กรุงเทพฯ--20 ก.พ.--กรมการค้าต่างประเทศ
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่าหลังจากที่องค์กรระงับข้อพิพาทของ WTO ได้ตัดสินคดีกุ้งแช่แข็งให้ไทยชนะสหรัฐฯในประเด็นการคำนวณส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดที่ไม่เป็นธรรมโดยใช้วิธี Zeroing ซึ่งเป็นวิธีการคำนวณโดยให้ธุรกรรมที่มีค่าติดลบหรือไม่แสดงผลว่าเป็นการทุ่มตลาดให้มีค่าเป็นศูนย์ เป็นผลให้ส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดมีอัตราสูงขึ้นโดยสหรัฐฯต้องปรับแก้ไขวิธีการคำนวณใหม่ที่ไม่ใช้วิธี Zeroing ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มกราคม 2552 และจากการปรับแก้ไข สหรัฐฯได้ประกาศผลการพิจารณาขั้นสุดท้ายว่าอัตราอากร AD ของกลุ่มบริษัทรูบิคอน(The Rubicon Group) และบริษัทไทย-เอกมัยห้องเย็น จำกัด ลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายสหรัฐฯกำหนด (de minimis) และหลุดพ้นจากการถูกใช้มาตรการ AD ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังทำให้อัตราอากร AD ของบริษัทอื่นๆ (All other rates) ปรับลดต่ำลงจากเดิมอัตราร้อยละ 5.95 เหลือร้อยละ 5.34 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2552 ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับ การส่งออกสินค้ากุ้งแช่แข็งของไทยไปตลาดสหรัฐฯ
ตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสินค้ากุ้งแช่แข็งอันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 51.31 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย โดยในปี 2551 ไทยส่งออกสินค้ากุ้งไปสหรัฐฯมูลค่าประมาณ 43,175 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.52 จากปี 2550 ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ 42,528 ล้านบาท การที่สหรัฐฯ ปรับลดอัตราอากร AD กุ้งจากไทยในขณะที่สหรัฐฯประสบวิกฤตเศรษฐกิจ คาดว่าจะทำให้ปริมาณและมูลค่าการส่งออกกุ้งแช่แข็งของไทยไปยังสหรัฐฯปี 2552 ขยายตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม กรมการค้าต่างประเทศขอย้ำเตือนผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทย ให้ระมัดระวังการขาย และให้ความสำคัญกับการกำหนดราคาส่งออกที่เหมาะสมเพื่อมิให้สินค้าไทยตกเป็นเป้าของการถูกใช้มาตรการทางการค้าทั้งในตลาดสหรัฐฯและตลาดอื่นๆอีกในอนาคต รวมทั้งควรติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวในวงการค้า และสถานะของอุตสาหกรรมภายในของประเทศผู้นำเข้าอย่างใกล้ชิดเพื่อรักษาและขยายตลาดให้ยั่งยืนต่อไป