กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า เชื่อมั่นศักยภาพไทยโชว์ความเป็นผู้นำผนึกประเทศสมาชิกอาเซียนเชื่อมโยงความร่วมมือสร้างความแข็งแกร่งเทียบชั้นกลุ่มอียู คาดเศรษฐกิจไทยได้รับประโยชน์มหาศาลจากความเชื่อมั่นประชาคมโลก หนุนการค้าการลงทุนคล่องตัว แนะสร้างกลไกกรอบ เฝ้าระวัง รวมทั้งความร่วมมือในการแก้ปัญหาเฉพาะกิจ สนับสนุนเชื่อมโยงตลาดทุนระหว่างประเทศ เชื่อสถานการณ์การเมืองวุ่นวายไม่กระทบความเชื่อมั่น
ผศ.ปกรณ์ ปรียากร คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ (Graduate School of Public Administration: GSPA) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (National Institute of Development Administration) หรือ NIDA เปิดเผยว่า การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (อาเซียน ซัมมิต) ครั้งที่ 14ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ถึง 1 มีนาคม โดยประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ ถือเป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ เพราะนอกจากเป็นการประชุมอาเซียนตามกฎบัตรใหม่แล้ว ยังถือเป็นการแสดงบทบาทครั้งสำคัญที่สุดของประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน
“เวทีนี้ถือเป็นโอกาสทองที่ประเทศไทยจะแสดงบทบาทที่โดดเด่น ทั้งในฐานะ ประธานอาเซียน และการที่ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน จึงถือเป็น 2 แรงแข็งขันในการแสดงความเป็นผู้นำในอาเซียนและใช้ประเทศไทยเป็นจุดเชื่อมโยง ความร่วมมือที่สำคัญของประเทศสมาชิกให้รวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว เหมือนการรวมกลุ่มของสหภาพยุโรปหรืออียู ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก” ผศ.ปกรณ์กล่าว
ดังนั้น การประชุมอาเซียน ซัมมิต ครั้งนี้ นอกจากเป็นที่จับตามองจากเหล่าบรรดา ประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว ยังจะถูกจับตามองจากประเทศนอกภูมิภาคด้วย เพราะถือเป็น การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของอาเซียนเป็นการแสดงบทบาทและจุดยืนของอาเซียนต่อเวทีโลก
คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า กล่าวต่อว่า นอกจากความเชื่อมั่นที่ประเทศไทย จะได้รับจากเหล่าบรรดาประเทศสมาชิกและทุกๆ ประเทศแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องการค้าและการลงทุน เนื่องจากตลาดอาเซียนถือเป็นตลาดสำคัญในการส่งออกของไทย และเป็นตลาดใหญ่สุดในขณะนี้ โดยมีสินค้าไทยหลายรายการที่มีศักยภาพที่จะส่งออกไปอาเซียน ดังนั้น ความร่วมมือ ในครั้งนี้จะช่วยให้การส่งออกสินค้าไทยมความคล่องตัวมากขึ้น
ส่วนปัญหาและสถานการณ์การเมืองภายในประเทศนั้น เชื่อว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความน่าเชื่อถือในเวทีอาเซียน เพราะในสังคมประชาธิปไตย ความคิดเห็นที่ขัดแย้งถือเป็น เรื่องปกติแต่ต้องอยู่ในกรอบ กฎ กติกาที่สังคมยอมรับ อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าจะไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น เพราะการประชุมในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์ของประเทศชาติ
“ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการประชุมในครั้งนี้เป็นอย่างมาก ทั้งด้านการค้าและการลงทุน รวมถึงความมั่นใจในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและเร่งฟื้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ไทยมีความได้เปรียบ” คณบดี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้ากล่าว
ด้าน รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนาและวางแผน คณะรัฐประศาสน-ศาสตร์ นิด้า กล่าวว่า การประชุมอาเซียนซัมมิตในครั้งนี้จะมีส่วนสำคัญในการวางกรอบ ความร่วมมือทั้งเรื่องการค้า การลงทุน และแนวทางการป้องกันและแก้ปัญหาการว่างงานที่เกิดจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก ซึ่งระบบโครงสร้างเศรษฐกิจอาเซียนถือว่ามีขนาดใหญ่และสำคัญ ต่อระบบเศรษฐกิจโลกเช่นกัน
“การประชุมครั้งนี้คงไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับคนไทยอีกต่อไป ในฐานะที่เราเป็นเจ้าภาพและเป็นประธานอาเซียน เพราะสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ กับประชากรอีกกว่า 550 ล้านคน กำลังจะกลายเป็นตลาดฐานเดียวกันและในปีนี้คาดว่าจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยประมาณ 2-3 % ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก” รศ.ดร.มนตรีกล่าว
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งให้กับอาเซียน ในการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันเข้าสู่ภูมิภาคเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง จนกระทั่งนำไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์แบบ ขณะที่ประเทศไทยเองจะได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล ในฐานะคู่ค้าสำคัญของอาเซียนที่มีสัดส่วนการส่งออกกว่า 30%
รองคณบดีฝ่ายพัฒนาและวางแผน คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่อยากจะเห็นนอกเหนือจากความร่วมมือทางการค้า การลงทุนของประเทศสมาชิกแล้ว ต้องการให้มีกลไกหรือกรอบความร่วมมือบางอย่างในการเฝ้าระวังปัญหาเฉพาะกิจที่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่ออาเซียน เช่น ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้
นอกจากนี้ ยังต้องการให้เกิดความร่วมมือในส่วนของตลาดทุนให้มีการเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิกที่จะสามารถระดมทุน หรือออกตราสารทางการเงินร่วมกันได้ง่ายยิ่งขึ้น อาจจะ ลดข้อจำกัด หรือกฎเกณฑ์บางประการที่ไม่เอื้อต่อกัน
เผยแพร่ข่าวโดยบริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (ในนามคณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า)
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม : พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป)
โทร. 02-248-7967-8 ต่อ 14, 08-1929-8864
Email-address : c_mastermind@hotmail.com