นักวิชาการแนะเคล็ดลับครองรัก หวังลดสถิติครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว

ข่าวทั่วไป Tuesday February 24, 2009 10:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--เอ็นจอย คอมมูนิเคชัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันปัญหาครอบครัวเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากอัตราการหย่าร้างของสามี และภรรยาที่นับวันจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ครอบครัวไทย ในขณะนี้ ส่วนหนึ่งกลายเป็นครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องดูแลลูกตามลำพัง ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาช่วยดูแล และร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ไม่ให้เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นน้อยที่สุด โดยล่าสุด เครือข่ายองค์กรทำงานและนักวิชาการด้านครอบครัว ได้จัดประชุมวิชาการครอบครัวศึกษา เรื่อง “การจัดการครอบครัวด้วยความรู้” ขึ้น ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ภายใต้ การสนับสนุนจากแผนงานสุขภาวะครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้มีการนำเสนอจุดเริ่มต้น การช่วยเหลือ และแนวทางการแก้ปัญหาครอบครัวพ่อ หรือแม่คนเดียวไว้อย่างน่าสนใจ อาจารย์มาลี จิรวัฒนานนท์ อาจารย์สาขาวิชาคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) บอกว่า กระบวนการเข้าสู่การเป็นครอบครัวพ่อ หรือแม่คนเดียวนั้น เริ่มจากช่วงเวลาก่อนที่ชีวิตคู่ครอบครัวจะสิ้นสุดลง ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่า สาเหตุที่นำไปสู่การจบชีวิตครอบครัวมาจาก ความขัดแย้ง การทะเลาะวิวาท และการเสียชีวิตของคู่สมรส จากนั้นเมื่อกลายเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ในระยะนี้จะมีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ อาทิ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ที่อยู่อาศัย และโครงสร้างของครอบครัว เป็นต้น “จากการศึกษาวิจัยพบว่า ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวไม่ได้อยู่เพียงลำพัง ส่วนใหญ่จะได้รับการเกื้อกูลครอบครัวที่ประกอบด้วยญาติพี่น้อง ที่ให้การช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย การเงิน และอารมณ์จิตใจ ขณะเดียวกันยังพบด้วยว่า การจัดบริการโดยหน่วยงานสวัสดิการสังคมทางภาครัฐ และเอกชน มีบทบาทสำคัญในการประคับประคองให้ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ ซึ่งเหล่านี้ควรมีการส่งเสริมอย่างจริงจังอย่างต่อเนื่อง” อาจารย์มาลี แนะนำคู่รักซึ่งประสงค์จะมีชีวิตคู่ครอบครัวร่วมกันว่า ควรมีการเตรียมพร้อมสำหรับชีวิตคู่ที่จะอยู่ร่วมกัน โดยการวางแผนล่วงหน้าด้านการจัดการบริหารการเงิน ที่อยู่อาศัย การแสวงหาความรู้ และทำความเข้าใจต่อหลักการของการจะมีชีวิตคู่ครอบครัวที่มั่นคงแข็งแรงต่อไปในอนาคต ซึ่งหากทำได้เช่นนี้เชื่อว่า ปัญหาครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวจะเกิดขึ้นน้อยลง ขณะที่ รศ.ดร.จิตตินันท์ เดชะคุปต์ อาจารย์สาขาวิชามนุษยนิเวศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เผยผลการศึกษาการให้ความช่วยเหลือของครอบครัวพ่อ หรือแม่คนเดียวว่า ส่วนใหญ่พ่อแม่ที่เป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวนั้น ต้องการความช่วยเหลือครอบคลุมในหลายด้าน ทั้งการศึกษาของบุตร เงินทุนประกอบอาชีพ เงินสำรองไว้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ด้านที่อยู่อาศัย และด้านการรักษาพยาบาล อย่างไรก็ตามความต้องการดังกล่าวข้างต้น หากจะมีการตอบสนอง และดำเนินการในระดับนโยบายของครอบครัวพ่อหรือแม่คนเดียว ควรมีแนวทางดังนี้ ด้านการศึกษา ควรจัดทุนการศึกษาให้เด็กที่มาจากครอบครัวพ่อ หรือแม่คนเดียวที่กำลังศึกษาภาคบังคับ ด้านอาชีพและเงินทุนประกอบอาชีพ ควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงานที่มีการจัดฝึกอาชีพเป็นระยะ โดยเน้นอาชีพที่หลากหลาย และไม่ต้องใช้เวลาในการฝึกอบรมนาน ด้านเงินทุน ควรมีแหล่งให้คำแนะนำในการกู้เงินกรณีฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลเร่งด่วน โดยในระยะสั้นท้องถิ่นอาจต้องจัดตั้งกองทุนฉึกเฉินที่สามารถขอรับเงินได้ทันที และในระยะยาว กระทรวงสาธารณสุขควรกำหนดให้ครอบครัวพ่อหรือแม่คนเดียว ที่เป็นฝ่ายดูแลบุตร และมีรายได้น้อย สามารถได้รับเงินสงเคราะห์ในการรักษาพยาบาลในกรณีฉุกเฉิน หรือเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาพยาบาล ด้านที่อยู่อาศัย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรจัดหาที่พักอาศัยที่เสียค่าใช้จ่ายในราคาถูก และไม่มีกฎเกณฑ์ยุ่งยากในการขอรับบริการให้กับครอบครัวพ่อหรือแม่คนเดียว ส่วนด้านความต้องการได้รับข้อมูลข่าวสารนั้น ในระดับท้องถิ่นทุกจังหวัดควรมีแหล่งให้ความช่วยเหลือด้านข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ครอบครัวพ่อหรือแม่คนเดียว และควรมีหน่วยงานรวบรวมข้อมูลปัญหา สถิติจำนวนครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว เพื่อประโยชน์ในการช่วยเหลือต่อไป รศ.ดร.จิตตินันท์ กล่าวทิ้งท้ายถึงแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาครอบครัวพ่อ หรือแม่คนเดียวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการให้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับเพศศึกษา และครอบครัวศึกษา ตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ ให้เหมาะกับแต่ละวัย เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง ในช่วงวัยรุ่น ควรให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา การวางตัวกับเพื่อนต่างเพศ บทบาทของเพศชายและหญิง การป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ส่วนวัยผู้ใหญ่ ควรให้ความรู้เกี่ยวกับชีวิตครอบครัว ทักษะในการใช้ชีวิตคู่ บทบาทหน้าที่ของสามีภรรยา การสร้างครอบครัวให้มีความสุข และการรู้จักวิธีแก้ไขปัญหาครอบครัวอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ครอบครัวผ่านพ้นวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในครอบครัวไปได้ “ที่สำคัญควรมีหน่วยงานให้คำปรึกษาแก่คู่สมรสที่มีปัญหาครอบครัว และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง เพื่อช่วยให้คู่สมรสมีที่พึ่ง และสามารถจัดการกับปัญหาได้ตั้งแต่ครอบครัวเพิ่งเริ่มมีปัญหา โดยไม่ต้องมีการหย่าร้างหรือแยกทางกัน ขณะเดียวกันสื่อไม่ควรนำเสนอข่าวที่เกี่ยวกับการเลิกร้างกันของดารา โดยเสนอเป็นข่าวใหญ่หรือลงเรื่องราวติดต่อกัน เพราะจะเป็นแบบอย่าง และทำให้เกิดความเคยชินกับการหย่าร้าง หรือแยกกันอยู่” รศ.ดร.จิตตินันท์ กล่าวด้วยว่า ควรนำมาตรการทางภาษีอากรมาแก้ปัญหาในระยะสั้น โดยเพิ่มค่าลดหย่อนให้กับครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว โดยให้นำค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ และในระยะยาว ควรปฏิรูประบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อยได้รับประโยชน์มากขึ้น ขณะเดียวกันควรเพิ่มกลุ่มเป้าหมายครอบครัวพ่อหรือแม่คนเดียว เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายหนึ่งในเรื่องค่าใช้จ่ายในการศึกษาภายใต้กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา เหล่านี้เป็นเพียงคำแนะนำจากผลการศึกษา ก็ได้แต่หวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงจะนำไปพิจารณา และปรับใช้ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับพ่อหรือแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกแบบเดียวดาย สามารถดำเนินชีวิตต่อไปในสังคมได้อย่างมีความสุข สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เบญจรัตน์ สินสงวน (จอย) บริษัท เอ็นจอย คอมมูนิเคชัน จำกัด โทร.089-448-9582

แท็ก ครอบครัว  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ