กรุงเทพฯ--20 ก.พ.--สวทช.
การค้นหา ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ นับเป็นหนึ่งในเป้าหมายของนักดาราศาสตร์ทั่วโลก ที่ต่างเฝ้ามองท้องฟ้าเพื่อหวังว่าจะได้เจอดาวเคราะห์คล้ายโลกในอีกไม่ช้า และคงจะดีไม่น้อยหากเด็กไทยมีโอกาสได้ขึ้นทำเนียบเป็นผู้ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะสักครั้ง โดยเมื่อเร็วๆนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้สนับสนุนตัวแทนคณะยุววิจัยดาราศาสตร์จำนวน 7 คน จากศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) เข้าร่วมสังเกตการณ์ค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ตามคำเชิญของหอดูดาวออพเซอร์วาทัว เดอ โอ๊ต โปรวองส์ (Observatoire de Haute-Provence : OHP) หอดูดาวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีชื่อเสียงในการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (Exoplanet) ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ชื่อ 51 เปกัสซี (Pegasi) เป็นรายแรกของโลกเมื่อปี พ.ศ.2538
ดร.มิเชล บัวร์ (Dr.Michel Boer) ผู้อำนวยการหอดูดาวออพเซอร์วาทัว เดอ โอ๊ต โปรวองส์ กล่าวถึงที่มาของการเชิญเด็กไทยครั้งนี้ว่า รู้สึกชื่นชมเด็กไทยที่มีการศึกษาวิจัยดาราศาสตร์ในระดับสูง มีการใช้ข้อมูลทางสเปคตรัมของหอดูดาวในการศึกษาองค์ประกอบของดาวฤกษ์ ซึ่งแม้ว่าอุปกรณ์ที่ใช้จะต่างกัน แต่ก็มีความตั้งใจและผลงานวิจัยที่น่าชื่นชมไม่แพ้นักดาราศาสตร์เลยทีเดียว
“ การมาเยือนครั้งนี้เด็กๆจะได้เห็นระบบการทำงานของหอดูดาวอย่างครบวงจร ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.93 เมตร ซึ่งต่อกับเครื่องสเปคโตรกราฟที่ชื่อว่า โซฟี (SOPHIE) เพื่อค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ อีกทั้งยังได้ทำความรู้จักกับโครงการต่างๆที่หอดูดาวกำลังดำเนินการอยู่เพื่อเปิดมุมมองและแนวคิดใหม่ๆในงานวิจัยด้านดาราศาสตร์ ได้แก่ การวัดขนาดของดาวเคราะห์ด้วยวิธีการแทรกสอดของคลื่นแสง (interferometry) ในโครงการอินเตอร์เฟอโรเมตรี แครินา (interferometry CARLINA) ซึ่งทุกกิจกรรมจะมีนักดาราศาสตร์คือ ดร. แอร์เว่ เลอ กอรอเล่ (Dr.Herve) และ ดร.เดนี จิเล่ (Dr.Denis Gilet) คอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด โดยหวังว่ากิจกรรมทั้งหมดจะช่วยสร้างความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ เพื่อนำไปใช้ต่อยอดในงานวิจัยที่ประเทศไทยได้มากขึ้น”
“น้องแชมป์” หรือ นายทวีวัฒน์ สมบูรณ์ปัญญากุล นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ กล่าวว่า การได้มาหอดูดาวโอเอชพีครั้งนี้รู้สึกประทับใจมาก เพราะ การได้ค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาด 1.93 เมตร ที่เชื่อมกับเครื่องเสปคโตกราฟโซฟี ร่วมกับนักดาราศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญนับเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากยิ่ง
“ การค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ นักดาราศาสตร์จะเริ่มต้นจากการมองหาดาวฤกษ์ที่คาดว่าน่าจะมีดาวเคราะห์โคจรอยู่ แล้วจึงติดตามถ่ายภาพของสเปคตรัมของดาวฤกษ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามดูว่ามีการเลื่อนของแถบสเปคตรัมที่เรียกว่า ปรากฏการณ์ดอปเปลอร์ (Doppler Shift) หรือไม่ หากนักดาราศาสตร์พบการส่ายของเส้นสเปคตรัมที่มีทั้งการเลื่อนเข้าเลื่อนออกซึ่งบ่งชี้ว่า อาจจะมีวัตถุบางอย่างโคจรรอบดาวฤกษ์อยู่ นักดาราศาสตร์จะนำข้อมูลของแถบสเปคตรัมมาทำการวิเคราะห์ เพื่อหาธาตุองค์ประกอบและหาจุดศูนย์กลางมวลในการโคจรของวัตถุนั้นเพื่อตรวจสอบว่าใช่ดาวเคราะห์หรือไม่ ทั้งนี้หากเป็นดาวเคราะห์ จุดศูนย์กลางมวลจะอยู่ใกล้ดาวฤกษ์มากๆ แต่ถ้าเป็นดาวคู่ที่มีมวลเท่ากันจุดศูนย์กลางมวลจะอยู่ไกลออกจากดาวฤกษ์มากกว่า ซึ่งทักษะและความรู้ที่ได้ครั้งนี้จะนำไปสานต่องานวิจัยเกี่ยวกับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะในประเทศไทยต่อไป ”
ด้าน “น้องชมพู่” หรือ นางสาวรังสิมา คงทวีกุล นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนศึกษานารี กล่าวว่า กิจกรรมที่ชอบมาก คือ โครงการอินเตอร์เฟโรมิตรี แครินา เพราะช่วยเปิดกว้างทางความคิด ทำให้รู้สึกว่าดาราศาสตร์ไม่ได้ไกลตัวไปมากกว่าไปกว่าทฤษฎี หากเราเข้าใจหลักการพื้นฐานก็สามารถใช้อุปกรณ์ที่ไม่ได้มีต้นทุนสูงมาถ่ายภาพดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะได้
“โครงการอินเตอร์เฟโรมิตรี แครินา มีแนวคิดมาจากนักดาราศาสตร์ที่ต้องการจะเห็นรายละเอียดของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะให้มากขึ้น เนื่องจากดาวเคราะห์มักอยู่ใกล้ดาวฤกษ์ที่มีแสงสว่างมาก ทำให้ยากต่อมองเห็น เขาจึงนำหลักการแทรกสอดของคลื่นแสงมาใช้ ด้วยการใช้กระจกขนาดเล็กหลายๆ บานมาเรียงต่อกันบนพื้นดิน แทนการใช้กระจกใหญ่ๆของกล้องโทรทรรศน์เพียงตัวเดียว ซึ่งไม่เพียงช่วยรวมแสงและทำให้มีกำลังแยกภาพมากขึ้นแล้ว กระจกทั้งหมดยังเลือกปิดหรือเปิดเฉพาะบางบาน เช่น เปิดกระจกสองบานที่มีระยะห่างกันอย่างเหมาะสม จนทำให้แสงเกิดการแทรกสอดกันในลักษณะที่เสริมกัน หรือหักล้างกัน เพื่อลบความสว่างของดาวฤกษ์ออกไปและทำให้เห็นดาวเคราะห์ได้ในที่สุด จากนั้นแสงดังกล่าวจะถูกสะท้อนเข้าสู่กระจกชิ้นที่สอง ที่จะทำหน้าที่แยกภาพและส่งเข้าสู่เครื่องรับภาพ CCD ซึ่งติดกับแพรูปทรงพีระมิดซึ่งยึดติดกับบอลลูนยักษ์ที่ลอยอยู่บนฟ้าไว้ โดยล่าสุดทีมนักดาราศาสตร์ได้ทดลองใช้กระจกเพียงสองบานถ่ายภาพดาวเวก้า (Vega) หนึ่งในสิบอันดับดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดและอยู่ใกล้เราที่สุดได้สำเร็จแล้ว นับเป็นสิ่งที่น่าทึ่งมากและเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เชื่อมั่นว่า ถ้าเรามีความตั้งใจจริง กล้าที่จะคิด กล้าที่จะทำ เราก็ต้องทำได้เช่นกัน ”
ขณะที่ “น้องแนนซี่” หรือ นางสาวลลิตวดี กวิณวนิชกิจ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การมาครั้งนี้ทำให้ได้องค์ความรู้ใหม่ๆเกี่ยวกับ กระบวนการแปลผลจากภาพเป็นข้อมูลเพิ่มมากขึ้น ได้เห็นขั้นตอนตั้งแต่การสั่งกล้อง ถ่ายภาพ และเทคนิคการจัดการภาพ การประมวลผลก่อนที่จะนำมาใช้มาทำวิจัย ที่สำคัญยังได้เห็นชีวิตการทำงานของนักดาราศาสตร์ ที่ต้องทุ่มเทและมีความพยายามในการเฝ้ารออย่างมาก กว่าจะมีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะสักดวงหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้วิธีการวัดขนาดของดาวเคราะห์จากการใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาด 80 เซนติเมตร ซึ่งวิทยากรได้สอนเริ่มตั้งแต่หลักการจนถึงการปฏิบัติ เพื่อให้เข้าใจ และนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้จริง
น.อ.ฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า การมาร่วมสังเกตการณ์ที่หอดูดาวโอเอชพี ทำให้นักเรียนเกิดความมั่นใจ และภูมิใจในตัวเอง กล้าที่จะเรียนรู้ในสิ่งแปลกใหม่ ได้เห็นการทำงานของนักดาราศาสตร์อย่างใกล้ชิด ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจที่ดีให้นักเรียนก้าวสู่การเป็นนักดาราศาสตร์มืออาชีพในอนาคต อีกทั้งการมาครั้งนี้ยังเป็นโอกาสที่ดีในการเชื่อมความสัมพันธ์ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดทางหอดูดาว ออพเซอร์วาทัว เดอ โอ๊ต โปรวองส์ มีความยินดีเชิญตัวแทนนักเรียนไทยให้เข้าร่วมสังเกตการณ์อีกครั้งในปีหน้า ที่สำคัญทางหอดูดาวยังเอื้อเฟื้อข้อมูลดาราศาสตร์ให้ครูและนักเรียนในประเทศไทยได้นำมาใช้ฝึกทำงานวิจัย ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในผลงานที่จะใช้นำเสนอในเวทีประชุม Junior Session in the Astronomical Society ที่ประเทศญี่ปุ่นในปีถัดไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย ที่ 02-5647000 ต่อ 1461 ,1462 : thaismc@nstda.or.th