ภาครัฐร่วมแรงองค์กรภาคเอกชน ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาซอฟต์แวร์

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday February 24, 2009 14:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--วีโร่พับลิครีเลชั่นส์ ภาคต่อของโครงการ “รวมใจใช้ซอฟต์แวร์แท้แห่งชาติ” ร่วมด้วยข้อเสนอพิเศษจากผู้ผลิตซอฟต์แวร์ชั้นนำเพื่อเอสเอ็มอีไทย ตำรวจแจงธุรกิจที่ใช้งานซอฟต์แวร์จริงเกินกว่าจำนวนลิขสิทธิ์ที่ได้รับอนุญาตยังอยู่ในข่ายถูกสืบสวน หน่วยงานภาครัฐ ผู้นำธุรกิจและองค์กรภาคเอกชนด้านไอที มารวมตัวกันวันนี้เพื่อสนับสนุนโครงการเพื่อลดการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศนโยบายเชิงรุกแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ต่อยอดโครงการร่วมใจใช้ซอฟต์แวร์แท้แห่งชาติในปี 2551 โดยเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์แก่ภาคธุรกิจทั่วประเทศ โครงการ “รวมใจใช้ซอฟต์แวร์แท้แห่งชาติ” ซึ่งล่วงเข้าสู่ปีที่สองนี้ เป็นความพยายามของกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทย โดยมุ่งส่งเสริมให้ประชาชนและองค์กรธุรกิจต่างๆ ตระหนักและเคารพสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ รวมทั้งรณรงค์ส่งเสริมการใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ที่ถูกกฎหมาย โดยจะจัดให้มีการจัดสัมมนาการบริหารจัดการซอฟต์แวร์ในภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ อยุธยา ชลบุรี นครราชสีมาและปราจีนบุรี ระหว่างเดือน มีนาคม — พฤษภาคม 2552 ทั้งนี้ภายในงานสัมมนา กรมฯ ได้ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในการจำหน่ายซอฟต์แวร์ชั้นนำราคาพิเศษ เช่น อโดบี ออโต้เดสค์ ไมโครซอฟท์ ไซแมนเทค เทรนด์ไมโคร และไทยซอฟต์แวร์ เอ็นเตอร์ไพร์ส ให้มอบส่วนลดให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย รายละเอียดสามารถดูได้จากเว็บไซต์ของโครงการฯ www.stop.in.th “โครงการในครั้งนี้มุ่งให้ความรู้และเพิ่มความตระหนักในคุณค่าของสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญาแก่สาธารณชน” นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญากล่าว “การดำเนินธุรกิจโดยเคารพในสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญาก่อให้เกิดการจ้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจ การลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมไอที เศรษฐกิจ และชื่อเสียงในระดับนานาชาติ รวมทั้งความสามารถในการแข่งขันของไทย” “ผลการศึกษาล่าสุดของไอดีซีถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้รับจากการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ระบุว่า หากไทยลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนพีซีลงได้ 10% จะเกิดการจ้างงานเพิ่ม 2,100 ตำแหน่ง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 35,000 ล้านบาท) และภาษีรายได้เพิ่มขึ้น 55 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2,275 ล้านบาท)” นางพวงรัตน์กล่าวเสริม โครงการฯ ในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีแห่งชาติ (บก.ปศท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้บังคับการบก. ปศท. พล.ต.ต. โกวิทย์ วงศ์รุ่งโรจน์ กล่าวว่าโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลที่จะกำจัดการละเมิดลิขสิทธิ์ให้หมดไปจากประเทศ พล.ต.ต. โกวิทยังกล่าวอีกว่าองค์กรธุรกิจที่ใช้งานซอฟต์แวร์จริงเกินกว่าจำนวนลิขสิทธิ์ที่ได้รับอนุญาตอยู่ในข่ายถูกสืบสวน “นี่เป็นโครงการต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ครั้งสำคัญ” พล.ต.ต. โกวิทประกาศ “หน่วยงานของเรามีหน้าที่ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของผู้คิดค้นนวัตกรรมใหม่” องค์กรภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนโครงการในครั้งนี้ประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เอทีเอสไอ) สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (เอทีซีไอ) กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) รวมทั้งกลุ่มผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ชั้นนำ ดร. รุ่งเรือง ลิ้มชูปฏิภาณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติกล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการของไทยเป็นอย่างยิ่ง “การปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจะทำให้เกิดการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติ ผู้คิดค้นนวัตกรรมและผู้ประกอบการจะได้รับการคุ้มครอง ไม่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ และไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เศรษฐกิจของไทยจะพัฒนาถ้าเราส่งเสริมให้คนไทยตระหนักรู้ในคุณค่าของทรัพย์สินทางปัญญาและช่วยกันสร้างสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญาให้มากยิ่งขึ้น ผมขอชื่นชมความพยายามของกรมทรัพย์สินทางปัญญา และเชื่อว่าโครงการจะต้องประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง” นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย นายสมเกียรติ อึงอารี ในฐานะแกนนำฝั่งอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ยังขานรับนโยบายของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาและยังเรียกร้องให้ผู้จัดจำหน่ายและร้านค้าต่างๆหยุดจำหน่ายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ “ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจต่างได้รับผลกระทบจากการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญเสียรายได้และภาษีที่ควรเรียกเก็บได้ ผมมั่นใจว่าโครงการรวมใจใช้ซอฟต์แวร์แท้ปีที่ 2 นี้จะได้รับการสนับสนุนที่ดียิ่งจากภาคเอกชนเช่นที่ผ่านมา ความพยายามอย่างต่อเนื่องเช่นนี้นี้จะเพิ่มความเคารพในสิทธิ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาของซอฟต์แวร์ เช่นเดียวกับในอุตสาหกรรมอื่นๆ” ความพยายามลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในระดับค้าปลีกรวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น การสื่อสารโดยตรงกับผู้ค้าปลีกที่ต้องสงสัยว่าจำหน่ายซอฟต์แวร์เถื่อน ตลอดจนกิจกรรมด้านการตลาดที่ทำให้ผู้ค้าตระหนักถึงผลที่จะตามมาจากการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญา บีเอสเอแสดงความชื่นชมต่อภาครัฐสำหรับความพยายามอย่างต่อเนื่องในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา “เราภูมิในที่ได้สนับสนุนโครงการที่นำโดยภาครัฐเพื่อต่อต้านซอฟต์แวร์เถื่อนและซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ เราขอปรบมือให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องลดและกำจัดการละเมิดลิขสิทธิ์ให้หมดไปในที่สุด” นางสาวศิริภัทร ภัทรางกูร โฆษกคณะกรรมการกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ ประจำประเทศไทยกล่าว “สำหรับอนาคตของประเทศไทยในฐานะที่เป็นสมาชิกในวงการค้าโลก เราจำเป็นต้องเดินหน้าลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทยเอง” สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการรวมใจใช้ซอฟต์แวร์แท้แห่งชาติปีที่ 2 กรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของโครงการฯ www.stop.in.th ข่าวประชาสัมพันธ์นี้ออกในนามของผู้สนับสนุนโครงการ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-684-1551 วีโร่พับลิครีเลชั่นส์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ อาทิมา ตันติกุล ชลิดา ศิริสุทธิเดชา วีโร่พับลิครีเลชั่นส์ วีโร่พับลิครีเลชั่นส์ โทร: +66 (0) 2684-1551 โทร: +66 (0) 2684-1551 แฟกซ์: +66 (0) 2684-1553 แฟกซ์: +66 (0) 2684-1553 E-mail: artima@veropr.com E-mail: chalida@veropr.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ