“ทียูเอฟ” โชว์ผลประกอบการปี 51 ยอดขายเงินดอลลาร์และกำไรโตทะลุเป้า 28% และ 21%

ข่าวทั่วไป Monday February 23, 2009 10:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ ทียูเอฟ ประกาศผลการดำเนินงานประจำปี 2551 ยอดขายรูปเงินเหรียญสหรัฐโตทะลุเกินเป้า 28% ยอดขายในรูปของเงินบาทก็เพิ่มขึ้นถึง 24% และมีกำไรสุทธิเติบโต 21% ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ปีที่ 2 นับแต่ปี 2546 แม้ต้องเผชิญกับวิกฤตต่างๆ อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี แต่ด้วยศักยภาพการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ทียูเอฟมีผลการดำเนินงานที่เติบโตสวนกระแส เผยตั้งเป้าเติบโตโดยเฉลี่ยปีละ 12% เป้าหมายต่อไป 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2555 นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ทียูเอฟ ผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและบรรจุกระป๋องรายใหญ่ของไทย ชี้แจงถึงผลการดำเนินงาน ประจำปี 2551 นี้ว่า บริษัทสามารถทำรายได้จากการขายในรูปเงินเหรียญสหรัฐเท่ากับ 2,069.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับปี 2550 ที่มีรายได้จากการขายในรูปเงินเหรียญสหรัฐเท่ากับ 1,611.9 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับรายได้จากการขายในรูปของเงินบาทก็เติบโตขึ้นเช่นเดียวกัน โดยมีรายได้เท่ากับ 69,048.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2550 ที่มีรายได้ 55,507.1 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวมทั้งปีเท่ากับ 69,519 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 56,067.2 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถทำกำไรสุทธิเท่ากับ 2,200.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิเท่ากับ 1,823.3 ล้านบาท โดยมีกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 2.51 บาท เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทมีอัตราการเติบโตสูงตรงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แม้จะเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่มีความผันผวนตลอดปีที่ผ่าน นับเป็นผลการดำเนินงานที่น่าพอใจอย่างยิ่ง ในส่วนผลการดำเนินงานรายไตรมาสนั้น ในไตรมาส 4 บริษัทมียอดขายในรูปของเงินเหรียญสหรัฐและเงินบาทโตขึ้น โดยยอดขายในรูปของเงินเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 17% จาก 450.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2550 เป็น 528.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2551 และมียอดขายในรูปเงินบาทเท่ากับ18,409.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปี 2550 ที่เท่ากับ 15,253.6 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทยังมีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 20% จาก 15,383.2 ล้านบาท ในปี 2550 เป็น 18,455.2 ล้านบาทในปีนี้ ขณะที่กำไรสุทธิของไตรมาส 4 อยู่ที่ 307.1 ล้านบาท ลดลง 31% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิเท่ากับ 443 ล้านบาท สำหรับในไตรมาส 4 บริษัทยังคงอัตราการเติบโตที่ดี ถึงจะไม่โดดเด่นเท่ากับ 3 ไตรมาสที่ผ่านมา แต่บริษัทก็ยังสามารถเติบโตได้ แม้ว่าในไตรมาสนี้จะต้องเจอกับปัจจัยต่างๆ ที่ผันผวนอย่างรุนแรง และในส่วนของกำไรสุทธิที่ลดลงนั้น เป็นผลจากราคาวัตถุดิบปลาทูน่าที่ลดลงในช่วงไตรมาสนี้ โดยมีระดับราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,173 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากเมื่อก่อนเคยขึ้นสูงถึง 1,900 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งจากความผันผวนทางด้านราคาปลาทูน่านี้ ทำให้สินค้าที่ผลิตไว้ในช่วงที่ราคาวัตถุดิบสูง ถูกนำมาตั้งค่าเผื่อไว้สำหรับการลดลงของมูลค่าสินค้าคงเหลือ (Allowance of Diminution in value of Inventory) เป็นมูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายพิเศษที่เพิ่มขึ้นในเรื่องของการซ่อมบำรุงและปรับปรุงเรือจับปลาทูน่าจำนวน 4 ลำ ซึ่งเป็นจำนวนเงินประมาณ 100 ล้านบาท ทำให้ส่งผลต่อกำไรสุทธิในไตรมาส 4 นี้ นายธีรพงศ์ อธิบาย แต่อย่างไรก็ดี นายธีรพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับภาพรวมการดำเนินงานปี 2551 นับเป็นอีก 1 ปีที่บริษัทมีความภาคภูมิใจและพึงพอใจเป็นอย่างมาก เพราะบริษัทมียอดขายและกำไรสุทธิเติบโตอย่างโดดเด่นเมื่อเทียบปีก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำไรสุทธิของปีนี้ที่สามารถทำได้ถึง 2,200.5 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ปีที่ 2 นับตั้งแต่ปี 2546 ที่มีกำไรสุทธิ 2,279 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถทำยอดขายได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เมื่อ 5 ปีก่อนที่ 2,000 ล้านเหรียญ ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าเงิน ราคาน้ำมัน วัตถุดิบปลา และการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้มีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยศักยภาพการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และในขณะเดียวกันก็ทำกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ทำให้บริษัทสามารถทำยอดขายเพิ่มขึ้น พร้อมๆ การขยายตลาดเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดที่มากขึ้นด้วย ส่งผลให้บริษัทมีผลประกอบการที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับเป้าหมายต่อไปของบริษัท คือ การทำยอดขายที่ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในอีก 4 ปีข้างหน้า (ปี 2555) นั่นหมายความว่า บริษัทตั้งเป้าเติบโตโดยเฉลี่ย 12% ต่อปี” สำหรับสัดส่วนยอดขายตามผลิตภัณฑ์ในปี 2551 นี้ ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ายังคงเป็นสินค้าหลักที่มีสัดส่วนการส่งออกถึง 48% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัท รองลงมาได้แก่ กุ้งแช่แข็ง 19% อาหารแมวบรรจุกระป๋อง 9% อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง 8% อาหารกุ้ง 6% ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ 4% ปลาหมึกแช่แข็ง 3% และปลาซาร์ดีน/แมคเคอเรลบรรจุกระป๋อง 3% ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ยอดขายรวมในทุกผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีการเติบโตอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก ซึ่งมีมูลค่าโดยรวมเพิ่มขึ้น 28.4% ขณะที่ปริมาณขายรวมก็เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับปี 2550 ส่วนตลาดส่งออกหลักนั้น ยังคงเป็น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น อัฟริกา โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง เอเชีย แคนาดา และอเมริกาใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีที่ผ่านมาตลาดอัฟริกา และตลาดอเมริกาใต้ มีมูลค่าการขยายตัวสูงถึง 81% และ 65% ตามลำดับ นายธีรพงศ์ ยังได้กล่าวถึง แนวโน้มการดำเนินงานในปี 2552 ว่า “บริษัทยังคงมองภาพของธุรกิจในเชิงบวกสำหรับปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาปลาทูน่า คาดว่า จะมีความผันผวนไม่สูงมากนักในปีนี้ ส่วนค่าเงินบาท ขณะนี้ก็อ่อนค่าลงไปมาก ซึ่งก็เป็นผลดีกับบริษัท และสำหรับวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นปัจจุบัน ตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกาคงต้องได้รับผลกระทบบ้างแต่คงไม่มากนัก เพราะธุรกิจของเราเป็นธุรกิจอาหาร ซึ่งอาหารเป็นปัจจัยพื้นฐานในการบริโภค และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ สินค้าของเรามีราคาไม่แพง สำหรับประเด็นในจุดนี้ บริษัทได้มีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลอดเวลา มีการขยายตลาดและหาช่องทางการส่งออกไปยังตลาดใหม่ให้มากขึ้น อาทิเช่น รัสเซีย และตะวันออกกลาง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาฐานตลาดเดิมเอาไว้ ตลาดญี่ปุ่นก็เป็นตลาดหนึ่งที่ปีนี้น่าจะมีทิศทางที่สดใสสำหรับการออกสินค้าปลาทูน่า เนื่องจากการเจรจากรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ที่จะให้สิทธิประโยชน์กับประเทศไทยในการเปิดตลาดปลาทูน่าให้มากขึ้น รวมถึงผลประโยชน์จากค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น และการที่จีนมีปัญหาเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร ทำให้ญี่ปุ่นหันมานำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นแทน สำหรับในตลาดญี่ปุ่นนั้นบริษัทจะเน้นสินค้ามูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น ส่วนในเรื่องของสถานภาพทางการเงิน บริษัทยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และมีเงินหมุนเวียนสำหรับขยายการลงทุน โดยล่าสุดบริษัทเพิ่งออกหุ้นกู้อายุ 2 ปี และหุ้นกู้อายุ 5 ปี มูลค่ารวม 2,000 ล้านบาท ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในการเสนอขาย ซึ่งจุดนี้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนสถาบัน และสถาบันการเงินต่างๆ ที่มีต่อธุรกิจของบริษัท อย่างไรก็ดี บริษัทมั่นใจว่า บริษัทยังมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างอัตราผลตอบแทนให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจากผลประกอบการที่ออกมานี้ น่าจะส่งผลดีต่อการจ่ายปันผลของบริษัทในงวดแรกของปีนี้ ” สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ แผนกสื่อสารองค์กร บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ โทร. 022-980024 ต่อ 675 — 678 www.thaiuniongroup.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ