ไทยเตรียมรับมือ “ไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่” หาก “ไข้หวัดนก” ปรับเปลี่ยนเป็น “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในคน”

ข่าวทั่วไป Monday February 23, 2009 07:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--กู๊ด มอร์นิ่ง มันเดย์ ไทยเตรียมรับมือ “ไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่” หาก “ไข้หวัดนก” ปรับเปลี่ยนเป็น “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในคน” การระบาดรวดเร็วรุนแรงทั่วโลกจะเริ่มขึ้นทันที ประเทศไทยและทั่วโลก ตื่นตัวเตรียมรับมือเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ (กลายพันธุ์) จากไข้หวัดนก (H5N1) ทำให้สามารถแพร่ติดต่อจากคนสู่คนได้ง่าย จะก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก และทำให้มี ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และการเจ็บป่วย เสียชีวิตของมนุษย์อย่างมาก โดยคาดว่า มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่มีความพร้อมในการรับมือต่อสู้กับโรคระบาดนี้ สืบเนื่องจากงานสัมมนาสื่อมวลชน ที่จัดขึ้นในโอกาสที่มีการจัดงานประชุมวิชาการผู้เชี่ยวชาญนานาชาติเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจในประเทศไทย โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขและการศึกษาด้านโรคติดเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจจากทั่วโลก เข้าร่วม ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โฮเต็ล แอนด์ ทาวเวอร์ (สี่พระยา) กรุงเทพฯ ได้มีการนำเสนอข้อมูลทางการแพทย์ เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และผลกระทบล่าสุดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H5N1 ซึ่งทำให้เกิดโรคไข้หวัดนก หรืออาจกลายพันธุ์เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ โดย ศาสตราจารย์แพทย์หญิงอุษา ทิสยากร กล่าวว่า “สิ่งที่น่าวิตกคือสถานการณ์ การติดเชื้อไข้หวัดนก H5N1 ทั้งในสัตว์และในคน ยังคงพบได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อใดที่เชื้อไวรัส H5N1 สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ติดต่อจากคนสู่คนได้ง่าย และคนทั่วไปยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส พันธุ์ใหม่นี้ จะทำให้มีผู้คนเจ็บป่วยและล้มตายเป็นจำนวนมาก จนเกิดการระบาดใหญ่ไปทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของชาติ” รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติม สถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่และการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยว่า “สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย เป็นที่น่ายินดีว่าประเทศไทยไม่มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกมาประมาณ 2 ปีกว่าแล้ว ถึงแม้จะมีการระบาดของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกในหลายจังหวัดของประเทศไทยตลอดมา ทั้งนี้คงเป็นผลจากการดำเนินงานที่มีประสิทธิผลที่ดียิ่งของทุกภาคส่วนในการดูแลสุขภาพของคนและสัตว์ มีการร่วมมือกันอย่างดี แต่อย่างไรก็ตามมิอาจที่จะประมาทได้ เพราะเชื้อไข้หวัดนก H5N1 เป็นเชื้อที่มีอยู่ประจำท้องถิ่นแล้ว ในอนาคตไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ระบาดใหญ่คงเกิดขึ้นแน่นอน แต่เกิดเมื่อไหร่? รุนแรงแค่ไหน? ไม่มีใครทราบ ถ้ามีไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่เกิดขึ้นแล้วผู้ที่จะประกาศว่าเป็นพื้นที่ระบาด คือ องค์การอนามัยโลก ซึ่งจะประกาศแจ้งไปทุกประเทศให้รับมือ ดังนั้น การเตรียมตัวก่อนการระบาดใหญ่ เพื่อลดความสูญเสียแก่สังคม และเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่แต่ละประเทศต้องมีแผนเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ สำหรับองค์กร หน่วยงาน และประชาชน เพื่อช่วยบรรเทาความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น” ประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่มาหลายปีแล้วโดยความร่วมมือของภาครัฐ ซึ่งมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นแกนนำร่วมกับกระทรวงอื่นๆที่เกี่ยวข้องทุกระดับรวมทั้งภาคเอกชน เพื่อให้มีการเตรียมตัวเองให้พร้อมในการรับมือกับโรคระบาด สำหรับด้านการแพทย์และสาธารณสุขนั้น ก็จะเป็นแกนนำหลักส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1. รู้เร็ว โดยทุกภาคส่วนทางการแพทย์ ต้องเฝ้าระวังตลอดเวลา 2. รักษา — ป้องกันเร็ว ทุกคนรวมทั้งแพทย์ พยาบาล ต้องดูแลรักษาผู้ป่วย ป้องกันตนเองและผู้อื่นไม่ไห้ติดเชื้อ ด้วยมาตรการต่างๆ รวมทั้งยาต้านไวรัส Oseltamivir, Zanamivir ฯลฯ 3. ควบคุมเร็ว มีระบบดูแลควบคุม และสุดท้าย คือวัคซีนสำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเสริฐ เอื้อวรากุล เปิดเผยว่า “ทั่วโลกยังไม่มีวัคซีนป้องกันการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ใช้ เนื่องจากต้องรอพิสูจน์จากองค์การอนามัยโลกก่อนว่าเชื้อไวรัสที่ระบาดใหญ่เป็นเชื้อสายพันธุ์ใด ซึ่งกว่าจะผลิตวัคซีนได้ต้องรอหลังจากที่ทราบเชื้ออย่างน้อย 6 เดือน แต่กว่าจะมีวัคซีนป้องกันการระบาดใหญ่ใช้ก็ต้องมีคนเจ็บป่วย และล้มตายเป็นจำนวนมากแล้ว ปัจจุบันจะมีเพียงวัคซีนที่ใช้ฉีดเพื่อเตรียมการไว้ก่อนการระบาดเพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น วัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีนสำหรับป้องกันเชื้อไวรัส H5N1 ซึ่งปัจจุบันได้มีผลการศึกษาในคนไทยเพื่อดูระดับภูมิคุ้มกัน และความปลอดภัยจากการใช้วัคซีนแล้ว สำหรับยาต้านไวรัสที่ใช้ในการรักษาไข้หวัดใหญ่ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้ คือยา Oseltamivir และ Zanamivir ซึ่งการใช้ยาต้องอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์เพื่อป้องกันปัญหาการดื้อยา” สื่อมวลชนที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ภรณ์ธณัฐ หรือ ฐิภา ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์ บริษัท กู๊ด มอร์นิ่ง มันเดย์ จำกัด โทร. 02-953-9624-5 ต่อ 801, 806

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ