พีดี เฮ้าส์ กระทุ้งรัฐบาลอุดรูรั่วภาษี Vat ธุรกิจสร้างบ้านปีละกว่า 3 พันล้าน

ข่าวอสังหา Thursday February 19, 2009 14:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--พีดี เฮ้าส์ คอร์ปอเรชั่น ฝ่ายวิจัยและพัฒนาธุรกิจ บริษัท พีดี เฮ้าส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด รายงานภาพรวมบ้านที่ประชาชนสร้างเอง (ที่มิใช่สร้างโดยผู้ประกอบการบ้านจัดสรร) ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียงปี 2551 (กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร) คาดว่ามีปริมาณการก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ 18,900 — 19,000 หน่วย หรือคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 47,000-48,000 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการที่แชร์ส่วนแบ่งมูลค่าตลาดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ กลุ่มที่ 1.ผู้รับเหมาทั่วไป มีแชร์ส่วนแบ่งเฉลี่ยประมาณ 83% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 39,000-40,000 ล้านบาทเศษ และ กลุ่มที่ 2.บริษัทรับสร้างบ้าน มีแชร์ส่วนแบ่งเฉลี่ยประมาณ 17% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 7,900-8,000 ล้านบาทเศษ ทั้งนี้ยังไม่นับรวมปริมาณบ้านที่ประชาชนสร้างในต่างจังหวัดปี 2551 คาดว่ามีจำนวนประมาณ 45,000-50,000 หน่วย หรือรวมกันทั่วประเทศประมาณ 70,000 หน่วย การปรับตัวและแนวโน้มเติบโตของธุรกิจสร้างบ้าน ฝ่ายวิจัยและพัฒนาฯ พีดี เฮ้าส์ ประเมินว่าปี 2552 บ้านที่ประชาชนสร้างเองในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียงมีแนวโน้มลดลงจากปี 51 สอดคล้องกับภาวเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ถดถอยลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการทั้ง 2 กลุ่มที่แชร์ส่วนแบ่งตลาดสร้างบ้านต้องเร่งปรับตัว โดยกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านที่มีการรวมตัวกันมาก่อนหน้านี้ ดูจะมีความเคลื่อนไหวเพื่อสร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่องได้ดีกว่ากลุ่มผู้รับเหมาทั่วไป ซึ่งขาดการรวมพลังและปรับตัวช้ากว่า ทำให้ผู้บริโภคและประชาชนรู้จักและให้ความเชื่อถือกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านมากกว่าในอดีต ทั้งนี้มีแนวโน้มว่าผู้บริโภคที่ต้องการสร้างบ้านจะหันมาใช้บริการจากกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านเพิ่มขึ้นในอนาคต ในขณะเดียวกันก็มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาแข่งขันในกลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้านเพิ่มขึ้นกว่าเดิมทุกปี ส่งผลให้อุณภูมิการแข่งขันในกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้าน ร้อนแรงไม่ต่างจากกลุ่มผู้รับเหมาทั่วไป “หากพิจาณาจากตัวเลขมูลค่าบ้านที่ประชาชนสร้างเองปี 2551 แยกเป็น “กลุ่มแรกผู้รับเหมาทั่วไป” ที่มีแชร์ตลาดมูลค่ารวมประมาณ 39,000-40,000 ล้านบาทเศษ หากคิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat 7%) เท่ากับ 2,500 ล้านบาทเศษ และใน “กลุ่มบริษัทรับสร้างบ้าน” ที่มีแชร์ตลาดมูลค่ารวมประมาณ 7,900-8,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat 7%) เท่ากับ 500 ล้านบาทเศษ ดังนั้นเมื่อคิดเป็นภาษีมวลค่าเพิ่มที่รัฐควรจะจัดเก็บได้จากทั้ง 2 กลุ่มคิดเป็นเงินประมาณ 3,000 ล้านบาทเศษ แต่ในข้อเท็จจริงพบว่าทั้ง 2 กลุ่มมีการฮั้วหรือตกลงกับเจ้าของบ้าน โดยหลีกเลี่ยงไม่เข้าระบบภาษีและไม่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่รัฐ หรืออีกกรณีคือผู้ประกอบการได้คิดคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มรวมในราคาขายบ้านแล้ว แต่หลบเลี่ยงไม่นำส่งรัฐหรือกรมสรรพกร ทำให้รัฐขาดรายได้ปีละกว่า 3,000 ล้านบาท” เล่ห์เหลี่ยมผู้ประกอบการต่อนโยบายรัฐ เมื่อเร็วๆนี้รัฐบาลและกรมสรรพกรได้ประกาศนโยบาย ที่จะหาช่องทางเรียกเก็บภาษีรายได้นิติบุคคลเพิ่ม โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างบ้าน เนื่องจากเล็งเห็นว่านิติบุคคลหรือคณะบุคคลมีการสร้างรายจ่ายเกินจากความเป็นจริง ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยและพัฒนาฯมองว่าเป็นการตรวจสอบและแก้ปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ปลายเหตุ เพราะหากกรมสรรพกรตรวจสอบผลประกอบการหรืองบดุลย์บัญชี ของกลุ่มผู้รับเหมาทั่วไปและกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้าน จะพบว่าผู้ประกอบการมากกว่า 70% แจ้งรายได้ต่ำผิดปกติ อาทิ บางรายมีรายได้ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านบาท บางรายที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางมีรายได้ไม่ถึง 5 ล้านบาทต่อปี หรือเมื่อเปรียบเทียบดูจะเท่ากับ 1 ปีมีงานรับเหมาสร้างบ้านเพียง 1-2 หลังเท่านั้น แต่หากประเมินจากต้นทุนค่าก่อสร้าง ค่าการตลาด ค่าจ้างพนักงาน และค่าบริหารงานของแต่ละรายมีรายจ่ายไม่ต่ำกว่าปีละ 5-10 ล้านบาทขึ้นไป จึงสะท้อนให้เห็นว่ามีการหลบเลี่ยงนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแจ้งรายได้ต่ำกว่าความเป็นจริงจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อผู้ประกอบการต่างปกปิดรายได้ จึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่แต่ละปีงบดุลย์จะแสดงผลกำไรเพราะว่ามีแต่รายจ่าย โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงสภาพการแข่งขันในธุรกิจสร้างบ้าน ก็จะพบว่างานรับเหมาสร้างบ้านมีผลกำไรหรือผลตอบแทนต่ำมาก โดยเฉลี่ยจะคำนวณกำไรจากค่างานรับเหมาไว้เพียง 2-8% ของมูลค่างานก่อสร้างหรือราคาขาย ในขณะที่ธุรกิจก่อสร้างมีตัวแปรและมีความเสี่ยงระหว่างทำงานก่อสร้างสูงมาก เช่น การปรับเพิ่มของราคาวัสดุ ค่าแรง และค่าดำเนินงาน ฯลฯ เป็นต้น แนะรัฐคืน Vat ผู้บริโภค หวังปรับฐานรายได้ภาษีในอนาคต จากกรณีศึกษาธุรกิจสร้างบ้านดังกล่าว รัฐควรหาแนวทางที่จะปลุกจิตสำนึกผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามกฏหมายภาษี เพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ตามจริง หรือกระตุ้นให้ผู้บริโภคเรียกขอใบเสร็จรับเงิน (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จากผู้ประกอบการหรือผู้รับจ้าง ทั้งนี้รัฐอาจจะจำเป็นต้องเลือกใช้วิธีให้ผู้บริโภคสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ โดยอาจมิใช่คืนเป็นเงินสดแต่จะเป็นการนำไปลดหย่อนภาษีรายได้หรือลดดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคาร เพื่อจะเป็นการบังคับผู้ประกอบการหรือผู้รับจ้างเข้าสู่ระบบภาษีอย่างถูกต้อง และเมื่อผู้รับจ้างไม่สามารถหลีกเลี่ยงการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม งบดุลย์ก็จะแสดงรายได้ตามความเป็นจริงและจะโชว์ผลกำไรของผู้ประกอบการรายนั้นๆ ซึ่งรัฐก็จะสามารถเก็บภาษีรายได้นิติบุคคลตามที่หวังไว้ ในลำดับถัดไปกรมสรรพกรก็จะนำสถิติรายได้ที่เป็นจริงเหล่านี้ มาปรับฐานการจัดเก็บรายได้จากผู้ประกอบการธุรกิจสร้างบ้านได้แม่นยำขึ้น รัฐก็จะสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มต่อปีเพิ่มขึ้นและนำไปพัฒนาประเทศต่อไป นายพิศาล ธรรมวิเศษ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีดี เฮ้าส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และผู้บริหาร “ศูนย์รับสร้างบ้าน พีดี เฮ้าส์” เปิดเผยว่า จากการที่ผู้ประกอบการหลบเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจสร้างบ้านขาดความชัดเจน ทั้งในแง่มูลค่าตลาดสร้างบ้านรวมและราคาค่าก่อสร้างที่เป็นจริง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้รับเหมาสร้างบ้านทั่วไปและบริษัทรับสร้างบ้านขนาดเล็กและขนาดกลาง ส่วนใหญ่ไม่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กรมสรรพกร ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยและพัฒนาฯของบริษัทฯ ได้มีการรวบรวมรายชื่อและจำนวนผู้ประกอบการสร้างบ้านที่มีอยู่ในเวบ Google และทำการตรวจสอบงบดุลย์ของบริษัทเหล่านี้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่ามีผู้ประกอบการบางรายที่ยังดำเนินธุรกิจอยู่ในปัจจุบัน แต่น่าประหลาดที่ไม่เคยยื่นงบดุลย์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามาก่อนเลย นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ประกอบการอีกจำนวนมาก แม้ว่าจะมีการยื่นงบดุลย์ก็จริงแต่กลับแสดงรายได้ต่ำจนผิดปกติ เพราะว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการทำธุรกิจสร้างบ้าน แต่ไฉนมีรายได้ต่อปีแค่เพียง 300,000 บาทเศษ (ขอแนะนำว่าให้ไปขายเต้าฮวยดีกว่า) แต่อาจเป็นไปได้ว่าพวกนี้อาจเป็นมิฉฉาชีพที่คิดจะเข้ามาในธุรกิจสร้างบ้าน เพราะหวังรวยทางลัดด้วยการฉ้อฉลหรือคดโกงลูกค้าที่ตกเป็นเหยื่อ โดยเสนอราคารับสร้างบ้านต่ำเกินความเป็นจริง เพราะเมื่อได้รับเงินก็ปิดสำนักงานหนีหายไป หรืออาจใช้ช่องทางของสัญญาเอาเปรียบด้วยการบอกเลิกสัญญาและยึดเงินที่ลูกค้าจ่ายไปแล้ว จึงฝากถึงผู้บริโภคหรือผู้ที่คิดจะเลือกผู้รับจ้างสร้างบ้าน อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาและคำอวดอ้างชื่อเสียงเท่านั้น เพราะอาจไม่รู้เท่าทันพวกมิจฉาชีพที่แฝงตัวเข้ามาในธุรกิจสร้างบ้านนี้ ส่วนมากมักจะแต่งตัวดีดูภูมิฐานและชอบอวดอ้างสถานะทางสังคม เช่น เป็นกรรมการสมาคมฯหลายๆแห่งหรืออ้างตัวเป็นที่ปรึกษานักการเมือง และมีความถนัดในการพูดจาหว่านล้อมจนหลงเราหลงเชื่อและยอมจ่ายเงินไป ดังนั้นหากไม่แน่ใจก็ควรตรวจสอบประวัติความเป็นมาของผู้รับจ้างกับส่วนราชการที่เกียวข้องให้ดีก่อน เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นต้น อย่าเลือกเพราะคิดว่าจ่ายเงินน้อยแต่ได้บ้านหลังใหญ่แบบเหลือเชื่อ ไม่แน่ท่านอาจเปลี่ยนจากได้... “บ้าน” เป็น “บ้า” แทน นายพิศาล กล่าวสรุป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ Thitichaya Ngamsom(น้ำ) 087-0652002

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ