กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
นิทรรศการศิลปะจัดวาง ห้องนิทรรศการชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เปิดแสดงภาพศิลปะจัดวางเกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อหอศิลปฯ ในอดีต ร่วม 2,000 ชิ้น เพื่อระลึกถึงกระบวนการต่อสู้เรียกร้องของกลุ่มคนรักศิลปะ และแสดงถึงความเป็นมาอันยาวนานของการก่อตั้งหอศิลปฯ โดยจัดแสดงแล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ขณะนี้หอศิลปฯ ได้เปิดทำการแล้ว แต่มีหลายคนที่ไม่รู้ว่าหอศิลปฯ มีความเป็นมาอย่างไร จึงได้จัดแสดงภาพศิลปะจัดวาง ที่ศิลปินและกลุ่มคนรักศิลปะได้วาดขึ้นเพื่อร่วมการเดินขบวนศิลปะที่ยาวที่สุดในโลก ในการรณรงค์ที่ชื่อว่า “ฉันเรียกร้องหอศิลป์ ไม่เอาศูนย์การค้า” ในช่วงปี 2544
ผลงานที่นำมาจัดแสดงนี้ ด้านหนึ่งคือผลงานศิลปะ ขณะที่อีกด้านหนึ่งคือหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวของอดีตให้เราได้เรียนรู้ ผลงานศิลปะร่วม 2,000 ชิ้นนี้ จำนวนหนึ่งเป็นผลงานของศิลปินซึ่งเป็นที่รู้จักดี เช่น วสันต์ สิทธิเขตต์, จุมพล อภิสุข, หงษ์จร เสน่ห์งามเจริญ และทวีศักดิ์ ศรีทองดี แต่ผลงานอีกจำนวนหนึ่งเป็นฝีมือของคนธรรมดามีอาชีพทั่วไป แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่า ผลงานเหล่านี้เป็นของผู้มีส่วนร่วมในการต่อสู้เรียกร้องหอศิลปฯ แห่งนี้ที่มีตัวตนอยู่จริงทั้งสิ้น
ผลงานภาพศิลปะรณรงค์ดังกล่าว เป็นหนึ่งในกระบวนการรณรงค์ที่ต่อเนื่องยาวนานของกลุ่มคนรักศิลปะตลอดระยะเวลายาวนานกว่า 13 ปี เพื่อได้มาซึ่งหอศิลปฯ นิทรรศการศิลปะจัดวางครั้งนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อระลึกถึงการรณรงค์ที่มีความสำคัญอย่างมากในครั้งนั้น โดยจัดแสดงแล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่ห้องนิทรรศการชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน
นอกจากการจัดแสดงภาพศิลปะรณรงค์เพื่อหอศิลป์แล้ว ยังได้จัดแสดงการบอกเล่าเรื่องราวจุดเริ่มต้น ลำดับเหตุการณ์ และผู้ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน ก่อนที่จะเป็นหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ณ สี่แยกปทุมวัน ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ กระบวนการรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อนำมาสู่หอศิลปฯ แห่งนี้ มีผู้เกี่ยวข้องมากมาย ทั้งศิลปิน นักวิชาการ นักการเมือง นักสื่อสารมวลชน และอิสระชนคนธรรมดาสามัญ ผ่านเหตุการณ์น้อยใหญ่หลายครั้ง เต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวและสีสัน มีการจัดกิจกรรมครั้งแล้วครั้งเล่า มีข้อเสนอ มีการชุมนุม มีการเจรจา มีการปะทะขัดแย้งในหลากหลายมิติ จนสามารถผลักดันให้ภาครัฐ(กรุงเทพมหานคร) เห็นชอบงบประมาณสร้างอาคารแห่งนี้ด้วยงบประมาณ 509 ล้าน
การรณรงค์ดังกล่าวจึงมีความเป็นศิลปะอยู่ในตัวเอง เป็นศิลปะแห่งการต่อสู้ เป็นศิลปะแห่งการเคลื่อนไหว และเป็นศิลปะแห่งการร่วมแรงร่วมใจ ขณะเดียวกันหลากหลายกิจกรรมในระหว่างการรณรงค์ก็ได้สร้างผลงานทางศิลปะมากมาย การเดินทางอันยาวนาน (และยังไม่สิ้นสุด?) ของหอศิลปฯ กรุงเทพ จึงนับเป็นปรากฏการณ์ของ “ศิลปะแห่งการรณรงค์และการรณรงค์ด้วยพลังทางศิลปะ” โดยแท้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-214-6630-8 prbacc