กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสงครามร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสมุทรสงคราม ดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตามหลักการจัดการภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน จำนวน ๓ รุ่น เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการบริหารจัดการภัยพิบัติ สามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นไปใช้ในการบริหารจัดการสาธารณภัย ตลอดจนร่วมเป็นเครือข่ายในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายฉัตรชัย ทองแป้น หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ประเทศไทยต้องเผชิญกับเหตุการณ์ภัยพิบัติที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งภัยธรรมชาติ และภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นจังหวัดที่มีเส้นทางสายหลักในการเดินทางลงสู่ภาคใต้ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางธรรมชาติ จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภัยพิบัติด้านต่างๆ โดยเฉพาะอุบัติภัยทางบกและทางน้ำ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสงคราม จึงได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตามหลักการจัดการภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน (Community Based Disaster Risk Management : CBDRM) จำนวน ๓ รุ่น ดังนี้ รุ่นที่ ๑ วันที่ ๒๖-๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม ให้กับประชาชนในตำบลบางแก้ว หมู่ที่ ๖,๘,๙,๑๐ รวม ๖๐ คน รุ่นที่ ๒ วันที่ ๓-๔ มีนาคม ๒๕๕๒ ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม ให้กับประชาชนในตำบลบางจะเกร็ง หมู่ที่ ๔,๕,๑ รวม ๖๐ คน และรุ่นที่ ๓ วันที่ ๕-๖ มีนาคม ๒๕๕๒ ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลคลองโคน อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม ให้กับประชาชนในตำบลคลองโคน หมู่ที่ ๓,๗,๒ รวม ๖๐ คน เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยพิบัติประเภทต่างๆ และเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขภัยพิบัติให้กับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่
เสี่ยงภัย ซึ่งจะทำให้ชุมชนมีศักยภาพในการนำทรัพยากรในท้องถิ่นมาใช้บริหารจัดการภัยพิบัติ และวางแผนจัดการภัยพิบัติในระดับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถนำประสบการณ์ที่ได้จากการฝึกอบรมไปบริหารจัดการสาธารณภัยในท้องถิ่นของตนเอง และพัฒนาเป็นชุมชนต้นแบบที่สามารถขยายผลการเรียนรู้ และการจัดการภัยพิบัติไปสู่ชุมชนอื่นๆ ต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 022432200 กรมป้องกันฯ