รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2552

ข่าวทั่วไป Thursday February 26, 2009 14:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2552 ว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยอุปสงค์ภายในประเทศในด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณอ่อนแอ ส่งผลให้การนำเข้าหดตัวมาก ดังนั้น แม้ว่าการส่งออกหดตัวลงมาก แต่การนำเข้าที่ลดลงมากกว่าทำให้การส่งออกสุทธิและดุลการค้าปรับตัวดีขึ้นในเดือนมกราคม 2552 อย่างไรก็ตาม การเร่งเบิกจ่ายภาครัฐเริ่มมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่การใช้จ่ายภาคเอกชนชะลอ ตัวลง สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจพบว่า อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วตามราคาน้ำมันที่ลดลง และทุนสำรองระหว่างประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับมั่นคง โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้ 1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนมกราคม 2552 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่หดตัวที่ร้อยละ -6.4 ต่อปี ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.4 ต่อปี สะท้อนภาวะการใช้จ่ายภายในประเทศที่ชะลอตัวลง สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวร้อยละ -20.4 ต่อปี และปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งที่หดตัวลงที่ร้อยละ -10.0 ต่อปี สำหรับเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนในส่วนภูมิภาค เช่น ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวลงมากที่ร้อยละ -21.6 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 14.1 ต่อปี เนื่องจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวลดลงจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลง และส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนในส่วนภูมิภาค 2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนมกราคม 2552 มีสัญญาณของการหดตัว โดยเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่วัดจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนหดตัวที่ร้อยละ -29.8 ต่อปี สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัวลงต่อเนื่องที่ร้อยละ -39.5 ต่อปี โดยยอดจำหน่ายรถปิกอัพและรถบรรทุกขนาด 2 ตัน ที่หดตัวลงที่ร้อยละ -39.6 และ -37.6 ต่อปี ตามลำดับ สะท้อนถึงการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้การลงทุนในหมวดการก่อสร้างที่วัดจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -17.7 ต่อปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการลดหย่อนภาษีให้แก่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนมกราคม 2552 พบว่า รายได้รัฐบาลสุทธิประจำเดือนมกราคม 2552 จัดเก็บได้สุทธิ 88.6 พันล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -8.6 ต่อปี โดยสาเหตุสำคัญของรายได้รัฐบาลที่หดตัวเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านั้นมาจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก ประกอบกับระดับราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 6 มาตรการ 6 เดือน ที่ได้มีการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันทำให้รายได้ภาษีสรรพสามิตลดลงเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ภาษีฐานการบริโภคหดตัวร้อยละ -18.3 ต่อปี สะท้อนการบริโภคภาคเอกชนที่หดตัว ในขณะที่ภาษีฐานรายได้สามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 6.3 ต่อปี สะท้อนผลกำไรของภาคธุรกิจและภาวะการจ้างงานที่ยังมิได้รับผลกระทบมากนักจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา สำหรับรายจ่ายรัฐบาลในเดือนมกราคม 2552 เบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 192.4 พันล้านบาท ขยายตัวในระดับสูงร้อยละ 21.5 ต่อปี โดยรายจ่ายประจำเบิกจ่ายได้ 126.0 พันล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 34.1 ต่อปี ขณะที่รายจ่ายลงทุนสามารถเบิกจ่าย 52.0 พันล้านบาท หดตัวที่ร้อยละ -1.8 ต่อปี เนื่องจากมีปัจจัยฐานสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ การใช้จ่ายงบประมาณที่ขยายตัวได้ในระดับสูงสะท้อนถึงบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่การใช้จ่ายภาคเอกชนยังคงไม่ฟื้นตัว 4. การส่งออกในเดือนมกราคม 2552 หดตัวลงต่อเนื่องเป็นผลจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยมูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 10.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -26.5 ต่อปี และหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แยกออกเป็นปริมาณการส่งออกที่หดตัวร้อยละ -27.1 ต่อปี ในขณะที่ราคาสินค้าส่งออกยังคงขยายตัวได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าที่หดตัวลงมากเป็นผลจากการหดตัวในทุกหมวดสินค้าส่งออกหลัก โดยเฉพาะเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ อันเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่หดตัว สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยในทุกตลาด ด้านมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนมกราคม 2552 เท่ากับ 9.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหดตัวลงเช่นกันที่ร้อยละ -37.6 ต่อปี โดยปริมาณนำเข้าหดตัวถึงร้อยละ -35.3 ต่อปี ขณะที่ราคาสินค้านำเข้าหดตัวลงที่ร้อยละ -3.5 ต่อปี โดยมูลค่าและปริมาณสินค้านำเข้าที่หดตัวลง สะท้อนถึงอุปสงค์และการผลิตในประเทศที่หดตัวลง ทั้งนี้ มูลค่านำเข้าที่ต่ำกว่ามูลค่าส่งออกทำให้ดุลการค้าในเดือนมกราคม 2552 เกินดุลจำนวน 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 5. สำหรับเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านอุปทานของเดือนมกราคม 2552 พบว่าภาคอุตสาหกรรมมีการหดตัวลงมาก และภาคบริการจากการท่องเที่ยวมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการเกษตรสามารถขยายตัวได้เล็กน้อย โดยเครื่องชี้การผลิตภาคอุตสาหกรรมวัดจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงถึงร้อยละ -25.6 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยเป็นการหดตัวของการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกเป็นหลัก เช่น อุตสาหกรรมอิเลคโทรนิคส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ และภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ตามความต้องการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอลง สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -43.4 ต่อปี ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตชะลอตัวลงมากเช่นกัน ด้านภาคบริการจากการท่องเที่ยวหดตัวลงต่อเนื่องเช่นกัน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 1.3 ล้านคน หดตัวร้อยละ -10.9 ต่อปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้ภาคการเกษตรที่วัดจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.5 ต่อปี อันเป็นผลจากการขยายตัวของผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะมันสำปะหลัง ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรในประเทศขยายตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี สอดคล้องกับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง 6. เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมกราคมหดตัวร้อยละ -0.4 ต่อปี โดยมีสาเหตุจากราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ปรับตัวลดลง และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลงมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ อัตราการว่างงานในเดือนธันวาคม 2552 ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงานรวม สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 อยู่ที่ร้อยละ 38.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณสำหรับปีงบประมาณ 2552 แต่ยังถือว่าต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 50 ค่อนข้างมาก สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของวิกฤติการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2552 อยู่ในระดับสูงที่ 110.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเกินกว่า 4 เท่า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ