กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ สรุปสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ไตรมาส 1/2549 ทั่วประเทศชะลอการก่อสร้าง ขณะที่ตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ผู้ประกอบการมีการปรับตัวรับกับสถานการณ์โดยรวม ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2549 มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศแล้ว 2,731 ล้านบาท ขณะที่มียอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยรายย่อยปล่อยใหม่ทั่วประเทศ 60,123 ล้านบาท
นายพงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่าศูนย์ข้อมูลฯ สามารถจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ไตรมาส 1/2549 ได้ครบ 5 ประเภท ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จากข้อมูลสะท้อนให้เห็นว่าภาพโดยรวมอสังหาริมทรัพย์ชะลอการก่อสร้างทุกประเภท ยกเว้นในพื้นที่กรุงเทพฯปริมณฑล ซึ่งการก่อสร้างยังมีการขยายตัวในกลุ่มที่พักอาศัย
โดยการขออนุญาตก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยแนวราบในพื้นที่ทั่วประเทศ มีจำนวนอาคาร 30,992 หน่วย ลดลง 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 ซึ่งมีจำนวน 40,392 หน่วย โดยมีพื้นที่ 5,387,446 ตร.ม. ลดลง 13% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ซึ่งมีพื้นที่รวม 6,200,076 ตร.ม มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยประเภทอาคารสูงทั่วประเทศ (อาคารที่อยู่อาศัยที่มีความสูงเกิน 6 ชั้นขึ้นไป) จำนวนอาคาร 243 อาคาร ลดลง 74% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 ซึ่งมีจำนวน 950 อาคาร ขณะที่มีพื้นที่อาคารอาคารรวม 479,078 ตร.ม. ลดลง 29 %เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 ซึ่งมีพื้นที่ 674,895 ตร.ม.
อย่างไรก็ตามการก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยแนวราบ จำนวน 12,133 หน่วย ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 ซึ่งมีจำนวน 11,409 หน่วย และพื้นที่เพิ่มขึ้น 12% คือเพิ่มจาก 2,329,923 ตร.ม.ในปี 2548 เป็น 2,610,898 ตร.ม. ในปี 2549
ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าการออกใบอนุญาตที่อยู่อาศัยประเภทอาคารสูง ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ลดลงทั้งจำนวนอาคารและพื้นที่การก่อสร้าง โดยมีการออกใบอนุญาตจำนวน 128 อาคาร ลดลงถึง 76% จากช่วงเดียวกันของปี 2548 ซึ่งมีจำนวน 532 อาคาร และพื้นที่การก่อสร้างลดลง 50% คือลดลงจาก 378,116 ตร.ม. ในช่วงไตรมาส 1/2548 เหลือ 189,774 ตร.ม. ในช่วงไตรมาส 1/ 2549
สำหรับดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในช่วงไตรมาส 1/2549 ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2548 ซึ่งสะท้อนภาพการซื้อขายที่อยู่อาศัยในระดับกลางว่ายังคงมีราคาเพิ่มขึ้น โดยดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน เพิ่มขึ้น 5% ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวไม่รวมที่ดิน เพิ่มขึ้น 8% ดัชนีราคาทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดิน เพิ่มขึ้น 4.5% ดัชนีราคาทาวน์เฮาส์ไม่รวมที่ดิน เพิ่มขึ้น 6.8% และดัชนีราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 2.9 %
สถิติบ้านใหม่สร้างเสร็จจดทะเบียนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ในรอบไตรมาส 1/2549 จำนวนหน่วยลดลงประมาณ 11% โดยมีจำนวน 15,584 หน่วย ขณะที่ช่วงเดียวกันของปี 2548 มีจำนวน 17,581 หน่วย บ้านเดี่ยวมีสถิติการสร้างเสร็จจดทะเบียนลดลงสูงสุด คือ 11,091 หน่วย ขณะที่ปี 2548 มีจำนวน 11,009 หน่วย ขณะที่การจดทะเบียนอาคารชุดมีสถิติลดลงอย่างมาก โดยมีจำนวนเพียง 748 หน่วยเท่านั้น ขณะที่ในปี 2548 มีจำนวนถึง 2,528 หน่วย
ภาพโดยรวมจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนที่สร้างโดยผู้ประกอบการลดลงจาก 11,924 หน่วย ในช่วงไตรมาส 1/2548 เหลือ 8,609 หน่วย ในปี 2549 และบ้านที่ประชาชนสร้างเองเพิ่มจาก 5,657 หน่วยในช่วงไตรมาส 1/ 2548 เป็น 6,975 หน่วยในช่วงไตรมาส 1/2549
ด้านความเคลื่อนไหวด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีความเคลื่อนไหวดังนี้คือ ในรอบไตรมาส 1/2549 สถาบันการเงินทั้งระบบมียอดสินเชื่อผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ทั่วประเทศ 8,686 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จากช่วงเดียวกันของปี 2548 ซึ่งมีจำนวน 6,990 ล้านบาท มียอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยรายย่อยปล่อยใหม่ 60,123 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเดียวกันของปี 2548 ซึ่งมีจำนวน 55,207 ล้านบาท สำหรับความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยโดยในช่วงไตรมาส 1/2549 มีมูลค่าการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ทั่วประเทศ 2,731 ล้านบาท จาก 222,988 ราย
“จากข้อมูลโดยภาพรวมแสดงให้เห็นว่าตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงไตรมาส 1/2549 ยังคงขยายตัว แต่อาจจะไม่สูงเท่ากับช่วงที่ผ่านๆ มา แต่สิ่งสำคัญคือ ผู้ประกอบการมีการปรับตัวด้านการลงทุนให้สอดรับกับการขยายตัวของความต้องการซื้อ อีกทั้งการปล่อยสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นโดยภาพรวมถือว่าตลาดที่อยู่อาศัยยังดำเนินไปตามปรกติและมีการปรับทิศทางการลงทุนให้สอดรับกับปัจจัยแวดล้อม ไม่มีสัญญาณปัญหาอย่างที่หลายฝ่ายวิตกกังวลแต่อย่างใด” ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวในตอนท้าย
ณัฏติกา นาคสุบรรณ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และบริการข้อมูล
02-645-9675-6 ,02-643-2016