สหรัฐฯเมินเสียงค้านจดสิทธิบัตรไวรัสสายพันธุ์ไทยแล้วไบโอไทยชี้ส่งผลกระทบรุนแรงต่ออนาคตการพัฒนาพันธุ์พืชของไทย

ข่าวทั่วไป Monday December 18, 2006 10:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--มูลนิธิชีววิถี (BioThai)
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิถีหรือไบโอไทย(BioThai) ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ติดตามปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยได้ให้สัมภาษณ์ว่านักวิจัยสหรัฐชื่อ นายเดนนิส กอนซาลเวส (Dennis Gonsalves) ซึ่งร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยทำโครงการวิจัยมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้ต้านทานโรค ได้ฉวยโอกาสจดสิทธิบัตรไวรัสสายพันธุ์ไทยที่ต้านทานโรคใบด่างจุดวงแหวนแล้ว
โดยสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายค้าของสหรัฐฯ USPTO ได้อนุมัติสิทธิบัตรหมายเลข 7,078,586 ให้แก่ นายกอนซาลเวสในฐานะนักประดิษฐ์
และ Cornell Research Foundation, Inc. ซึ่งเป็นหน่วยงานของมหาวิทยาลัยในฐานะเจ้าของสิทธิบัตรแล้ว ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2549 ความพยายามในการจดสิทธิบัตรของนายกอนซาลเวส และมหาวิทยาลัยคอร์แนลได้รับการคัดค้านจากนักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนอย่างกว้างขวางตั้งแต่ปี 2548 โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้นได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อติดตามเรื่องนี้ โดยคณะทำงานชุดดังกล่าวมีความเห็นให้คัดค้านการจดสิทธิบัตรดังกล่าว แต่กระทรวงเกษตรฯในขณะนั้นกลับมิได้ดำเนินการใดๆ
สิทธิบัตรดังกล่าวครอบคลุม การแยกและจำแนกยีนจากโปรตีนหุ้มไวรัสใบด่างจุดวงแหวนมะละกอ(coat protein of papaya ringspot virus)สายพันธุ์ในประเทศไทย การใช้ไวรัสดังกล่าวเพื่อสร้างการต้านทานโรคไวรัสในมะละกอ สิทธิบัตรนี้ยังให้สิทธิผูกขาดแก่เจ้าของสิทธิบัตรเมื่อมีการนำไวรัสนี้ไปใช้
ในการพัฒนาพันธุ์พืชอื่นๆทั้งหมด รวมข้อถือสิทธิ์(Claims) ทั้งหมด 51 รายการ ซึ่งจะส่งผลให้มะละกอดัดแปลงพันธุกรรมที่กระทรวงเกษตรฯทำวิจัยในประเทศไทยทั้งหมดในประเทศไทยกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของนายเดนนิส กอนซาลเวส และมหาวิทยาลัยคอร์แนล กรรมสิทธิ์นี้ยังครอบคลุมไปถึงมะละกอสายพันธุ์ท้องถิ่นอื่นๆที่ผสมข้ามกับมะละกอดัดแปลงพันธุกรรม รวมไปถึงกรรมสิทธิ์ในพันธุ์พืชตระกูลแตง มะเขือเทศ และพืชอื่นๆทั้งหมดที่นำเอายีนจากไวรัสใบด่างจุดวงแหวนสายพันธุ์ไทยไปใช้ประโยชน์ด้วย
เกษตรกรและแม้กระทั่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็ได้รับผลกระทบด้วยเพราะอาจถูกเรียกเก็บค่าสิทธิบัตรสูงถึง 35 % ของยอดขายจากผลิตภัณฑ์หากพบว่าเกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรที่เขาจดเอาไว้ การที่รัฐบาลสหรัฐฯอนุญาตให้มีการจดสิทธิบัตรดังกล่าวถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหาร ละเมิดอธิปไตยของประเทศไทย
และเป็นการละเมิดอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ระบุให้ทรัพยากรชีวภาพภายใต้ดินแดนของประเทศใดต้องอยู่ภายใต้สิทธิอธิปไตยของประเทศนั้น
ไบโอไทยเสนอแนะให้รัฐบาลไทยดำเนินการเรียกร้องต่อสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าของสหรัฐ
(USPTO) และต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ให้มีการเพิกถอนสิทธิบัตรดังกล่าวโดยทันที
ทั้งนี้โดยให้ตั้งคณะทำงานชุดพิเศษเพื่อพิจารณาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน
รวมทั้งติดตามสอบสวนสาเหตุว่าเหตุใดจึงไม่สามารถป้องกันมิให้มีการจดสิทธิบัตรดังกล่าวได้
ทั้งๆที่ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการในเรื่องนี้เอาไว้แล้วในสมัยนายสมศักดิ์
เทพสุทินเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ผู้อำนวยการไบโอไทยยังชี้ว่า “การปล่อยให้สหรัฐอเมริกาจดสิทธิบัตรไวรัสใบด่างจุดวงแหวนได้โดยไม่มีการดำเนินการคัดค้านใดๆของรัฐบาลไทย จะเป็นแบบอย่างให้บรรษัทข้ามชาติ และนักวิจัยจากต่างประเทศแห่เข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ สมุนไพร และภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยอย่างขนานใหญ่ รัฐบาลนี้ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าสามารถปกป้องทรัพยากรชีวภาพและอธิปไตยของประเทศให้ได้ดีกว่ารัฐบาลที่ผ่านมา เพราะในสมัยรัฐบาลที่แล้วนั้น ผู้นำของรัฐบาลไทยได้ยื่นหนังสือช่วยจำต่อประธานาธิบดีของสหรัฐเพื่อคัดค้านการที่สหรัฐดำเนินการวิจัยข้าวหอมมะลิและไทยหวั่นเกรงว่าจะมีการจดสิทธิบัตรจากพันธุ์ข้าวที่พัฒนาจากข้าวหอมมะลิของไทย”
อนึ่ง สาเหตุของการจดสิทธิบัตรครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2537 เมื่อกรมวิชาการเกษตรส่งนักวิชาการสองคนของไทยนำมะละกอแขกดำและแขกนวลรวมทั้งไวรัสใบด่างจุดวงแหวนสายพันธุ์ไทยที่รวบรวมจากประเทศไทยไปวิจัยที่สหรัฐอเมริกา ในห้องปฎิบัติการของมหาวิทยาลัยคอร์แนล ภายใต้การอำนวยการของ ดร.เดนนิส
กอนซาลเวส
ต่อมามะละกอซึ่งผ่านการตัดต่อพันธุกรรมที่ห้องปฏิบัติการดังกล่าวได้ถูกนำกลับมายังประเทศไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2540 และถูกนำไปปลูกทดสอบในระดับไร่นา (Field Trial) เมื่อปี 2542 ข่าวคราวของมะละกอจีเอ็มโอเป็นข่าวสำคัญอีกครั้งในปี 2547 เมื่ออาสาสมัครของกรีนพีซบุกเข้าไปทำลายแปลงทดลองที่ จ.ขอนแก่น หลังจากพบการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอในพื้นทีใกล้เคียงกับสถานีทดลองและพื้นที่อื่นๆ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) — 089 449 7330
ดร.เจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดี ม.ศิลปากร — 081 566 7545

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ