เผยแพร่ร่างเอกสารแนวทางปฏิบัติที่กำลังจัดทำอยู่ จึงเรียกร้องให้มีการเวียนร่างเอกสารดังกล่าว เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องได้แสดงข้อคิดเห็นเพิ่มเติมก่อนการสรุปในขั้นสุดท้าย