กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--เอสเอ็มอีแบงก์
เอสเอ็มอี แบงก์ จับมือกับ ธนาคารพัฒนาลาว ร่วมศึกษาเตรียมออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และกำหนดแผนงานความร่วมมือระหว่างกัน
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี แบงก์) กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่ธนาคารได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับธนาคารพัฒนาลาว(Lao Development Bank: LDB) เมื่อต้นปี 2551 ตามกรอบข้อตกลงฯเพื่อส่งเสริมและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองธนาคารให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างความร่วมมือด้านธุรกิจการธนาคารเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ดังนั้นเมื่อเร็วๆนี้ ธพว.ได้เข้าร่วมประชุมกับธนาคารพัฒนาลาวและสมาชิกบริหารสภาธนาคาร ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดย ท่านสมดี อินนิไช รองประธานสภาบริหารและสมาชิกบริหารสภาธนาคาร ร่วมหารือกับคณะกรรมการธนาคารและคณะผู้บริหารเอสเอ็มอี แบงก์ ประกอบด้วย นายพิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการบริหาร นายวิชญะ วิถีธรรม นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ นายปุณณิศร์ ศกุลตนาค กรรมการธนาคาร และนายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ เพื่อร่วมมือกันพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ของทั้งสองประเทศ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นลูกค้าของเอสเอ็มอี แบงก์ และ ธนาคารพัฒนาลาว ก่อนเป็นลำดับแรก
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้การสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการทั้งสองประเทศ ทั้งในด้านบริการสินเชื่อ ร่วมลงทุน เช่าซื้อ สินเชื่อเพื่อการส่งออกนำเข้า การค้ำประกันสินเชื่อ และการประกันภัย ตลอดจนจัดทำโครงการ Business Matching เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าคู่ค้าระหว่างกันมากยิ่งขึ้น โดยความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้นทั้งสองฝ่ายจึงมีมติให้จัดตั้งคณะทำงาน เพื่อศึกษารายละเอียดความร่วมมือด้านสินเชื่อ ร่วมลงทุน และเงินฝาก ตลอดจนในด้านกฎหมายระเบียบข้อบังคับ การทำธุรกรรมระหว่างกัน รวมถึงให้คำปรึกษาแนะนำการจัดกิจกรรม และบริการอื่นๆ โดยให้คณะทำงานฯ จัดทำแผนบริการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2552 พร้อมกำหนดแผนผลักดันการให้บริการประเภทต่างๆ แก่กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เป้าหมายซึ่งเป็นลูกค้าธนาคารก่อนเป็นลำดับแรก และจะขยายผลกลุ่ม SMEs ทั่วไปของทั้งสองประเทศต่อไป เพื่ออำนวยความสะดวกทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs
ประธานกรรมการ เอสเอ็มอี แบงก์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันคนลาวใช้สินค้าอุปโภคบริโภคที่นำเข้าจากเมืองไทยประมาณ 60% จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการ SMEs ไปค้าขายที่ฝั่งลาวมากขึ้น เนื่องจากเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง มีเส้นทางขนส่งที่สะดวก และวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน ซึ่งปัจจุบันแม้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในลาวเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่ได้รับบริการสินเชื่อเต็มรูปแบบ จึงทำให้การขยายธุรกิจค่อนข้างจำกัด หากเกิดความร่วมมือดังกล่าวระหว่างกัน เชื่อว่าจะสร้างโอกาสทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการไทยให้สามารถส่งออกได้ในอัตราเพิ่มขึ้น โดยธนาคารทั้งสององค์กรพร้อมที่จะสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ ไทย-ลาว ที่เกิดการลงทุนระหว่างกันต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ฝ่ายสื่อสารองค์กร 0-2265-3601-4