กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--กรีนพีซสากล
กรีนพีซติดตามการลักลอบขนขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างผิดกฏหมายไปยังประเทศกำลังพัฒนา พบว่าประเทศอังกฤษแอบลักลอบส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกรวบรวมเพื่อการรีไซเคิลไปยังประเทศไนจีเรียโดยใช้วิธีบิดเบือนแจ้งเป็นสินค้ามือสอง ทั้งนี้ประเทศไนจีเรียเป็นอีกหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นจุดหมายปลายทางของการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศพัฒนาแล้ว
ในประเทศอังกฤษ กรีนพีซได้ติดตั้งอุปกรณ์ระบุพิกัดในขยะอิเล็กทรอนิกส์ประเภทโทรทัศน์เพื่อสืบค้นเส้นทางการเคลื่อนย้ายและจุดหมายปลายทางของขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแทนที่ขยะจะถูกนำไปแยกชิ้นส่วนและรีไซเคิลอย่างถูกวิธีในประเทศตามที่กฏหมายได้ระบุไว้ แต่ขยะดังกล่าวกลับถูกส่งต่อไปยังประเทศไนจีเรียโดยแจ้งว่าเป็นสินค้ามือสอง ทั้งนี้ การลักลอบส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ชำรุดเป็นสิ่งผิดกฎหมายของสหภาพยุโรป (3)
การที่ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไม่รับผิดชอบในการรับซากผลิตภัณฑ์ของตนกลับไปรีไซเคิลนั้นเป็นการส่งเสริมให้เกิดการส่งออกขยะอันตรายหรือขยะอิเล็กทรอนิกส์จากยุโรปไปยังประเทศกำลังพัฒนา และทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมในประเทศนั้นๆ (1)
"ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สามารถช่วยหยุดการลักลอบส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยการออกแบบผลิตภัณฑ์ของตนให้ปลอดจากสารพิษอันตรายและที่สำคัญคือมีความรับผิดชอบในการรวบรวมเพื่อนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี และยังช่วยหยุดการขยายตัวของสถานที่ทิ้งขยะที่ส่งผลกระทบในประเทศที่กำลังพัฒนา" มาร์ติน โฮจซิค ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซสากลกล่าว (2)
ปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์จึงตกอยู่กับกลุ่มคนจนในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งในหลายกรณีมักเป็นเด็ก โดยต้องแยกชิ้นส่วนหน้าจอโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ เกมคอนโซล และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ โดยปราศจากความรู้และมาตรการป้องกันความปลอดภัย จึงได้รับสารพิษอันตราย อาทิ ปรอทที่ส่งผลทำลายสมอง สารตะกั่วที่ทำลายระบบสืบพันธุ์ และแคดเมียมที่ส่งผลกระทบต่อไต เป็นต้น
สินค้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มือสองถูกส่งออกจากสหภาพยุโรปไปยังแอฟริกาทุกวัน แม้ว่าจะมีกฎหมายห้ามการส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ก็ตาม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งออกไป มีทั้งอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ สามารถนำกลับมาซ่อมได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเสื่อมสภาพ และในที่สุดถูกนำไปทิ้งในประเทศที่ยังไม่มีระบบการรีไซเคิลที่ปลอดภัย จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าประเทศในแถบยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีมักจะนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปทิ้งในประเทศกำลังพัฒนาอย่างไนจีเรีย กาน่า ปากีสถาน อินเดียและจีน
เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ควรมีความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของตนเมื่อหมดอายุการใช้งาน โดยการรับคืนกลับ รวมทั้งยุติการใช้สารเคมีอันตรายในการผลิต ทั้งนี้เพื่อง่ายต่อการรีไซเคิลและเพิ่มความปลอดภัยในการจัดการ
หมายเหตุ
(1) ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นหนึ่งในประเภทของขยะอันตราย ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของขยะอิเล็กทรอนิกส์มาจากยุโรปและโดยส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี
(2) แม้ว่าบริษัทที่ชี้แจงว่ามีนโยบายการรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของตนกลับคืนเพื่อนำไปรีไซเคิล การคำนวณสัดส่วนยอดขายผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของผู้ผลิตต่างๆ ในอดีตเทียบกับซากผลิตภัณฑ์ที่รวบรวมได้ พบว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์มากถึงร้อยละ 91 หายไปจากระบบ จากข้อมูลของผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ 4 ราย ในปี 2549 และ 2550 มีเพียงร้อยละ 10 ของคอมพิวเตอร์ที่หมดอายุการใช้งานถูกนำไปรีไซเคิล และมีการรีไซเคิลร้อยละ 2-3 ของโทรศัพท์มือถือ
รายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/e-waste-report-full
(3) โทรทัศน์ที่กรีนพีซติดตามการขนย้ายนั้น ส่วนใหญ่จะชำรุด แตกหัก ไม่สามารถนำกลับมาซ่อมได้ จึงถือว่าจัดอยู่ในประเภทขยะ ทั้งนี้ ส่วนประกอบของโทรทัศน์เช่น จอภาพแบบ CRT มีสารตะกั่วเป็นส่วนประกอบ จึงควรจัดอยู่ในกลุ่มขยะอันตราย entry A1180 of Annex V, Part 1 (1) บัญชี A ในกฎหมายของสหภาพยุโรป เรื่องการขนย้ายขยะ (Regulation (EC) 1013/2006) และในหัวข้อที่ 36.1 (a) ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าห้ามส่งออกขยะอันตรายไปยังประเทศกำลังพัฒนาซึ่งรวมถึงไนจีเรีย
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ภาพการติดตามและตรวจสอบ
http://www.greenpeace.org/international/photosvideos/photo-stories/following-the-e-waste-trail
รายงานขยะอิเล็กทรอนิกส์ในกาน่า
http://www.greenpeace.org/international/photosvideos/photo-stories/e-waste-in-ghana-kim-schoppi
ภาพขยะอิเล็กทรอนิกส์ในปากีสถาน
http://www.greenpeace.org/international/photosvideos/greenpeace-photo-essays/scrap-life-pakistan-with-rob
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในจีนและอินเดีย
http://www.greenpeace.org/international/press/reports/recyclingelectronicwasteindiachinafull
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
มาร์ติน โฮจซิค ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซสากล โทร +421 905 313 395
พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ โทร. 0 2357 1921 ต่อ 135, 08 1658 9432
วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร. 0 2357 1921 ต่อ115, 08 9487 0678