เอกชนเชื่อมั่นหน่วยไอพีเอ็มของ สนช. ทุ่มเงินกว่า 7 แสนบาท รับถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตจุลินทรีย์เร่งผลผลิต ในนาข้าว-นากุ้ง

ข่าวเทคโนโลยี Friday October 20, 2006 16:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--เอพีพีอาร์ มีเดีย
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงานแถลงข่าว “การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแบคทีเรียสังเคราะห์แสง เพื่อใช้เพิ่มผลผลิตในนาข้าวและนากุ้ง” และพิธีลงนามในสัญญาการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อนำเสนอตัวอย่างผลงานได้ที่รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาของ สนช. ในการนำเทคโนโลยีและผลงานวิจัยของคนไทยสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ณ ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค บางนา
ดร. ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “ปัจจุบัน การจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการพัฒนาประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันได้ เพราะการจะใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและพัฒนาของประเทศให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุดนั้น ย่อมต้องอาศัยระบบการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นเลิศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความรู้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นธุรกิจนวัตกรรม ผ่านระบบการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา อันจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยในเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยมีพันธมิตรต่างๆ ทั้งในมหาวิทยาลัยและภาคเอกชนให้การสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งจะได้รับผลตอบแทนกลับคืนมาและสามารถนำไปใช้เป็นทรัพยากรในการเสริมสร้างความรู้ใหม่ได้ต่อไป ทำให้เกิดการสร้างความรู้อย่างต่อเนื่องและทำให้ศักยภาพในการแข่งขัน
ทางอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น”
นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สนช. “การจัดตั้งโครงการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Management; IPM) เป็นร่วมมือระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ สนช. เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนให้มีการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาที่ตอบสนองความต้องการของตลาด สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางพาณิชย์ได้มากขึ้น ที่ผ่านมาโครงการนี้ได้ดำเนินการในระยะนำร่อง 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนสิงหาคม ปรากฏว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ และภาคเอกชน เพื่อผลักดันการนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีที่คนไทยพัฒนาขึ้น ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง”
“สำหรับกิจกรรมในงาน “เทคโนมาร์ท” นี้ IPM ได้จัดให้มีการเจราจาธุรกิจทรัพย์สินทางปัญญาขึ้น
และโครงการแรกที่ได้เจรจาตกลงกันสำเร็จเรียบร้อยในวันนี้ ได้แก่ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแบคทีเรียสังเคราะห์แสงสำหรับเพิ่มผลผลิตในนาข้าวและนากุ้ง ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของ รศ.ดร. นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีบริษัท อดินพ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่มีศักยภาพสูง เป็นผู้รับเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรรูปแบบใหม่ออกสู่ตลาด โดยบริษัท อดินพ จำกัด ตกลงจ่ายค่าถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือค่าใช้สิทธิให้กับเจ้าของเทคโนโลยี จำนวน 700,000 บาท และหน่วยบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาจะได้รับส่วนแบ่งคิดเป็นร้อยละ 10 ของค่าถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น” นายศุภชัยฯ กล่าว
เกี่ยวกับโครงการ “โรงงานผลิตเชื้อแบคทีเรียสังเคราะห์แสงต้นแบบ”
เป็นการพัฒนาการผลิตเชื้อแบคทีเรียสังเคราะห์แสงในระดับโรงงานต้นแบบ ซึ่งแบคทีเรียสังเคราะห์แสงจะถูกเลี้ยงในถังปฏิกิริยาที่ถูกควบคุมอุณหภูมิ ปริมาณอากาศ และค่าความเป็นกรด-ด่าง ตลอดระยะเวลาการหมัก 2 วัน โดยใช้กากน้ำตาลเป็นแหล่งอาหารหลักในการเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียสังเคราะห์แสง กระบวนการผลิตและเชื้อจุลินทรีย์สังเคราะห์เป็นการพัฒนาจากงานวิจัยของ รศ.ดร. นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม. เกษตรศาสตร์ ซึ่งเชื้อแบคทีเรียสังเคราะห์แสงที่ได้จากโครงการจะถูกนำไปทดสอบยืนยันการใช้แบคทีเรียสังเคราะห์แสงเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวหอมมะลิในแปลงทดลองของศูนย์วิจัยข้าว ปทุมธานี และในพื้นที่ปลูกข้าวจริง
โครงการโรงงานผลิตเชื้อแบคทีเรียสังเคราะห์แสงต้นแบบ
ผู้เสนอโครงการ: นางชุตินันท์ สนั่นเสียง ตำแหน่ง: กรรมการผู้จัดการ
หน่วยงาน : บริษัท อดินพ จำกัด
โทรศัพท์ : 02-445 5022 โทรสาร : 02-445 5020
ภาพรวมของโครงการ
แบคทีเรียสังเคราะห์แสง (photosynthetic bacteria; PSB) พบกระจายทั่วไปในธรรมชาติ ตามแหล่งน้ำจืด น้ำเค็ม ทะเลสาบทั้งน้ำเค็มและน้ำจืด น้ำพุร้อน และน้ำทะเลบริเวณขั้วโลกเหนือ นอกจากนี้ยังพบตามแหล่งน้ำเสีย บ่อบำบัดน้ำเสีย และดิน
แบคทีเรียสังเคราะห์แสงสามารถใช้บำบัดน้ำเสียจากอาคารบ?านเรือน การเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมทางเคมีและป?โตเลียม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการนำมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะการใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว ซึ่งพบว่าสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวได้มากถึงไร่ละ 20 — 30 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากดินในบริเวณรากข้าวในระยะข้าวตั้งท้องจะมีสภาวะแบบไม่มีออกซิเจนทำให้แบคทีเรียที่ในกลุ่มแอนแอโรบิกแบคทีเรีย (anaerobic bacteria) เจริญได้ดี สร้างก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) ซึ่งมีผลไปยับยั้งกระบวนการสร้างเมตาโบลิซึมของรากข้าว แต่เมื่อนำแบคทีเรียสังเคราะห์แสงมาใส่ลงในดินในระยะเวลาดังกล่าว แบคทีเรียสังเคราะห์แสงจะเปลี่ยนไฮโดรเจนซัลไฟด์ให้อยู่ในรูปสารประกอบซัลเฟอร์ที่ไม่เป็นพิษต่อราก จึงมีผลให้รากของต้นข้าวเจริญงอกงามมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและลักษณะของต้นข้าวก็มีความแข็งแรง นอกจากนี้เซลล์ของแบคทีเรียสังเคราะห์แสง ยังสามารถนำมาใช้เป็นแหล่งอาหารเสริมของสัตว์ได้เพราะเซลล์ของแบคทีเรียสังเคราะห์แสงจะประกอบด้วยโปรตีนสูงถึงร้อยละ 60-65 ซึ่งโปรตีนเหล่านี้ประกอบด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็นครบถ้วน และยังมีวิตามินและแร่ธาตุ เช่น วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 กรดฟอลิค วิตามินบี 12 วิตามินซี วิตามินดี วิตามินอี รงควัตถุสีแดง (carotenoid) และสารโคแฟคเตอร์เช่น ยูบิควิโนน (Ubiquinone) โคเอนไซม์คิว (Coenzyme-Q)
โครงการ “โรงงานผลิตเชื้อแบคทีเรียสังเคราะห์แสงต้นแบบ” นี้ มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาการผลิตเชื้อแบคทีเรียสังเคราะห์แสงในระดับโรงงานต้นแบบ ซึ่งแบคทีเรียสังเคราะห์แสงจะถูกเลี้ยงในถังปฏิกิริยาที่ถูกควบคุมอุณหภูมิ ปริมาณอากาศ และค่าความเป็นกรด-ด่าง ตลอดระยะเวลาการหมัก 2 วัน โดยใช้กากน้ำตาลเป็นแหล่งอาหารหลักในการเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียสังเคราะห์แสง กระบวนการผลิตและเชื้อจุลินทรีย์สังเคราะห์ได้พัฒนาจากงานวิจัยของ รศ.ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ซึ่งเชื้อแบคทีเรียสังเคราะห์แสงที่ได้จากโครงการจะถูกนำไปทดสอบยืนยันการใช้แบคทีเรียสังเคราะห์แสงเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวหอมมะลิในแปลงทดลองของศูนย์วิจัยข้าว ปทุมธานี และในพื้นที่ปลูกข้าวจริง
รูปแบบที่ขอรับการสนับสนุน
เงินอุดหนุนในโครงการ “แปลงเทคโนโลยีเป็นทุน” จำนวนเงินไม่เกิน 960,000 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี จากมูลค่าโครงการ 2,550,000 บาท
วัตถุประสงค์ของโครงการที่เสนอ
- เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตเชื้อแบคทีเรียสังเคราะห์แสง
- เพื่อทดสอบยืนยันการใช้แบคทีเรียสังเคราะห์แสงเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวหอมมะลิ
ลักษณะของความเป็น “นวัตกรรม” (Innovative feature)
เป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ระดับประเทศ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เชื้อแบคทีเรียสังเคราะห์แสงที่ได้สามารถนำไปใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตพืชผลทางการเกษตร เช่น ข้าว ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเชื้อแบคทีเรียสังเคราะห์แสงจะถูกเลี้ยงในถังปฏิกิริยาที่ถูกควบคุมอุณหภูมิ ปริมาณอากาศ และค่าความเป็นกรด-ด่าง ตลอดระยะเวลาการหมัก 2 วัน โดยใช้กากน้ำตาลเป็นแหล่งอาหารหลักในการเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียสังเคราะห์แสง
ความเป็นไปได้
- ด้านกระบวนการผลิต
กระบวนการผลิตและเชื้อจุลินทรีย์สังเคราะห์ได้พัฒนาจากงานวิจัยของ รศ.ดร. นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม. เกษตรศาสตร์
- ด้านผลิตภัณฑ์
สามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าว และเป็นแหล่งอาหารเสริมของสัตว์ประโยชน์และผลกระทบ
ด้านเศรษฐกิจ
- ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในวัสดุเหลือทิ้งของอุตสาหกรรมน้ำตาล
- ทำให้ผลผลิตสูงขึ้น ซึ่งมีผลให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น และเพิ่มรสชาติ สีสันของพืชผลเกษตรทำให้ราคาของพืชผลเกษตรที่ใช้ปุ๋ยชีวภาพดังกล่าวราคาสูงขึ้น
- กระตุ้นให้เกิดการลงทุนในธุรกิจใหม่ของภาคอุตสาหกรรม และส่งเสริมให้เกิดการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ ตลอดจนการจ้างงานเพิ่มขึ้น
ด้านสังคม
- เป็นการสร้างภูมิปัญญาและความแข็งแกร่งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย
- สร้างมาตรฐานการออกแบบโรงงานผลิตและมาตรฐานกระบวนการผลิตปุ๋ยชีวภาพที่ได้คุณภาพ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
อาศยา ศิริเอาทารย์ โทร 0-2644-6000 ต่อ 123
อีเมล์: asaya@nia.or.th
บริษัท เอพีพีอาร์ มีเดีย จำกัด
พัชราวดี สุทธิภูล โทร 0-2655-6633 /0-1817-7094
อีเมล์: patcharavadee@apprmedia.com
บุษกร ศรีสงเคราะห์ โทร 0-2655-6633 /0-1911-0931
อีเมล์: busakorn@apprmedia.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ