กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--เครือเจริญโภคภัณฑ์
“ธนินท์ เจียรวนนท์” แนะพัฒนาภาคเกษตรไทยสู่เกษตรสมัยใหม่ด้วยการสนับสนุนเงิน เทคโนโลยี และตลาดให้กับเกษตรกร เสนอแนวคิดพัฒนาเกษตรกรรม 4 รูปแบบ สร้างรายได้ที่มั่นคงให้เกษตรกรหลุดพ้นวังวนความยากจน
เมื่อเร็ว ๆนี้ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ไปบรรยายเรื่องการพัฒนาการเกษตรอย่างไรให้เกษตรกรอยู่ดีกินดี ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีใจความสรุปว่าเกษตรกรไทยเป็นเกษตรกรที่อยู่ภายใต้ความเสี่ยงสูง 3 ประการคือ 1.เงินทุน 2.ภัยธรรมชาติ และ 3.ราคาสินค้าเกษตรที่ไม่แน่นอน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วต่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตออกมาดีแค่ไหนแต่ถ้าราคาต่ำ เกษตรกรยังคงขาดทุนและมีหนี้สินพอกพูนซึ่งผิดธรรมชาติที่ว่าเมื่อความเสี่ยงสูงกำไรก็ต้องสูงด้วย แต่เกษตรกรไทยกลับเสี่ยงสูงแต่กำไรน้อย ทำให้ธนาคารไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้เกษตร เกษตรกรจึงไม่มีกำลังทรัพย์และไม่มีกำลังใจที่จะพัฒนาเกษตรกรรมให้ดีขึ้น จึงกลายเป็นวังวนที่เกษตรกรไทยยังยืนอยู่บนความยากจน
ส่วนการพัฒนาให้ภาคเกษตรไทยก้าวไปสู่เกษตรสมัยใหม่ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ เห็นว่าต้องเติมใน 3 ปัจจัยหลักที่เกษตรกรขาดคือ 1.ทุนซึ่งภาครัฐจะต้องสนับสนุนเงินทุนผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) 2.เทคโนโลยี ซึ่งจะต้องมีการลงทุนในเรื่องการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับภาคเกษตร เช่น ต้องมีการพัฒนาระบบชลประทาน เป็นต้น และ3.ตลาด โดยจะต้องพัฒนาขั้นตอนการตลาดแบบครบวงจรตั้งแต่การเก็บเกี่ยว การเก็บรักษา การแปรรูป การขนส่ง และหาตลาดรับซื้อสินค้า เพราะ 3 ปัจจัยนี้ล้วนเป็นปัจจัยหลักที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้ภาคเกษตรไทยไปสู่เกษตรสมัยใหม่ ซึ่งจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกรอย่างแท้จริง
ในการนี้นายธนินท์ ได้เสนอแนวทางพัฒนาภาคเกษตรเป็น 4 รูปแบบคือ1. เกษตรกรกลุ่มยากจนที่สุด เกษตรกรกลุ่มนี้จะทำการเกษตรตามมีตามเกิด เนื่องจากอยู่ห่างไกลความเจริญ การจะเข้าไปสนับสนุนให้ทุกคนทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทั้งหมดคงเป็นเรื่องยาก แนวทางที่เห็นว่าสามารถทำได้คือให้เกษตรกรเหล่านี้รวมตัวกันเป็นบริษัทหรือสหกรณ์โดยที่ทุกคนเป็นหุ้นส่วน เอกชนทำหน้าที่เป็นผู้รับจ้างเข้าไปสร้างโรงเรือน ดูแลระบบการจัดการฟาร์ม หาตลาดรองรับสินค้า แนวทางดังกล่าวเกษตรกรยังคงเป็นเจ้าของ ส่วนผลกำไรที่เกิดขึ้นแบ่งกันระหว่างเกษตรกรและเอกชน
2. เกษตรกรตามหมู่บ้าน ภาคเอกชนหรือบริษัทจะเข้าไปคัดเลือกเกษตรกรรายที่มีความสามารถแต่ไม่มีเงินทุน โดยบริษัทจะเป็นผู้ลงทุนฟาร์มเลี้ยงสัตว์ให้ก่อน 1 โรงเรือน เพื่อให้โรงเรือนแห่งนี้เป็นเสมือนโรงเรียนสำหรับเกษตรกรในหมู่บ้านที่สนใจให้เข้ามาเรียนรู้การทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ แล้วจึงพัฒนาส่งเสริมให้เกษตรกรรายนี้เป็นตัวแทนบริษัท
3. เกษตรกรที่ยึดอาชีพทำสวนผลไม้ โดยเห็นว่าควรเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรกลุ่มนี้ทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์เพิ่ม เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันมูลสัตว์ที่ได้ก็นำไปทำปุ๋ยสำหรับสวนผลไม้ ซึ่งเป็นแนวทางลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร
4. เกษตรกรกลุ่มที่มีที่ดินมีเงินทุน แต่ไม่มีกำลังจะทำ กลุ่มนี้บริษัทเห็นว่าควรให้เกษตรกรเป็นผู้ลงทุนสร้างโรงเรือน และบริษัทเข้าไปเช่าโรงเรือนทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์
นายธนินท์ ย้ำว่าการแก้ปัญหาความยากจนให้กับเกษตรกร จำเป็นจะต้องทำให้สินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เท่ากับคนในเมืองเพราะภาคเกษตรเป็นรากฐานสำคัญของประเทศไทย หากเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศหลุดพ้นจากความยากจน ประเทศก็จะมีการเติบโตอย่างมั่นคง
สำนักกิจกรรมสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์
โทรศัพท์ 02-625-8127-30