ปภ. จัดอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่บริหารงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(จบ.ปภ.)รุ่นที่ 6

ข่าวทั่วไป Wednesday February 25, 2009 11:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--ปภ. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยวิทยาลัยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดำเนินโครงการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่บริหารงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(จบ.ปภ.) รุ่นที่ ๖ ระหว่างวันที่ ๒ มีนาคม — ๓ เมษายน ๒๕๕๒ แก่ผู้บริหารระดับต้น เพื่อพัฒนาศักยภาพและเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจในบทบาทภารกิจขององค์กร เสริมสร้างทักษะการบริหารงานและบริหารคนรวมทั้งทัศนคติในการทำงานที่ยึดองค์กรเป็นเป้าหมายและการประสานงานที่มีประสิทธิภาพ นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า นักบริหารระดับต้นขององค์กรมีบทบาทในฐานะผู้รับนโยบายจากผู้บริหารมาแปลงสู่การปฏิบัติ จำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจในการบริหารงาน บริหารคน และบทบาทภารกิจขององค์กร ดังนั้นเพื่อพัฒนาศักยภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้ตอบสนองพันธกิจในการสร้างประเทศไทยให้เป็นเมืองปลอดภัยน่าอยู่ตามวิสัยทัศน์ขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยวิทยาลัยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้จัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่บริหารงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้แก่ข้าราชการในสังกัดที่เป็นผู้บริหารระดับต้น (จบ.ปภ.) รุ่นที่ ๖ ในวันที่ ๒ มีนาคม — ๓ เมษายน ๒๕๕๒ รวมระยะเวลา ๓๓ วัน โดยกำหนดจัดพิธีเปิดการอบรมในวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ห้องราชาวดี ชั้น ๓ วิทยาลัยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตำบลบางพูน อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี สำหรับรูปแบบการอบรม แบ่งเป็น ภาคการศึกษาอบรมโดยวิธีการบรรยาย และการฝึกปฏิบัติ ภาคการศึกษาดูงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยภายในประเทศ โดยกำหนดโครงสร้างหลักสูตรไว้ ๕ หมวดวิชา ดังนี้ หมวดที่ ๑ การบริหารจัดการสาธารณภัย หมวดที่ ๒ การพัฒนางานและวิทยาการสมัยใหม่ หมวดที่ ๓ การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี หมวดที่ ๔ การพัฒนาบุคลิกภาพ หมวด ๕ กิจกรรมเสริมหลักสูตร ทั้งนี้ โครงการฝึกอบรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ ความสามารถในปฎิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีทัศนคติในการทำงานที่ยึดองค์กรเป็นหลักเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรและมีการประสานงานที่มีประสิทธิภาพ มีทักษะการบริหารงานด้านต่างๆ เช่น การบริหารจัดการสาธารณภัย การกำหนดนโยบายและการวางแผนงานตามยุทธศาสตร์หลักของหน่วยงาน การวินิจฉัยสั่งการ การตรวจสอบและติดตามประเมินผล เป็นต้น ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือและบริหารจัดการภัยพิบัติที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงและบ่อยครั้งมากยิ่งขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ