มะเร็งเต้านม ภัยร้ายที่ทวีความรุนแรงในหญิงไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday November 7, 2006 08:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--โฟร์ฮันเดรท
มะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของประชากรไทยมาตั้งแต่ปี 2543 ถึงปัจจุบัน มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็ง ที่พบอันดับ 2 ของหญิงไทย รองจากมะเร็งปากมดลูกแต่ในสังคมเมืองโดยเฉพาะกรุงเทพฯ มะเร็งเต้านมพบเป็นอันดับ 1 กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม คือ ประวัติมะเร็งในครอบครัว และมีอายุ 35 ปีขึ้นไป และเคยเป็นโรคที่เต้านม รับประทานยาฮอร์โมนเพศหญิงเกิน 5 ปี แต่ขอเน้นย้ำว่าหลาย ๆ คนมีปัจจัยเสี่ยงแต่ไม่เป็นมะเร็ง แต่หลายๆ คนไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่เป็นมะเร็ง เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลเรื่องปัจจัยเสี่ยงหรือกลุ่มเสี่ยงแต่ขอให้เริ่มดูแลสุขภาพตนเองตั้งแต่บัดนี้ และตลอดไป
ในการเสวนาเรื่องมะเร็งเต้านม “Care You Breast Care You Life” ผู้หญิงเราทุกคนต้องทำความคุ้นเคยกับสุขภาพทรวงอกของตนเองทุกเดือน จัดโดย บริษัท ซาโนฟี่-อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีแพทย์ผู้เชียวชาญจากหลายสถาบันนำโดย นพ.อาคม เชียรศิลป์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, นพ.ชลเกียรติ ขอประเสริฐ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และนพ.โชติ วิรัตกพันธ์ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ กล่าวว่าในปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเกิดขึ้นใหม่ประมาณ 14 คน และเสียชีวิตประมาณ 5-6 คน แสดงว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีชีวิตยาวนานได้ เพราะฉะนั้นมะเร็งเต้านมสามารถตรวจค้นได้ด้วยตนเองและรักษาได้ ผลดีทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมปัจจุบันสามารถมีชีวิตยาวนานถึง 5 ปีได้มากกว่าร้อยละ 50 และเพิ่มเป็นร้อยละ 90 กรณีที่ตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก
การรักษาที่ดีที่สุด คือ ผสมผสานระหว่างศัลยกรรม รังสีรักษา และยา ส่วนจะเลี่ยงใช้ยากลุ่มใด ขนานใดขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งเต้านม อายุ สภาพรอบเดือน รวมทั้งลักาณะทางชีวภาพของเซลล์มะเร็งด้วย โดยทั่วไป มะเร็งเต้านมแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 ก้อนมีขนาดเล็กกว่า 2 ซม. และยังไม่มีการกระจายของโรค
ระยะที่ 2 ก้อนใหญ่กว่า 2 ซม. แต่เล็กกว่า 5 ซม. อาจมีหรือไม่มีการกระจายไปที่ต่อ
น้ำเหลือง รักแร้ ข้างเคียงกับนมที่เป็นมะเร็ง
ระยะที่ 3 ก้อนใหญ่กว่า 5 ซม.แต่เล็กกว่า 10 ซม. มีการกระจายของโรคไปเต้านม
ข้างเคียงกับนมที่เป็นมะเร็งหรือก้อนเล็กแต่แตกเป็นแผล
ระยะที่ 4 ระยะลุกลาม ไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเช่น ไปที่ปอด, ตับ, กระดูก, สมอง เป็นต้น
ผลข้างเคียงเป็นอาการทางผิวหนังเป็นส่วนใหญ่ซึ่งจะหายไปได้เองเมื่อหยุดรังสีรักษาแล้วส่วนผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น ปอดอักเสบ หรือความยืดหยุ่นของปอดเสียไป ผลต่อการทำงานของไขกระดูก หรือผลต่อหัวใจ ปัจจุบันอาจไม่ต้องกล่าวถึง เพราะความเจริญก้าวหน้าของเครื่องวางแผนการรักษา และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถบังคับให้จำนวนแสงไปที่บริเวณที่เป็นมะเร็งหรือเคยเป็นมะเร็งเท่านั้น โดยอาจมีผลกระทบต่อเนื้อเยื่อปกติเพียงเล็กน้อย
สำหรับการผ่าตัดมะเร็งเต้านมโดยทั่วไป จะตัดเต้านมข้างที่เป็นพร้อมเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ข้างเคียงกับนมที่เป็นมะเร็งออก ด้วยเหตุผลที่ต้องการทราบว่ามะเร็งเต้านมมีการลุกลามออกนอกนมแล้วหรือยัง เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการรักษาได้ถูกต้อง แต่ในปัจจุบันผู้ป่วยมะเร็งเต้านมอาจได้รับการรักษาโดยการอนุรักษ์เต้านมไว้แล้วตามด้วยรังสีรักษา หรือยาขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็งเต้านม นอกจากนี้มีวิวัฒนาการการผ่าตัดแนวใหม่ที่สามารถลดอุบัติการเกิดแผลเป็นที่นม (Subcutanenous Mastectomy) และยังมีความก้าวหน้าเกี่ยวกับการสร้างเต้านมขึ้นใหม่ได้ (Breast Reconstruction)
ปัญหาที่พบในผู้ป่วย
1. ความกลัว วิตกกังวล
1.1 กลัวไม่หาย
1.2 กลัววิธีการรักษา เพราะได้รับการบอกเล่าให้ทราบ เฉพาะข้อมูลที่เกิดขึ้นในอดีตกาลแต่ขาดข้อมูลในยุคของการรักษาปัจจุบัน อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งสำหรับการจัดเสวนาครั้งนี้
2. ใจอ่อน ถูกชักจูงได้ง่าย ทำให้ไปหลงผิดในทิศทางที่ต่าง ๆ กันจนทำให้มะเร็ง ระยะแรกกลายเป็นระยะลุกลาม
3. ความจุ้นจ้านและไม่มีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมของบุคคลข้างเคียง มีผลทำให้ผู้ป่วยหลงผิด
4. ค่าใช้จ่ายในการรักษา เนื่องจากมะเร็งเต้านมเป็นโรคของเซลล์ที่มีความหลาก หลาย การรักษาแต่ละบุคคล อาจมีความแตกต่างกันโดยเฉพาะเรื่องของการใช้ยา บางรายที่ตรวจพบโรคลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้จำนวนมาก ๆ อาจทำให้การเลือกใช้ยากลุ่มมาตรฐานไม่เพียงพอ หรือกลุ่มที่ตรวจพบยีนส์มะเร็งเต้านมดื้อยา (Her-2/+3(IHC)) หรือ (Her-2/+fish) ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งกลุ่มนี้มีการดำเนินของโรคที่รุนแรงและจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มพิเศษที่มีราคาสูง
5. เกี่ยวกับผลข้างเคียงของการรักษา ปัจจุบันมีวิธีการแก้ไขและป้องกันได้ดีมากกว่าเดิมร้อยละ 70 — 80 โดยเฉพาะเรื่องของอาการคลื่นไส้ อาเจียน แต่ปัญหาผมร่วงขึ้นอยู่กับลักษณะของยาที่ใช้ แต่ขณะนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าวงการผม(Wic)มีความก้าวหน้ามากคิดว่าน่าจะได้แก้ไขได้หากมีการเตรียมการล่วงหน้าก่อนที่ผมจะร่วง
วิธีการป้องกัน และปัจจัยที่สำคัญในการหลีกเลี่ยงการเป็นโรคมะเร็งเต้านม
เนื่องจากหลาย ๆ คนมีปัจจัยเสี่ยงแต่ไม่เป็นมะเร็งเต้านม แต่อีกหลาย ๆ คนไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่เป็นมะเร็งเต้านม โดยสรุปทุกคนมีสิทธิ์เป็นมะเร็งเต้านมไม่ว่าหญิง และชาย วิธีการป้องกัน คือพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำกรณีมีปัญหา หรือไม่แน่ใจ แต่โดยทั่วไปขอแนะนำวิธีการป้องกันมะเร็ง ไม่เฉพาะมะเร็งเต้านมแบบง่าย ๆ ดังนี้
1. อาหารที่ถูกส่วน เน้นที่พืชผักผลไม้
2. น้ำหนักที่ถูกต้อง
3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
4. ไม่สูบบุหรี่
5. ทำความคุ้นเคยกับสุขภาพทรวงอกของตนเอง
วิธีการทำความคุ้นเคยกับทรวงอกอย่างไรบ้างถึงการหัดตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ และสังเกตผิดปกติต่อไปนี้
- มีก้อน หรือ ปื้นหนาที่เต้านม และรักแร้
- มีอาการเจ็บหัวนม อาจบุ๋ม หรือบอด
- มีเลือดไหลผิดปกติ ออกจากหัวนม
- มีอาการระคายเคือง บริเวณผิวหนังของเต้านม
- มีอาการบวม แดงร้อน หรือ ปวดที่เต้านม
นำเสนอข่าวในนามบริษัทซาโนฟี่-อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด โดยบริษัท โฟร์ฮันเดรท จำกัด
รายละเอียดสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 081-913-1291 หรือ 02-510-5514-5
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ