37% ของบริษัทไทยคาดว่าไม่ขึ้นเงินเดือนพนักงาน ในปี 2009 และ 19% ยังไม่ตัดสินใจ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 26, 2009 08:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--แกรนท์ ธอร์นตัน รายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติที่จัดทำโดยแกรนท์ ธอร์นตัน หรือ Grant Thornton International Business Report เผยว่า 37% ของธุรกิจไทยคาดว่าจะไม่มีการขึ้นเงินเดือนภายในปี 2009 และ 32% คาดว่าจะคงระดับเงินเดือนให้เหมาะสมกับเงินเฟ้อ ส่วน 10% ของพนักงานในบริษัทไทยอาจโชคดีและสามารถคาดหวังการขึ้นเงินเดือนให้สูงกว่าระดับเงินเฟ้อได้ แต่ 2% ของพนักงานอาจเคราะห์ไม่ดีนักและอาจถูกลดเงินเดือน นอกจากนี้ ผู้บริหารธุรกิจจำนวน 19% ยังไม่มั่นใจและต้องการรอดูการคลี่คลายของสถานการณ์ก่อนที่จะตัดสินใจ มร. ปีเตอร์ วอล์คเกอร์ กรรมการอาวุโส แกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย กล่าวว่า “ผลการสำรวจดังกล่าวนี้ไม่เป็นที่น่าแปลกใจเมื่อพิจารณาสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจโลกและผลกระทบที่มีต่อธุรกิจไทย สำหรับทั้งบริษัทและพนักงานเองในปี 2009 จะเป็นปีที่ดำเนินการรัดเข็มขัดด้วยความรอบคอบและการบริหารเงินอย่างระมัดระวัง แม้ว่า 19% ของบริษัทไทยที่ยังไม่ได้ตัดสินใจในปัจจุบันก็ดูเหมือนจะมีความลังเลในตอนแรก แต่ ณ เวลาเช่นนี้ การรับมือกับสถานการณ์อย่างยืดหยุ่นได้และการตรวจสอบสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอน่าจะเป็นทางที่ดีที่สุดในการก้าวพ้นผ่านวิกฤตการณ์” นอกจากนี้ มร. วอล์คเกอร์ ยังให้จับตามองโดยย้ำว่า “ผลการสำรวจนี้บ่งบอกถึงความตั้งใจของบริษัทต่างๆ ในระหว่างการจัดทำการสำรวจ แต่ก็ต้องดูสภาพการณ์จริงต่อไปในช่วงระหว่างปีด้วย ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยนความตั้งใจก็เป็นได้” สำหรับผลการสำรวจในระดับโลก พนักงานราวหนึ่งในสี่ของบริษัททั่วโลกอาจจะเผชิญช่วงเวลาที่แย่ลงในปีนี้ โดย Grant Thornton International Business Report รายงานว่า 21% ของธุรกิจวางแผนว่าจะไม่ขึ้นเงินเดือนพนักงานภายในปี 2009 ในขณะที่ 3% คาดว่าจะมีการลดเงินเดือนอย่างแท้จริง ซึ่งในทางตรงกันข้าม มีเพียง 10% ของบริษัทต่างๆ ที่คาดว่าจะขึ้นเงินเดือนให้สูงกว่าระดับเงินเฟ้อ เมื่อเปรียบเทียบผลการสำรวจในระดับภูมิภาคแล้ว เอเชียแปซิฟิกมีการคาดการณ์ในเรื่องเงินเดือนที่แย่ที่สุด ด้วยจำนวน 29% ของบริษัทโดยเฉลี่ยคาดว่าจะไม่ขึ้นเงินเดือนพนักงานภายในปี 2009 โดยในตลาดแรงงานซึ่งมีพนักงานจำนวนมากแต่มีความต้องการต่อแรงงานทักษะลดลงนั้น ตำแหน่งงานจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและการหาพนักงานใหม่ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ กรณีที่หนักหนาที่สุดคือประเทศไต้หวัน ซึ่ง 72% ของบริษัทระบุว่าจะไม่ขึ้นเงินเดือนภายในปี 2009 และมีเพียงแค่ 10% ของบริษัทที่วางแผนจะขึ้นเงินเดือนเท่านั้น ทำให้ความหวังของพนักงานชาวไต้หวันนั้นดูโรยแรงทีเดียว อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นสำหรับเอเชียแปซิฟิกได้แก่ ออสเตรเลีย (89%) และเวียดนาม (88%) ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่คาดว่าจะขึ้นเงินเดือนในปี 2009 ทางด้านกลุ่มเศรษฐกิจในสแกนดิเนเวียดูจะเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นผู้ที่ใจกว้างที่สุด ด้วยจำนวน 82% ของบริษัทระบุว่ามีความตั้งใจจะขึ้นเงินเดือนให้เทียบเท่าหรือสูงกว่าระดับเงินเฟ้อในปีนี้ ในขณะที่ค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 64% โดยเดนมาร์คเป็นผู้นำของกลุ่มที่ 91% ส่วนฟินแลนด์ (89%) และสวีเดน (74%) ก็มีความคาดหวังในระดับสูงเช่นเดียวกัน เนื่องจากการเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจส่งผลกระทบตลอดปี ดังนั้นค่าเฉลี่ยโลกสำหรับการจ้างงานจริงที่เกิดขึ้นจริงเติบโตขึ้นเพียง 0.5% ในปี 2008 โดยเป็นการสำรวจจากบริษัท 7,200 แห่ง ซึ่งลดลงจาก 4% ในปี 2007 ทั้งนี้ มร. ปีเตอร์ วอล์คเกอร์ กล่าวว่า “ด้วยตัวเลขการว่างงานกำลังเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก เราจึงไม่น่าจะเห็นการเติบโตของการจ้างงานในปี 2009” เมื่อสอบถามเกี่ยวกับความคาดหวังต่อระดับการจ้างงานในปีนี้ บริษัทส่วนใหญ่ทั่วโลกคาดว่าจะลดจำนวนมากกว่าเพิ่มจำนวนพนักงาน โดยมีค่าดุลยภาพทั่วโลกสำหรับความคาดหวังต่อการเติบโตของการจ้างงาน ที่ -4% ส่วนบริษัทที่มีทัศนคติด้านบวกมากที่สุดคือเวียดนาม (+60%), บอตสวานา (+49%) และอาร์เมเนีย (+35%) ที่มีดุลยภาพด้านบวกต่อการจ้างงานเพิ่มในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ได้มีดุลยภาพด้านลบต่อความคาดหวังต่อการจ้างงานอย่างมีนัยสำคัญในปี 2009 โดยบริษัทที่มีทัศนคติด้านลบที่สุดคือ ชิลี Chile (-33%), ฮ่องกง (-35%) และสเปน (-42%) นอกจากนี้ ทางด้านระดับของการจ้างงานในประเทศไทย มีผลการสำรวจค่อนข้างเป็นกลาง โดย 15% ของบริษัทคาดว่าจะจ้างงานเพิ่ม ส่วน 16% คาดว่าจะลดการจ้างงาน และ 69% คาดว่าจะคงจำนวนพนักงานไว้ในระดับเดิม มร. ปีเตอร์ วอล์คเกอร์ กล่าวสรุปว่า “เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่บริษัทจะใจกว้างในเรื่องเงินเดือนและโบนัสสำหรับพนักงานในปีนี้ เราจึงแนะนำให้บริษัทให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นไปอีกต่อการจูงใจพนักงานแบบ “Soft-side” ในความเป็นจริงแล้ว แม้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจส่วนใหญ่จะอ่อนตัวลง แต่ปี 2009 อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ดีในการมุ่งเน้นการอบรมเสริมทักษะให้แก่พนักงาน เพราะการอบรมเสริมทักษะภายในบริษัทเป็นวีธีการที่ดีที่จะแสดงความจริงจังในการพัฒนาทักษะให้แก่พนักงานและสามารถเสริมสร้างสปิริตของทีมงานได้ ด้วยค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างต่ำ” รายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของ แกรนท์ ธอร์นตัน (IBR) ทำการสำรวจทัศนคติของผู้บริหารในบริษัทเอกชนทั่วโลกทุกปี การสำรวจริเริ่มขึ้นเมื่อปี 1992 ใน 9 ประเทศในทวีปยุโรป และในปัจจุบันครอบคลุม 7,200 ธุรกิจในเศรษฐกิจ 36 กลุ่ม โดยเป็นการรายงานข้อมูลเชิงแนวโน้มในระดับพื้นที่ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ในประเด็นเศรษฐกิจและการพาณิชย์ที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น ‘เครื่องจักร’ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ซึ่งข้อมูลสำหรับภาคอุตสาหกรรมหลัก 8 ภาคนั้นมีการจัดทำเป็นครั้งแรกในปี 2009 นี้ การสำรวจดำเนินการโดย Experian Business Strategies Limited ทั้งนี้ แกรนท์ ธอร์นตัน อินเตอร์เนชั่นแนล จะมอบเงิน 5 ดอลลาร์สหรัฐให้แก่ องค์กร UNICEF ต่อผลสำรวจหนึ่งฉบับที่มีผู้ร่วมให้ข้อมูล รวมเป็นเงิน 39,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2008 หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ IBR กรุณาเข้าชมเว็บไซต์ www.internationalbusinessreport.com และท่านสามารถดาวน์โหลดข่าวประชาสัมพันธ์นี้ได้ที่เว็บไซต์ www.grantthornton.co.th/press เกี่ยวกับ แกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย: แกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงธุรกิจในฐานะบริษัทที่ปรึกษาและให้บริการอย่างมืออาชีพระดับแนวหน้าของประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 มีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาแก่บริษัทต่างๆ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียปี พ.ศ. 2540 โดยใช้วิธีการปรับโครงสร้างหนี้ การลดค่าใช้จ่าย และการปรับปรุงแผนธุรกิจ กลุ่มงานให้บริการของแกรนท์ ธอร์นตัน ได้แก่ - การให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ - การตรวจสอบบัญชี - การให้คำปรึกษาทางภาษี - การให้บริการปรึกษาเฉพาะทาง - การจัดหาบุคลากรระดับผู้บริหาร ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ แกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย กรุณาเข้าชมเว็บไซต์ www.grantthornton.co.th. ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: ปีเตอร์ วอล์คเกอร์ ลักษณ์พิไล วรทรัพย์ กรรมการอาวุโส ส่วนงานให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร แกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย แกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย T +66 (0)2 205 8250 T +66 (0)2 205 8142 E peter.walker@gt-thai.com E lakpilai.worasaphya@gt-thai.com คริสทีน โฮบาร์ท ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารนานาชาติ T +44 (0) 20 7391 9548 M +44 (0) 79 0005 2240 E christine.hobart@gtuk.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ