กรุงเทพฯ--16 พ.ค.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.) โชว์ผลสำเร็จการพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวครบวงจร…ออกแบบระบบบาร์โคดตรวจสอบสินค้าย้อนกลับ ลำไยสด เป็นแห่งแรกของประเทศ พัฒนาการควบคุมโรคเน่าผลไม้เขตร้อนด้วยชีววิธี และเทคโนโลยีการยืดอายุการเก็บรักษาทุเรียนสด พร้อมสนับสนุนการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรไทย แข่งขันได้ในตลาดโลก
ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า จากความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวผลิตผลพืชสวนมาเป็นเวลากว่า 20 ปี โดยมุ่งเน้นผลิตผลที่มีศักยภาพสูงในการส่งออก เพื่อให้ผลิตผลไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับและสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ขณะนี้ วว. ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวอย่างครบวงจร อันได้แก่ การออกแบบบาร์โคดตรวจสอบสินค้าย้อนกลับ ลำไยสด เพื่อการส่งออกได้เป็นหน่วยงานแรกของประเทศ การพัฒนาควบคุมโรคเน่าผลไม้เขตร้อนด้วยชีววิธี และการยืดอายุการเก็บรักษาผลทุเรียนสด ซึ่งล้วนเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกผลิตผลทางการเกษตรแก่ เกษตรกรและผู้ประกอบการ ให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
“วว. มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวมาโดยตลอด ขณะนี้ได้พัฒนา 3 เทคโนโลยี คือ ระบบบาร์โคดตรวจสอบย้อนกลับลำไยสด ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศผู้ที่สั่งซื้อลำไยจากประเทศไทย ว่าเป็นสินค้าที่มีระบบการจัดการสินค้าที่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้าได้และมีคุณภาพการผลิตที่ได้มาตราฐานสากล ส่วนเทคโนโลยีการควบคุมโรคเน่าผลไม้เขตร้อนและการยืดอายุการเก็บรักษาผลทุเรียนสด นั้นเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตรให้นานขึ้นเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรและผู้ส่งออก ซึ่ง วว. พร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวให้แก่ผู้สนใจต่อไป” ผู้ว่าการ กล่าว
ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ยังได้กล่าวถึงระบบการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าลำไยสดด้วยบาร์โคดที่ วว. พัฒนาขึ้นว่า เป็นระบบที่เพิ่มความสมบูรณ์ให้ระบบจัดการคุณภาพลำไยสดที่มีอยู่แล้วให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตรงตามระเบียบความต้องการของ EU และยังเป็นระบบการจัดเก็บข้อมูลยังได้รองรับการพัฒนาประสิทธิภาพ ในการบริหารและการจัดการไปได้ในเวลาเดียวกัน โดย ข้อมูลต่างๆ ที่ถูกบรรจุเข้าไปในระบบการตรวจสอบย้อนกลับสินค้า ประกอบไปด้วย ฐานข้อมูล 3 ส่วน อันได้แก่ ส่วนที่ 1 ข้อมูลของผู้ผลิตลำไย ประกอบด้วย ชื่อและหมายเลขประจำตัวชาวสวน ข้อมูลการจัดการสวน หมายเลขทะเบียนการจัดการสวนที่ดี (GAP) ซึ่งชาวสวนได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมวิชาการเกษตร ส่วนที่ 2 เป็นข้อมูลของผู้ประกอบการส่งออก ประกอบด้วย ชื่อบริษัทผู้ส่งออก หมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุ เลขทะเบียนอนุญาตโรงอบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ชื่อผู้นำเข้าและประเทศผู้นำเข้า รวมทั้งบรรจุข้อมูลต่างๆ ในระบบบัญชี และส่วนที่ 3 เป็นข้อมูลของสินค้า ประกอบด้วย วันที่ทำการเก็บเกี่ยว วันที่ส่งขาย ปริมาณสินค้า เกรดและมาตรฐานของสินค้า กรรมวิธีการอบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เช่นอัตราซัลเฟอร์ที่ใช้ หมายเลขห้องที่อบ ปริมาณสินค้าที่อบในแต่ละครั้ง ระยะเวลาในการอบ ชื่อผู้ควบคุมกระบวนการอบ ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ตกค้างในผลลำไย หมายเลขห้องเย็นที่ใช้เก็บ วันที่บรรจุเข้าตู้เรือ หมายเลขตู้เรือ และข้อมูลบริษัทเรือ เป็นต้น ทั้งนี้ในแต่ละภาชนะบรรจุลำไยที่ทำการส่งออกจะมีบาร์โคดที่สามารถบันทึกข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้ไว้
“เมื่อต้นฤดูการส่งออกลำไย ปี 2549 วว. ได้ร่วมกับสมาคมผู้ค้าผักและผลไม้สดไทย ทำการทดสอบระบบการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าด้วยวิธีการใช้บาร์โคด ที่พัฒนาขึ้นจนถึงระดับที่สามารถนำออกใช้ในอุตสาหกรรมลำไยได้ผลเป็นที่น่าพอใจ วว.พร้อมที่จะถ่ายทอดระบบการจัดการดังกล่าวให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจนำไปใช้ในฤดูกาลผลิตลำไยสดที่จะมาถึงในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม นี้” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดร.อนวัช สุวรรณกุล ผอ.ฝ่ายเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาการควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยวผลไม้เขตร้อนด้วยชีววิธี ว่า วว. ได้ทำการคัดเลือกสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่มีศักยภาพในการควบคุมเจริญเติบโตของเชื้อราที่เป็นสาเหตุโรคเน่าของผลไม้เขตร้อนหลังการเก็บเกี่ยว โดยจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ที่นำมาคัดเลือกได้เป็นจุลินทรีย์ในกลุ่มของแบคทีเรีย ยีสต์ ศูนย์จุลินทรีย์ วว. และราจากแหล่งธรรมชาติ รวม 21 สายพันธุ์ ผลจากการทดลองพบว่า สายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของราสาเหตุโรคพืช ได้แก่ ยีสต์ Pichia tannicola 5053 , P.kudriavzevii 5147 , แบคทีเรีย Bacillus subtillis TISTR8 , B.amyloliquifaciens PUT 14 และ PUT 19 และ รา Trichoderma harzianum และ T.pseudodonigii จุลินทรีย์ทั้ง 3 กลุ่ม จะมีกลไกการควบคุมราสาเหตุโรคแตกต่างกัน โดยยีสต์และรานั้นควบคุมจุลินทรีย์สาเหตุโรคด้วยการครอบครองพื้นที่ ส่วนแบคทีเรียจะปล่อยสารปฏิชีวนะบางชนิดลงในอาหารทำให้มีผลต่อการเจริญของราสาเหตุของโรคเน่า
“ในขั้นต้น วว.ได้ศึกษาการควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยวด้วยชีววิธีในมะม่วง โดยใช้มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ และพันธุ์โชคอนันต์ ซึ่งมักเป็นโรคแอนแทรกโนส ที่มีสาเหตุจากเชื้อรา Collectotrichum gloeosporioides ซึ่งได้สกัดสารชีวภาพจากอาหารเหลวที่ใช้เลี้ยงแบคทีเรียที่ทำการคัดเลือกไว้ และนำสารที่สกัดได้ผสมกับสารเคลือบผิวแล้วนำไปเคลือบผิวผลมะม่วง จากนั้นนำไปเก็บที่อุณหภูมิห้องนาน 10 วัน พบว่า ชุดการทดลองที่ไม่ได้เคลือบผิวเป็นโรคอย่างรุนแรง คล้ายคลึงกับชุดการทดลองที่เคลือบสารเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ชุดการทดลองที่เคลือบผิวด้วยสารเคลือบผสมกับสารเคมีสารเคมีสังเคราะห์ และสารเคลือบผิวที่ผสมกับสารสกัดจากแบคทีเรีย ให้ผลในการควบคุมโรคได้ดีกว่า ต่อไป วว. จะเร่งศึกษาเพิ่มเติมในการผลิตตัวสารชีวภาพ และพัฒนากรรมวิธีในการใช้ เพื่อให้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เหล่านี้ สามารถเจริญอยู่บนผลผลิตในระดับที่เกิดประสิทธิภาพ และทนต่อกระบวนการหลังการเก็บเกี่ยวต่างๆ เช่น สามารถเจริญในที่อุณหภูมิต่ำ สามารถทนต่อสภาพควบคุมบรรยากาศ รวมทั้งพัฒนากรรมวิธีในการผลิตให้ได้ปริมาณมากด้วยอาหารที่มีราคาถูก” ดร.อนวัช สุวรรณกุล กล่าว
นอกจากนี้ วว. ยังประสบความสำเร็จในการยืดอายุการเก็บรักษาทุเรียนสดโดยใช้สารยับยั้งเอทธิลีน คือ สาร 1-Methylcyclopropene (1-MCP) เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลทุเรียนที่มีอายุการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมสำหรับการส่งออก ผลจากการทดลองพบว่า 1-MCP ที่อัตราความเข้มข้นตั้งแต่ 500 ถึง1,000 ส่วนต่อพันล้านส่วน (part per billion หรือ ppb) สามารถนำมาใช้ยืดอายุการเก็บรักษาผลทุเรียนทั้งพันธุ์ชะนีและพันธุ์หมอนทองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังสามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้ 2-3 เท่าที่อุณหภูมิ 25 0C นอกจากนี้ยังพบว่าการใช้ 1-MCP ที่อัตราความเข้มข้นตั้งแต่ 1,000 ถึง 2,000 ppb ที่ระยะเวลา 6 ชั่งโมง ร่วมกับการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 15oC จะสามารถยืดอายุการสุกของผลทุเรียนออกไปได้อีก 15-40% ขึ้นกับระยะเวลาที่ใช้ในการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 15oC อย่างไรก็ตามผลทุเรียนที่ผ่านการเก็บรักษาที่อุณหภูมิดังกล่าว มากกว่า 4 สัปดาห์เมื่อผลสุกจะแสดงลักษณะอาการเน่าเสียอันเนื่องมาจากเชื้อราในอัตราที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นผลทุเรียนที่ต้องการเก็บรักษานานกว่า 3 สัปดาห์จึงจำเป็นที่จะต้องการกรรมวิธีในการควบคุมโรคผลเน่าควบคู่กันไปด้วย
“นอกจากจะนำมาเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ในการยืดอายุการเก็บรักษาทุเรียนสดเพื่อการส่งออกด้วยตู้เรือปรับอากาศแล้ว ยังส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ คือไม่จำเป็นที่จะต้องเก็บทุเรียนที่อายุน้อยเกินไปเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาระหว่างการขนส่ง ทำให้ทุเรียนเมื่อสุกที่ตลาดปลายทางมีคุณภาพของเนื้อผลดีขึ้น รวมทั้งยังนำไปใช้ในกรณีที่ต้องการขนส่งผลทุเรียนต่อไป โดยเฉพาะในสภาพที่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ ภายหลังจากการขนส่งโดยตู้เรือปรับอากาศ เช่น ในกรณีการขนส่งผลทุเรียนต่อไปยังจังหวัดที่ห่างไกลในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นต้น” ดร.อนวัช สุวรรณกุล กล่าว
อนึ่ง 1-MCP เป็นฮอร์โมนที่ควบคุมกระบวนการสุกและเน่าเสียของผัก, ผลไม้ และไม้ตัดดอก มีสถานะเป็นก๊าซ ที่ปราศจาก สี กลิ่น และรส และมีความเป็นพิษในระดับที่ต่ำมาก และยังได้รับการยกเว้น จาก US EPA ในเรื่องของข้อกำหนดในการระบุปริมาณผลตกค้างที่จะยอมรับได้ (Exemption from the requirement of a tolerance) ในผลิตผลจำพวกผักและผลไม้สด คาดกันว่า1-MCP จะเป็นสารเคมีที่จะมีการใช้กันอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมการผลิต ไม้ผลเขตหนาว เช่น แอปเปิ้ลและแพร์ ของสหรัฐอเมริกา
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ฝ่ายเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว วว. โทร. 02 577 9000 ในวันและเวลาราชการ หรือชมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว…เพื่อการส่งออกได้ในงานครบรอบการสถาปนา 43 ปี วว. ประชุมวิชาการ “S&T วันนี้...และก้าวต่อไป” ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2549 ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมโซฟิเทลเซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ เวลา 8.00-16.30 น.
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net