เยาวชน “สำนึกรักบ้านเกิด”สำนึกแห่งความสมานฉันท์...การอยู่ร่วมกันด้วยรักแห่งความแตกต่างภาคประชาชน

ข่าวทั่วไป Tuesday April 26, 2005 11:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--ดีแทค
เยาวชนโครงการสำนึกรักบ้านเกิดฯ แสดงพลังหัวใจแห่งรักและสมานฉันท์ ลงพื้นที่ปัตตานี ส่งมอบอาคาร “สำนึกรักบ้านเกิด ๓” อาคารเรียนศาสนาอิสลามสำหรับเด็กเล็กหรือ “ตาดีกา” ให้กับพี่น้องมุสลิม เชื่อความแตกต่างไม่ใช่เส้นแบ่งคั่นความตั้งใจดีของเพื่อนร่วมชาติ
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังคุกรุ่นด้วยกระแสความไม่สงบของ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวแทนเยาวชนโครงการสำนึกรักบ้านเกิดเพื่อพัฒนาผู้นำชุมชนจากทุกภาคของประเทศจำนวน ๒๐ คน รวมตัวกันและเดินทางไปแสดงพลังแห่งความรักและความตั้งใจที่ดีต่อพี่น้องร่วมชาติ เพื่อเป็นการยืนยันถึงความเป็นหนึ่งเดียวกัน ในการส่งมอบอาคารสำนึกรักบ้านเกิด ๓ ซึ่งเกิดจากการร่วมมือของมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด ดีแทค และมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายนที่ผ่านมา ณ มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี
นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด และประธานคณะกรรมการบริษัท บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น กล่าวว่า โครงการสำนึกรักบ้านเกิดฯ เกิดขึ้นในปี ๒๕๔๑ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมสองกิจกรรมที่ตั้งใจทำให้สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันได้แก่โครงการสำนึกรักบ้านเกิดเพื่อผู้นำชุมชน (ในด้านเศรษฐกิจ) และโครงการสหกรณ์บริการ ซ้อนบนรายการวิทยุร่วมด้วยช่วยกันทั่วประเทศ ตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๓ คือ “ทุนใหญ่ช่วยทุนเล็ก” เยาวชนทุกคนคือพืชพันธุ์อันดีงามของสังคม และจะเชื่อมโยงกันให้สังคมมีสันติสุข ไม่ว่าจะเกิดที่ใด จังหวัดใด แผ่นดินนี้เป็นแผ่นดินเกิดของพวกเรา เป็นแผ่นดินที่ทุกคนรัก ดีใจที่ได้เห็นความตั้งใจดีของเยาวชนในโครงการ การที่พวกเขาซึ่งมาจากทุกจังหวัดมารวมกันก็ย่อมมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่การที่พวกเขาได้ผ่านการหล่อหลอมรวมกันจากการทำกิจกรรมต่างๆ ในโครงการ ก็ก่อให้เกิดความรักและความปรารถนาดีต่อกันโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ซึ่งเป็นที่มาของการทำกิจกรรมในครั้งนี้
“พวกเขามีความตั้งใจที่ดีที่จะประกาศว่าพวกเขาซึ่งเป็นกลุ่มคนตัวเล็กๆ มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างไม่มีอะไรมาแบ่งกั้น เราภูมิใจที่เห็นเขามีความคิดต่อสังคม ต่อเพื่อนร่วมชาติ และการมาทำสิ่งดีๆ ร่วมกันที่ปัตตานีในครั้งนี้ก็จะเป็นสัญลักษณ์ของการรวมใจที่หวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาของประเทศเรา” ประธานกรรมการมูลนิธิสำนึกบ้านเกิดกล่าว
นายพิทักษ์ สร้อยคำ หรือน้องแอ๊น เยาวชนโครงการสำนึกรักบ้านเกิดฯ ชั้นปริญญาตรีปีที่ ๑ จากจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ตนเกิดและเติบโตในประเทศไทยแต่ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งเป็นปัญหามาจากกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่ทำไมถึงอยู่และจะอยู่ตลอดไป อยู่อย่างมีคุณค่า เพื่อพัฒนาสังคมไทย เพราะสังคมนี้ ประเทศไทยนี้ ผืนแผ่นดินนี้ ให้ความรัก ความอบอุ่น ให้ที่พักพิง ตนจะรอวันที่กระบวนการทางสังคม ทางระบบระเบียบทางกฎหมายต่างๆ ให้โอกาส จะต่อสู้ต่อไปหลังจากที่ได้สู้มาจนถึงระดับนี้แล้ว
“ผมเองก็ดิ้นรนมาตลอดตั้งแต่เข้า ป.๑ จนถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าเรื่องของความสมานฉันท์บนความแตกต่างนั้นเป็นแนวคิดที่ผมเห็นว่า ถ้าเรามี ๑ อีกคนมีอีก ๑ เมื่อเอามารวมกันจะได้ ๒ ยกตัวอย่างเช่น ผมมาจากเชียงใหม่ เป็นคนเชียงใหม่ กับภาคใต้อย่าง จ.ปัตตานีนั้นมีความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมกันมาก แต่เราสามารถแชร์กันได้ อย่างในโครงการสำนึกรักบ้านเกิดนั้น คนใต้จะชอบคนเชียงใหม่มาก คนเชียงใหม่ก็ชอบคนใต้มาก ก็จะมาแชร์ความรู้สึกกัน ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ดีมากๆ และรู้สึกรักใคร่ปรองดองกันกับคนในโครงการ นี่ก็เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ของการอยู่ร่วมกันด้วยความแตกต่างครับ”
นายโกสินทร์ ประหยัด หรือ น้องโก เยาวชนโครงการสำนึกรักบ้านเกิดฯ จังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า การมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ซึ่งเป็นการรวมใจเยาวชนจากทุกภาคโดยส่วนตัวก็รู้สึกเห็นอกเห็นใจพี่น้องชายแดนภาคใต้ คิดว่าพวกเขาก็คนไทย เราก็คนไทย ไม่อยากแบ่งแยก อยากให้มีโอกาสเท่าเทียมกัน อยากช่วยเหลือเพื่อนคนไทยด้วยกัน เพราะคิดเสมอว่าพวกเราอยู่ใต้ร่มโพธิสมภารเดียวกัน ถึงแม้ว่าในบางเรื่องจะแตกต่างกันบ้าง แต่อยากให้สิ่งที่เราตั้งใจจะไปทำในครั้งนี้เป็นสื่อกลางเพื่อเชื่อมความแตกต่างนั้นให้เป็นหนึ่งเดียวโดยไม่แบ่งแยก และไม่รู้สึกว่าแตกต่าง แต่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้การเกื้อกูลกันของคนไทยทั้งชาติ
นายศิริ กลิ่นจันทร์ หรือ น้องเพชร เยาวชนโครงการสำนึกรักบ้านเกิดฯ จังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า อยู่ในโครงการสำนึกรักบ้านเกิดฯมา ๕-๖ ปีแล้ว ได้ร่วมกิจกรรมกับมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิดในหลายๆ กิจกรรม ซึ่งในโครงการก็จะมีเยาวชนหลายจังหวัด หลายศาสนา หลายเชื้อชาติ ทำให้ทุกคนได้เรียนรู้ในการใช้ชีวิตของทุกศาสนา เมื่อมาทำกิจกรรมเดียวกันก็เกิดความผูกพันและเกิดกิจกรรมดีๆ ขึ้นมา และเมื่อได้ลองศึกษาในเรื่องของศาสนา เรื่องวัฒนธรรมมุสลิมในต่างแดนและปัญหาความขัดแย้งในสถานการณ์โลก ไม่ว่าจะในแคชเมียร์ ปาเลสไตน์ หรือในอัฟกานิสถานก็ตาม ในสังคมโลกภายนอกกำลังเกิดความยุ่งเหยิงนั่นคือทุกคนสู้รบโดยใช้เรื่องของศาสนามาเป็นข้ออ้างในการสร้างสถานการณ์ให้เกิดขึ้น ซึ่งบางทีมันทำให้เกิดความเปราะบางขึ้นในบางศาสนา ในการที่มองภาพมาทำให้คิดว่ามุสลิมเป็นอย่างนี้เป็นอย่างนั้น มีความคิดเห็นรุนแรง ทุกวันนี้การสู้รบต่างๆ มันไม่เหมือนกับการสู้รบในอดีตที่สู้รบเพื่อศาสนา แต่ทุกวันนี้มันเป็นเรื่องของผลประโยชน์มหาศาลที่ซ่อนเร้นอยู่ สิ่งที่อยากจะเห็นก็คือประเทศไทยของเราเป็นตัวอย่างที่ทำให้ประเทศอื่นรู้ว่าความเป็นอยู่ของประเทศไทยเรามีศาสนาหลักคือศาสนาพุทธ และมีศาสนารองลงมาคือศาสนาอิสลาม มีการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ไม่เหมือนอย่างพวกในฟิลิปปินส์ ที่มีการกบฏ และเกิดเหตุการณ์ต่างๆ หรืออย่างในอินโดนีเซีย ก็อยากจะเห็นชาวมุสลิมทุกคนมาทำกิจกรรม และทำให้ชาวโลกในประเทศอื่นเห็นว่า พวกเรามุสลิมชาวไทยสามารถอยู่ร่วมกับศาสนาอื่นและมีการรวมตัวกันเป็นประเทศอย่างสงบสุข ประเทศไทยเราเองก็มีองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงใส่พระทัย ดูแลทุกศาสนา ก็หวังอยากจะเห็นวันหนึ่งของเมืองไทยที่จะเป็นตัวอย่างของประเทศที่จะอยู่กันในหลายความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนา รวมอยู่กันอย่างมีความสุข
นางสาวรุสลีซา กือจิ หรือน้องยา เยาวชนโครงการสำนึกรักบ้านเกิดฯ ชั้นปริญญาตรีปีที่ ๓ จากจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นผู้ประสานงานโครงการในพื้นที่เปิดเผยว่า ดีใจมากๆ และขอขอบคุณมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิดและดีแทค ที่เห็นความสำคัญของพี่น้องชาวมุสลิม ไม่มีการแบ่งแยกเรื่องศาสนาแต่มีแนวคิดว่าทุกคน ทุกชาติ ทุกศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้ นี่ก็ถือว่าเป็นความโชคดีของพี่น้องชาวมุสลิมอย่างมาก เพราะการสร้างโรงเรียนสำหรับเด็กเป็นสิ่งสำคัญมาก พี่น้องชาวมุสลิมถือว่าเด็กๆ ก่อนวัยเรียนที่เป็นมุสลิมต้องมีรากฐานที่ดี ต้องได้รับการสอนในเรื่องของศาสนา ซึ่งเรียกว่าโรงเรียนตาดีกาคือเป็นที่ให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับศาสนาของเด็กก่อนวัยเรียนชาวมุสลิม
“เนื่องจากเราเป็นคนในพื้นที่เราย่อมรู้ในข้อเท็จจริงของปัญหาต่างที่เกิดขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องการความเสมอภาคและความสมานฉันท์เพื่อมาพิจารณาและแก้ปัญหาตรงนี้ ถ้ามองจากจุดเล็กๆ ความสมานฉันท์ที่เกิดขึ้น ขอยกตัวอย่างโครงการสำนึกรักบ้านเกิดที่ยาอยู่ เรามีพี่น้อง เพื่อนๆ เยาวชนจากจังหวัดต่างๆ ๙๙๙ คน ที่มาจากภาคต่างๆ ทุกคนล้วนแล้วแต่มีความแตกต่างทางด้านภาษา ศาสนา และ วัฒนธรรม แต่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ ทำกิจกรรมร่วมกันได้ ถึงจะหลายวัฒนธรรมก็อยู่ร่วมกันได้ อยากให้สังคมไทยเห็นความสำคัญจากจุดเล็กๆ ตรงนี้ เช่นเดียวกับอาคารสำนึกรักบ้านเกิด ๓ ที่เกิดขึ้นนี้ ถ้าเรามองภาพกว้างขึ้นอาคารนี้เกิดภายใต้โครงการกับองค์กรในพื้นที่ ครั้งนี้มูลนิธิได้ร่วมมือกับองค์กรคือองค์กรที่เป็นมุสลิม มันเป็นไปได้ยากที่องค์กรที่ไม่ใช่มุสลิมจะมาเห็นความสำคัญกับการศึกษาของเยาวชนมุสลิมที่ต่างศาสนากัน แต่สามารถมาสร้างความเข้าใจร่วมกันได้ นี่คือความสำคัญอีกประการหนึ่งของความสมานฉันท์บนความแตกต่าง ความแตกต่างนั้นก็คือองค์กรกับศาสนา อยากให้องค์กรอื่นมองตรงนี้ไว้เป็นแบบอย่าง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีโครงการกิจกรรมดีๆ อย่างนี้อีกหลายๆโครงการ” น้องยากล่าว
ด้าน นายหะยีรอย๊ะ หวันโส๊ะ รองอิหม่ามมัสยิดกลาง จ.ปัตตานี กล่าวว่า รู้สึกดีใจมาก ดีใจแทนเด็กๆ ที่จะได้มีอาคารเรียนอย่างถาวร ขอขอบคุณแทนทุกๆ คน มีน้อยองค์กรนักจะทำอย่างนี้ เนื่องจากบางคนจะคิดว่าเป็นคนละศาสนา คนละวัฒนธรรม จึงไม่อยากจะช่วย แต่สำหรับมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิดได้เข้ามาช่วยในส่วนนี้ก็เป็นความยินดีเป็นอย่างมาก เป็นการแสดงออกที่ถือว่าเป็นการสวนกระแสสังคมพอสมควร จากการมองของคนทั่วไป แต่ถ้าคิดในแง่ของเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกด้วยกัน การช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้วยความจริงใจ โดยไม่แบ่งแยกนั้นถือว่าเป็นสิ่งดี เป็นสิ่งที่ควรยกย่องอย่างมาก หากสังคมเรามีสำนึกที่ดีต่อกัน ประเทศชาติและโลกของเราก็จะอยู่กันอย่างสงบสุข
นายแวหะมะ แวกือจิ เลขานุการมัสยิดกลางฯ กล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือจากทางมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิดและดีแทคซึ่งเป็นภาคเอกชนและผู้คนส่วนใหญ่ที่ร่วมกิจกรรมเป็นชาวไทยพุทธก็รู้สึกขอบคุณอย่างลึกซึ้ง ในปัตตานีก็ถือว่าเป็นโครงการแรกที่เกิดกิจกรรมดีๆ แบบนี้ขึ้น ตอนนี้สังคมเกิดช่องว่างพอสมควร กิจกรรมนี้จะทำให้ความรู้สึกดีๆ เกิดขึ้นอีกครั้ง ศาสนาไม่ใช่อุปสรรค คิดว่าเป็นนิมิตหมายอันดี เป็นรูปธรรมความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากคนในภาคส่วนต่างๆ และคนในท้องถิ่น สำหรับอาคารนี้จะใช้ประโยชน์ใน ๓ ด้านคือ สำหรับการเรียนภาคศาสนา การพบปะพี่น้องต่างศาสนาที่เข้าอิสลาม และเป็นศูนย์ประชาคมให้กับชุมชน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
Perapong Klinla-or
DTAC
Corporate Communications Office
Tel: 662 202-8000 ext. 31820
Mobile: 01 710-9817
สามารถคลิกดูภาพได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ