เด็กอนุบาล VS การเรียนรู้วิทยาศาสตร์? ทำไมต้องสอนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ปฐมวัย

ข่าวทั่วไป Monday February 23, 2009 09:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--สสวท. ส่วนประชาสัมพันธ์ สสวท. (สินีนาฎ ทาบึงกาฬ) วิทยาศาสตร์เป็นยาขมสำหรับเด็ก ๆ จริงหรือ ? ถ้าเด็ก ๆ เรียนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจะยากเกินไปไหม ? ควรจะให้เด็ก ๆ อนุบาลเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างไร ? ........คำถามเหล่านี้ต่างพ่อแม่ผู้ปกครอง และแม้แต่คุณครูเองก็ยังสงสัยอยู่ แท้จริงแล้ววิทยาศาสตร์คือความพยายามของมนุษย์ที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจกับสิ่งรอบตัวและตัวตนของตนเอง ซึ่งความพยายามเช่นนี้ติดตัวของมนุษย์มาตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากธรรมชาติของเด็กที่มีความอยากรู้อยากเห็นช่างสังเกตและคอยซักถามเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่พวกเขาเจอ และบางครั้งก็เป็นคำถามที่ยากเกินกว่าที่ผู้ใหญ่จะให้คำตอบ ผู้ใหญ่หลายคนที่ไม่เข้าใจในธรรมชาติความเป็นนักวิทยาศาสตร์ตัวน้อยๆ ของเด็ก จึงปิดกั้นโอกาสทางการเรียนรู้ของพวกเขาโดยการไม่ให้ความสนใจกับคำถามและการค้นพบแบบเด็กๆ หรือไม่ได้จัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่จะส่งเสริมและต่อยอดทักษะและแนวคิดที่ถูกต้องให้กับเด็กอย่างเหมาะสม นับเป็นโอกาสอันดีที่ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดเสวนา หัวข้อ “ทำไมต้องสอนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ปฐมวัย” เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2552 ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่าน ร่วมเวทีเสวนา ได้แก่ คุณชุมพล พรประภา ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ดร.วรนาท รักสกุลไทย และ ดร.รัศมี แดงสุวรรณ ซึ่งพอจะตอบข้อข้องใจข้างต้นได้บ้าง คุณชุมพล พรประภา ในฐานะตัวแทนนักธุรกิจและผู้ปกครอง กล่าวว่า ครูอนุบาลมีบทบาทสำคัญมากในการสร้างเด็กที่จะเป็นคนเก่งและคนดีในอนาคต ส่วนตัวแล้วไม่อยากให้แบ่งเป็นอักษรศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ เพราะทุกอย่างมีส่วนในการพัฒนาคน ในการประกอบอาชีพ หลักคือสอนเรื่องใกล้ตัว ง่าย ๆ และทำให้เกิดวัฒนธรรมในการเรียนรู้ ในชีวิตจริงยังมีสิ่งที่วิทยาศาสตร์อธิบายไม่ได้อยู่อีกมาก จึงน่าจะให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยวิธีดูว่าปัญหาคืออะไร (Problem Oriented) เพราะถ้าเรียนมากเกินไป แต่ถ้าใช้ไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์สำหรับผู้เรียนอย่างแท้จริง ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิชาการจาก สวทช. ตัวแทนนักวิทยาศาสตร์และผู้ปกครอง มองว่า วิทยาศาสตร์คือสิ่งรอบตัวเรา ที่เป็นแรงบันดาลใจ ช่วยทำให้เราเข้าใจ และพัฒนาชีวิตของเราให้ดีขึ้น ดร. วรนาท รักสกุลไทย นักการศึกษาปฐมวัย ผู้อำนวยการโรงเรียนเกษมพิทยา (ฝ่ายอนุบาล) ในฐานะตัวแทนสมาคมอนุบาลศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษา กล่าวว่า เราคงทราบดีกันอยู่แล้วว่าวิทยาศาสตร์มีความสำคัญเพียงใด จำเป็นหรือไม่จำเป็น แต่จะสอนอย่างไรต่างหากสำหรับเด็กอนุบาล สิ่งสำคัญที่สุดคือครูต้องแม่นยำในพัฒนาการของเด็ก เพื่อที่จะสามารถจัดการเรียนรู้ได้สอดคล้องกับความสามารถของเด็ก แต่ครูต้องอย่าลืมเรื่องจินตนาการที่มีอยู่สูงในเด็กวัยนี้ และเปิดใจยอมรับสิ่งที่ สสวท. ได้ทำมาเป็นแนวทางที่จะช่วยสร้างเด็กได้ถูกทางมากยิ่งขึ้น ดร. รัศมี แดงสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนดาราวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ในฐานะตัวแทนผู้บริหารโรงเรียน ได้เล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนของอาจารย์ว่า เด็กสามารถเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้ เพราะสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กเป็นวิทยาศาสตร์ทั้งหมด วิทยาศาสตร์จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาชีวิตของเด็ก เด็กสามารถเรียนวิทยาศาสตร์ได้ เพราะวิทยาศาสตร์ช่วยพัฒนาการคิด นอกจากนั้น สสวท. ยังได้สัมภาษณ์ผู้ทรงวุฒิทางการศึกษา ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ แล้วนำเสนอในรูปแบบของวีดิทัศน์ให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้รับชม ดังนี้ พลเรือตรีแพทย์หญิงมยุรี สัมพันธวิวัฒน์ กุมารแพทย์ กล่าวว่า การเรียนวิทยาศาสตร์ในระดับนี้ช่วยเชื่อมโยงเซลล์ของสมองของเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กๆ เพราะส่งเสริมให้เด็กได้คิด เป็นการเตรียมเด็กให้สามารถเรียนรู้ได้มากขึ้นในวัยที่สูงขึ้นไป มล.อนงค์ ชุมสาย นิลอุบล ผู้ทรงคุณวุฒิทางการอบรมครูปฐมวัย ให้แง่คิดว่าทุกสิ่งรอบตัวเป็นวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น ที่จำเป็นต้องรู้เพื่อการดำรงชีวิต เช่นเรื่องอุณหภูมิของน้ำที่เมื่อสูงขึ้นก็จะทำอันตรายต่อตัวเราได้ ที่เหมือนกับว่าอยู่ในชีวิตประจำวันของเด็ก แต่เราไม่ได้สอนอย่างเป็นกิจจะลักษณะ หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา ผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษาปฐมวัย กล่าวว่า วิทยาศาสตร์หมายถึงชีวิต ง่ายที่สุดคือตัวเราและสิ่งอื่นรอบตัวทั้งคน สัตว์ พืช สิ่งของ แต่บทเรียนนั้นต้องบูรณาการเข้ากับเรื่องอื่นๆ เช่น ดนตรี ภาษา ศิลปะ เป็นต้น ที่พัฒนาเด็กไปพร้อมๆ กัน ในเวลาเดียวกัน ศ. ดร. อารี สัณหฉวี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาปฐมวัยและผู้บริหารโรงเรียน ให้แง่คิดว่าวิทยาศาสตร์สำคัญต่อเด็กปฐมวัยมากเพราะหมายถึงชีวิต เพราะเด็กวัยนี้กำลังอยากรู้อยากเห็นเรื่องรอบตัว สมองกำลังพัฒนา และกำลังสร้างลักษณะนิสัย เป็นวัยที่มีจินตนาการสูง เป็นวัยวิกฤตในการสร้างความเป็นนักวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 สสวท. ได้ดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ปฐมวัย ที่เป็นไปตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ. 2546 และต่อเนื่องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ระดับประถมศึกษา โดยได้มีการระดมความคิดจากนักการศึกษาทั้งด้านปฐมวัยและวิทยาศาสตร์ศึกษา ผู้เชี่ยวชาญ ศึกษานิเทศก์และครูผู้มีประสบการณ์ ในการสอนปฐมวัยมาร่วมกันพัฒนากรอบมาตรฐานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ปฐมวัย นอกจากนั้นยังมีโรงเรียนที่เข้าร่วมในการออกแบบและทดลองกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ปฐมวัย ตามกรอบมาตรฐานการเรียนรู้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดเป็นการทำงานร่วมกันในเชิงวิจัยและพัฒนา รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กันระหว่างนักวิชาการ สสวท. นักการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษา และครูผู้มีประสบการณ์ โดย นางชุติมา เตมียสถิตย์ หัวหน้าสาขาวิทยาศาสตร์ประถมศึกษา สสวท. กล่าวว่า “ในส่วนของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สสวท. มีกรอบมาตรฐานให้คุณครูทั่วประเทศเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมเอง เนื่องจาก สสวท. ไม่ต้องการกำหนดว่าจะต้องสอนอย่างไร เพราะเกรงว่าจะไปขัดกับวิธีการสอนแบบบูรณาการที่มีอยู่เดิม หรือเพิ่มความยากลำบากให้กับครูผู้สอนที่น่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสอนเด็กในระดับนี้มากที่สุด โดย สสวท. จะมีการส่งเสริมโดยจัดทำเอกสารเผยแพร่แก่ครูและผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งจัดอบรมครูโรงเรียนแกนนำ เพื่อสร้างเครือข่ายที่จะขยายผลไปสู่โรงเรียนทั่วประเทศต่อไป และหวังว่าจะมีโรงเรียนที่อาสาเข้าร่วมกับสสวท. เพื่อต่อยอดการเรียนรู้สำหรับนักเรียนชั้นปฐมวัยต่อไป” ในการสอนระดับปฐมวัยที่เน้นพัฒนาการของเด็กอย่างเป็นองค์รวม ก็ต้องยอมรับความจริงว่าครูปฐมวัยจำนวนมากขาดความรู้ความชำนาญและไม่ทราบว่าจะสอนแนวคิดและทักษะเกี่ยวกับการเรียนรู้จักธรรมชาติและสิ่งต่างๆรอบตัวเด็กอย่างไร ทำให้การจัดประสบการณ์ในรูปของกิจกรรมบูรณาการไม่สามารถช่วยพัฒนาและเตรียมความพร้อมให้เด็กเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ได้ตามที่คาดหวัง นางชุติมากล่าวต่อไปว่า “สสวท. ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและมีความปรารถนาที่จะช่วยส่งเสริมครูปฐมวัยให้จัดประสบการณ์แก่เด็กในรูปแบบของกิจกรรมบูรณาการที่สามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยได้อย่างครบถ้วนทุกด้าน โดยไม่จำเป็นต้องแยกออกมาสอนเป็นวิชาวิทยาศาสตร์ และอาจไม่ต้องกล่าวคำว่าวิทยาศาสตร์เมื่อให้เด็กทำกิจกรรมเลยด้วยซ้ำ เพียงแต่ครูปฐมวัยควรจะตระหนักรู้ว่ากิจกรรมที่จัดให้กับเด็กในแต่ละช่วงเวลานั้น เป็นการส่งเสริมทักษะและแนวคิดทางวิทยาศาสตร์อะไรให้กับเด็กๆ และควรจะจัดกิจกรรมอย่างไรเพื่อจะสามารถตอบสนองและต่อยอดธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างเป็นระบบ” สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ปฐมวัย ได้ที่ สาขาวิทยาศาสตร์ประถมศึกษา สสวท. โทร. 02-3924021 ต่อ 1232 หรือ 1229 เว็บไซต์ www.ipst.ac.th อีเมล์ tprom@ipst.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ