กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--สวทช.
สวทช. เปิดตัว เครือข่าย ITAP — ม.วลัยลักษณ์ ระดมผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแก่ผู้ประกอกบการ 8 จังหวัดภาคใต้ตอนบนภายใต้ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ ดึงนักวิชาการลงแก้ปัญหาโจทย์จริงถึงโรงงาน พร้อมเล็งพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์แปรรูปอาหารทะเล เพื่อสร้างความเข้มแข็งแบบครบวงจรเป็นเป้าหมายกลุ่มแรก
ปัจจุบัน “ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้” หรือ Knowledge Besed Economy เข้ามามีบทบาทในการปรับเปลี่ยนวิถีทางการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ สถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานภาครัฐถือเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการช่วยผลักดันให้การพัฒนาดังกล่าวมีความเข้มแข็งและยั่งยืน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่การพัฒนานั้นจะต้องดำเนินการหลายๆ ด้านไปพร้อมๆ กันทั้งทางด้านบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญ และงานวิจัย ตลอดจนผู้ประกอบการเอกชนที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ในฐานะเครือข่ายโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย ( ITAP) แห่งที่ 2 ร่วมกับศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ได้จัดงานเปิดตัวโครงการ ITAP อย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังจากที่ได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายITAP ตั้งแต่ปี 2546 โดยได้มีการสัมมนา “โอกาสกับความท้าทาย...สู่การเป็นที่ปรึกษา SMEs” ขึ้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2549 ที่ผ่านมา
ศาสตร์จารย์ ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) กล่าวว่า เนื่องจากในยุคโลกาภิวัฒน์ มีการแข่งขันสูง และมีการพูดกันว่าเศรษฐกิจจะยั่งยืนได้จะต้องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ หรือสังคมฐานความรู้ หมายถึงเราจะต้องสร้างรายได้จากความรู้ นั่นคือ การขายความรู้ ไม่ใช่ขายแรงงาน หรือการขายทรัพยากรธรรมชาติ แต่เศรษฐกิจที่ดีและยั่งยืนได้จะต้องมีทั้ง 2 ส่วน คือ นักวิจัยและนักธุรกิจ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ฉะนั้น การบริหารจัดการเทคโนโลยีจึงเป็นการทำให้วงจรดำเนินไปอย่างต่อเนื่องได้และมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีการพัฒนากลไกต่างๆ ขึ้นมาเพื่อช่วยสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ในทุกระดับของสังคม
ดร.สุพัทธ์ พู่ผกา อธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) กล่าวว่า “การพัฒนาไม่สามารถหยุดนิ่งได้ และจำเป็นจะต้องนำความรู้และความเชี่ยวชาญของแต่ละด้านมาพัฒนาให้ดีขึ้น มิเช่นนั้นจะแข่งขันกับใครไม่ได้ และการจะพัฒนาองค์ความรู้มากมายที่นำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมโดยตรงนั้น จำเป็นต้องมีหน่วยงานกลางอย่างศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ของ สวทช. ซึ่งถือเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งชาติ ที่จะช่วยพัฒนาระดับความสามารถทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรม และเชื่อมโยงความเชี่ยวชาญ ความรู้ ความเข้าใจระหว่างผู้ประกอบการ กับนักวิจัย ดำเนินงานโดยผ่านโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย หรือ ITAP ที่มีเครือข่ายกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของไทย”
โครงการ ITAP เป็นหน่วยงานที่จะช่วยในการประสานความรู้ ความเชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย คณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ ไปสู่ผู้ประกอบการ หรือ ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากเพื่อช่วยเหลือให้อุตสาหกรรมของไทยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้แล้ว ผู้ประกอบการยังได้รับการสนับสนุนด้านค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น โดย ITAP ให้การสนับสนุนถึง 50% ของงบประมาณโครงการ ขณะเดียวกันยังเป็นหน่วยงานที่มีกลไกที่จะช่วยในการจัดการเพื่อให้สามารถนำความรู้ไปใช้ หรือ เพิ่มเติมความรู้ในสาขาวิชาของตนเองได้จากการเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาโครงการITAP
อธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ นับเป็นโอกาสดีที่ได้จัดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างคณาจารย์ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน และเครือข่ายITAP ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในแนวทางที่จะนำประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีไปช่วยพัฒนาความสามารถของอุตสาหกรรมไทย ซึ่งจะช่วยให้ประเทศสามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ ดังนั้น การพัฒนาตนเองให้เป็นที่ปรึกษา หรือ ผู้เชี่ยวชาญของโครงการ ITAP จะเป็นวิธีทางที่ดีสำหรับอาจารย์ ที่จะได้เข้าไปศึกษาปัญหาจริงถึงโรงงาน ทำให้เพิ่มพูนความรู้ เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ และนำประสบการณ์มาถ่ายทอดแก่นักศึกษา ทำให้การสอนหนังสือสนุกยิ่งขึ้น และสามารถนำโจทย์จริงในภาคอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้มาพัฒนางานวิจัยของตนเอง จึงหวังอย่างยิ่งว่า การสัมมนาครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติได้ในที่สุด”
ด้าน ดร.วันสุรีย์ พรหมภัทร ผู้จัดการโครงการ ITAP เครือข่ายมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการรองรับความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ต้องการพัฒนาตนเอง ประกอบกับปัจจุบันสถาบันการศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนมีจำนวนเพิ่มขึ้น จึงต้องการระดมนักวิชาการเข้ามาร่วมเป็นที่ปรึกษา ITAP เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ให้มากขึ้น และในโอกาสนี้ยังเป็นการเผยแพร่ให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ได้รับทราบถึงบริการ และกิจกรรมต่างๆ ของโครงการ ITAP ที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนในการพัฒนาเทคโนโลยี ตลอดจนผลประโยชน์ต่างๆ ที่ผู้ประกอบการจะได้รับจากการเข้ามารับบริการในโครงการ ITAP
“ ขณะนี้ เริ่มมีอุตสาหกรรมให้ความสนใจติดต่อเข้ามาขอรับความช่วยเหลือและสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวิสาหกิจ แต่ปัจจุบันเริ่มมีกลุ่มเอสเอ็มอีให้ความสนใจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคลัสเตอร์แปรรูปอาหารทะเลที่ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้ให้ความสนใจที่จะเข้าไปพัฒนากลุ่มดังกล่าวให้เกิดเอกภาพ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องหลายกลุ่มด้วยกัน แต่ที่ผ่านมาขาดการรวมกลุ่ม ไม่มีการประสานประโยชน์ระหว่างกลุ่ม เพราะต่างคนต่างทำ ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยฯ จึงเล็งเห็นปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการ เตรียมนำกิจกรรม ITAP เข้าไปช่วยเหลือและสนับสนุนการพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มคลัสเตอร์แปรรูปอาหารทะเล ตั้งแต่ผู้ประกอบการต้นน้ำ ถึงผู้ประกอบการปลายน้ำ แบบครบวงจร อาทิ อุตสาหกรรมบรรจุอาหารทะเลกระป๋องเพื่อส่งออก, อุตสาหกรรมผลิตน้ำแข็ง, อุตสาหกรรมแพปลา รวมไปถึงวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตกะปิ , กุ้งแห้ง และ ปลาแห้ง เป็นต้น คาดว่า ภายใน 1 — 2 เดือนนี้จะมีความชัดเจนขึ้น” ดร.วันสุรีย์ กล่าว