กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ระยะยาวที่ระดับ “A-(tha)” (A ลบ (tha)) และระยะสั้นที่ระดับ “F2(tha)” แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตของ BAFS สะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำในการให้บริการเติมน้ำมันอากาศยาน โดย BAFS เป็นผู้ให้บริการคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Depot Service) และเครือข่ายระบบท่อจ่ายน้ำมันอากาศยาน (Hydrant Pipeline Network) แต่เพียงรายเดียวและเป็นผู้ให้บริการหลักในส่วนของบริการเติมน้ำมันอากาศยาน (Into-Plane Service) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีส่วนแบ่งการตลาดในการเติมน้ำมันอากาศยานที่ร้อยละ 90 นอกจากนี้ BAFS ยังเป็นผู้ให้บริการเติมน้ำมันอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพหรือสนามบินดอนเมืองเพียงรายเดียว ซึ่งเป็นสนามบินที่ให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินประเภทเช่าเหมาลำเป็นหลัก อันดับเครดิตได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่ผู้ถือหุ้นหลักของ BAFS เป็นผู้ใช้บริการหลักในการเติมน้ำมันอากาศยาน โครงสร้างของค่าบริการที่ BAFS รับผิดชอบแต่ในส่วนของการให้บริการเท่านั้นซึ่งทำให้ BAFS ไม่มีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน รวมถึงทีมบริหารระดับสูงของบริษัทที่มีประสบการณ์ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังได้พิจารณาถึงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของ BAFS ที่ยังคงแข็งแกร่งและมั่นคงในปี 2551 ทั้งที่ภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจอ่อนตัวลง ซึ่งรวมถึงมีการปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นเวลา 10 วัน ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551
ผลประกอบการของ BAFS ดีขึ้นอย่างมากหลังจากการเปิดดำเนินงานของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในช่วงปลายปี 2549 ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนหนี้สินซึ่งวัดได้จากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าเช่า (Net Adjusted Debt/EBITDAR) ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 2.6 เท่า ณ สิ้นปี 2550 จาก 4.4 เท่า ณ สิ้นปี 2549 อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของ BAFS ในปี 2551 ได้อ่อนตัวลงจากปี 2550 ด้วยปริมาณการใช้บริการเติมน้ำมันอากาศยานที่ลดลงร้อยละ 6 และกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าเช่า (EBITDAR) ลดลงประมาณร้อยละ 10 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกได้ส่งผลกระทบต่อการเดินทางทางอากาศและธุรกิจสายการบิน รวมถึงผลกระทบจากการปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นเวลา 10 วัน ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม 2551 อันเนื่องมาจากความตึงเครียดของการเมืองภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ BAFS ยังคงแข็งแกร่งโดยอยู่ในระดับ 851 ล้านบาทในปี 2551 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าเช่า ณ สิ้นปี 2551 เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 2.8 เท่า อันเป็นผลส่วนหนึ่งจากค่าใช้จ่ายลงทุนของ BAFS ที่อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก
อันดับเครดิตยังได้คำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่จะตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องในปี 2552 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการเดินทางทางอากาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะมีผลต่อเนื่องมายังปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานของ BAFS ด้วย ถึงแม้ว่าปริมาณการใช้บริการเติมน้ำมันอากาศยานจะมีแนวโน้มอ่อนตัวลง แต่แผนการใช้จ่ายลงทุนที่ไม่สูงมากนักของ BAFS น่าจะทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดสุทธิเป็นบวกในช่วงปี 2552 —2554 ดังนั้นอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าเช่าของ BAFS คาดว่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในระดับ 2.3 เท่า ถึง 2.8 เท่า ในช่วง 12 — 18 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ สภาพคล่องทางการเงินของ BAFS ยังคงอยู่ในระดับสูงด้วยเงินสดคงเหลือจำนวน 450 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2551 รวมถึงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งของบริษัท
แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพของ BAFS สะท้อนถึงความคาดหมายว่าสถานะความเป็นผู้นำในตลาดของ BAFS รวมถึงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง และค่าใช้จ่ายลงทุนที่อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักจะทำให้ BAFS สามารถดำรงอัตราส่วนหนี้สินในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิต ณ ปัจจุบันได้
ติดต่อ: สมฤดี ไชยวรรัตน์, วสันต์ ผลเจริญ, Vincent Milton, +662 655 4755
หมายเหตุ: การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน