กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--กระทรวงพลังงาน
สนพ.ชูหมู่บ้านไร่ป่าคา ต.ท่าตุ้ม อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เป็นหมู่บ้านพลังงานทดแทนครบวงจร ล่าสุดได้ให้การสนับสนุนสร้างบ่อหมักก๊าซชีวภาพจากมูลวัวกว่า 60 ตัว สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ประมาณ 40 ลบ.ม./วัน เทียบเท่า LPG 18 กก.
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากนโยบายของประเทศที่ตั้งเป้าหมายให้มีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6 ภายในปี 2554 ทำให้ทุกภาคส่วนหันมาช่วยกันลดใช้พลังงาน รวมทั้งใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งจากนโยบายดังกล่าวรัฐบาลจึงได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาด้านพลังงานของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในยุทธศาสตร์ คือ การส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักและหันมาให้ความสำคัญกับการรักษาทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และสร้างความมั่นคงในการดำเนินชีวิต ด้วยการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นการสร้างเครือข่ายด้านพลังงานอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน
โดยในปี 2550-2552 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินโครงการ“การสาธิตการใช้แก๊สซิไฟเออร์ผลิตเชื้อเพลิงแก๊สสำหรับเครื่องยนต์เกษตรกรรม” โดยคัดเลือกให้หมู่บ้านไร่ป่าคา ต.ท่าตุ้ม อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ให้เป็น “ศูนย์สาธิตหมู่บ้านพลังงาน” ระดับประเทศ โดยจะให้ความช่วยเหลือในการดำเนินการเทคโนโลยีพลังงานทดแทนเพิ่มเติม เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นแหล่งเรียนรู้ ดูงาน และถ่ายทอดประสบการณ์ ให้กับชุมชนต่างๆ ต่อไป
“ชุมชนเข้มแข็งคือหัวใจการพัฒนาอย่างบูรณาการ ซึ่งศูนย์สาธิตหมู่บ้านพลังงาน เป็นแนวทางที่ดีและมีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนแล้ว ยังมุ่งหวังให้ชุมชนมีรายได้ และเป็นตัวอย่างให้กับหมู่บ้านอื่นๆ เพื่อจะได้ร่วมกันเป็นเครือข่าย อีกทั้งช่วยแก้ปัญหาด้านพลังงานและพัฒนาเพื่อให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้ในที่สุด” นายวีระพล กล่าว
ผศ.ดร.อนุชา พรมวังขวา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า หมู่บ้านไร่ป่าคา มีการใช้พลังงานทดแทนหลากหลายประเภท ประกอบด้วย เครื่องผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้วขนาด 150 ลิตร/วัน ชุดโซลาเซลผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับปั๊มน้ำทำนำดื่ม RO สูบน้ำบาดาล 2,000 ลิตร/วัน เตาเผาถ่านไม้ขนาด 200 ลิตร แปลงทดลองปลูกทานตะวันขนาด 20 ไร่ เพื่อศึกษาน้ำมันที่ได้จากเมล็ดเพื่อผลิตเป็นไบโอดีเซล ตู้อบลำไยพลังงานชีวมวล
อย่างไรก็ดี ทางสนพ.โดยกองทุนฯ พร้อมให้การสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง โดยมอบหมายให้สถาบันฯ ศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตพลังงานทดแทนด้านอื่นๆ ของหมู่บ้านไร่ป่าคาให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่าหมู่บ้านไรป่าคายังมีศักยภาพด้านการผลิตพลังงานทดแทน อีกจำนวนมากที่สามารถส่งเสริมให้มีการดำเนินการ ได้แก่ 1. บ่อหมักแก๊สชีวภาพ จากมูลวัว (โคขาวลำพูน) จำนวน 60 ตัว จำนวนมูลรวมสามารถป้อนบ่อหมักได้ขนาดประมาณ 100 ลบ.ม. ซึ่งสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ประมาณ 40 ลบ.ม./วัน เทียบเท่า ก๊าซแอลพีจี 18 กก. มีศักยภาพพอเพียงต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อปั๊มน้ำสำหรับประปาหมู่บ้านได้วันละ 4-5 ชั่วโมงที่ขนาดปั๊มน้ำ 2 แรงม้า 2.แก๊สซิไฟเออร์เชื้อเพลิงถ่านไม้เพื่อการสูบน้ำสำหรับการเกษตรกรรม และ3. การผลิตเอทานอลเป็นพลังงานเชื้อเพลิงรถมอเตอร์ไซด์และเครื่องยนต์เกษตรกรรมขนาดเล็ก
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-612-1555 สนพ.