ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารกสิกรไทย

ข่าวทั่วไป Monday September 4, 2006 13:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Foreign Currency Issuer Default Rating (“IDR”)) ของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (“KBANK”) ที่ระดับ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘C’ และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคารได้รับการคงอันดับเครดิตที่ ‘BBB’ ในขณะเดียวกัน บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวของ KBANK ที่ระดับ ‘AA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F1+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคารที่ ‘AA-(tha)’ (AA ลบ (tha))
อันดับเครดิตสากล IDR รวมทั้งอันดับเครดิตระยะสั้น และอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของผลกำไรจากการดำเนินงานหลัก คุณภาพสินทรัพย์และฐานะเงินกองทุน และเครือข่ายการให้บริการภายในประเทศที่ครอบคลุมอย่างทั่วถึงในตลาดระดับกลาง รวมถึงธุรกิจของธนาคารในภาคธุรกิจและรายย่อยที่แข็งแกร่ง และการบริหารการจัดการที่ดีของกลุ่มผู้บริหารของธนาคาร อันดับเครดิตสนับสนุนยังได้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในระดับสูงที่ทางธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเนื่องมาจากความสำคัญของธนาคารที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ อันดับเครดิตสากลของธนาคารกสิกรไทยขณะนี้ถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตของประเทศไทย ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ ‘BBB+’ การปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่องในอนาคต รวมทั้งการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจและระบบธนาคารพาณิชย์ของไทย ซึ่งรวมถึงโครงสร้างการกำกับดูแลและโครงสร้างทางกฎหมาย เป็นสิ่งจำเป็นที่จะสนับสนุนการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของอันดับเครดิตของธนาคารในอนาคต
ในปี 2549 KBANK ยังคงดำเนินแผนการปฏิรูปองค์กรและกลุ่มธุรกิจของธนาคาร รวมทั้งเพิ่มความแข็งแกร่งของระบบบริหารความเสี่ยงของธนาคาร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะสามารถจัดหาบริการทางการเงินทุกรูปแบบให้กับลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ในปี 2549 ธนาคารได้เริ่มโครงการพิเศษต่างๆเพื่อยกระดับฐานข้อมูลลูกค้า การตลาด การบริการ และพื้นฐานระบบสารสนเทศ รวมทั้งเพิ่มความแข็งแกร่งให้ช่องทางการให้บริการต่างๆของธนาคาร
KBANK รายงานผลกำไรสุทธิที่ 14 พันล้านบาทในปี 2548 ลดลงจาก 15.4 พันล้านบาท ในปี 2547 เนื่องมาจากค่าใช้จ่ายทางด้านภาษีที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานหลักของธนาคารยังคงแข็งแกร่ง โดยผลกำไรก่อนหักภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 18 พันล้านบาท จาก 15.5 พันล้านบาท ในงวดครึ่งปีแรกของปี 2549 กำไรสุทธิของ KBANK ลดลงเป็น 7.2 พันล้านบาท จาก 7.7 พันล้านบาท ในงวดครึ่งปีแรกของปี 2548 โดยมีสาเหตุหลักจากการกันสำรองที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายต่างๆในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นอันเป็นผลมาจากการลงทุนในโครงการปฏิรูปต่างๆที่ดำเนินการอยู่ อย่างไรก็ตาม ผลกำไรก่อนหักสำรองของ KBANK ยังคงเพิ่มขึ้นอีก 10% ในงวดครึ่งปีแรกของปี 2549 เนื่องมาจากการเติบโตของสินเชื่อ ผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อที่สูงขึ้นและรายได้ค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยของธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 4.1% ในงวดครึ่งปีแรกของปี 2549 จาก 3.7% ในปี 2548
ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ KBANK ลดลงมาอยู่ที่ 8.7% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 จากระดับ 9.1% ณ สิ้นปี 2548 ระดับการกันสำรองหนี้สูญก็ได้ลดลงมาอยู่ที่ 36.1 พันล้านบาท เนื่องมาจากการตัดหนี้สูญ ซึ่งระดับสำรองหนี้สูญนี้อยู่ที่ 65.8% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่คงเหลืออยู่ อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หลังหักสำรองต่อส่วนของผู้ถือหุ้นได้ลดลงเป็น 23.1% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 จาก 26% ณ สิ้นปี 2548
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 เงินกองทุนขั้นที่ 1 ของธนาคารอยู่ที่ 10.5% ของสินทรัพย์เสี่ยง ในขณะที่เงินกองทุนทั้งหมดอยู่ที่ 15.6% ซึ่งเป็นระดับที่แข็งแกร่ง เงินกองทุนน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งโดยได้รับการสนับสนุนจากผลกำไรที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะช่วยลดทอนผลกระทบของการจ่ายเงินปันผลและการเจริญเติบโตของสินทรัพย์
ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งก่อตั้งในปี 2488 โดยตระกูลล่ำซำ เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดทางด้านเงินฝากและเงินให้สินเชื่ออยู่ที่ 12% กลุ่มล่ำซำยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของธนาคาร ถึงแม้ว่าสัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่มได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญสู่ระดับน้อยกว่า 5% ในช่วงเวลา ตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ