กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--เจริญโภคภัณฑ์อาหาร
CPF ร่วมกับ Central Food Retel จัดเทศกาล 'CP@Central Food Hall' ร่วมฉลองเปิดซุปเปอร์มาร์เก็ต สาขา Central World มั่นใจปีนี้โกยยอดขายเข้าเป้าที่ 1.3 แสนลบ.
CPF มั่นใจปีนี้โกยยอดขายเข้าเป้าที่ 1.3 แสนล้านบาท คาด Q4/49 มีรายได้ 3 หมื่นล้านบาท เหตุราคาขายไก่เริ่มกระเตื้องเผยโรงงานอาหารในลาวเริ่มเดินเครื่องปี 50 คาดมีกำลังการผลิตเฉลี่ย 1.2 หมื่นตันต่อเดือน มั่นใจรายได้และกำไรปี 50 กระเตื้องขึ้น หลังผู้บริโภคคลายกังวลหวัดนก-รับรู้รายได้จากโรงงานอาหารสัตว์ในลาว
นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) เปิดเผยว่า ในปี 2549 คงจะมียอดขายตามที่ประมาณการไว้ที่ 1.3 แสนล้านบาท เนื่องจากในช่วงไตรมาสที่เหลือของปีนี้เป็นช่วงไฮด์ซีซั่นของธุรกิจอาหารสำเร็จรูป ทั้งนี้บริษัทฯ มีสัดส่วนรายได้จากการส่งออก 20% และขายในประเทศ 80% ทั้งนี้ แบ่งเป็นอาหารสัตว์ 30% ไก่ปรุงสุก 25% หมู 15% และส่วนที่เหลือเป็นไข่ไก่ เป็ด และอาหารสำเร็จรูป
ทั้งนี้ในไตรมาสที่ 4 คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท รวมทั้งกำไรน่าจะเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมาอีกด้วย เนื่องจากในไตรมาสดังกล่าวมีเทศกาลต่างๆ มากมาย เช่น คริสต์มาส ปีใหม่ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคจับจ่ายซื้ออาหารในงานเฉลิมฉลองมากยิ่งขึ้น ซึ่งบริษัทฯ จะได้รับอานิสงส์จากเทศกาลดังกล่าวและช่วยสนับสนุนให้รายได้และกำไรเติบโตตามที่ตั้งเป้าไว้อย่างแน่นอน
สำหรับแนวโน้มของรายได้และกำไรในไตรมาสที่ 4 คงจะขยายตัวดีขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วงไตรมาสดังกล่าวเป็นช่วงไฮด์ซีซั่น ประกอบกับราคาไก่เริ่มขยับตัวดีขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา โดยในปัจจุบันราคาไก่อยู่ที่ 33-35 บาท/กิโลกรัม จากเดิมที่ราคาไก่อยู่ที่ 24-25 บาท/กิโลกรัม
นอกจากนี้ โรงงานอาหารสัตว์ในประเทศลาวที่ใช้เงินลงทุนไปกว่า 100 ล้านบาท จะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณปีหน้า ซึ่งในช่วงแรกโรงงานดังกล่าวจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 12,000 ตัน/เดือน ส่วนสาเหตุที่บริษัทฯ เลือกขยายการลงทุนไปยังประเทศลาวเนื่องจากประเทศดังกล่าวยังมีศักยภาพในการเติบโตในทิศทางที่ดีได้ในอนาคต
ส่วนแนวโน้มของผลประกอบการในปี 2550 ทั้งรายได้และกำไรคงจะเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์ของไข้หวัดนกเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับยังมีรายได้จากโรงงานอาหารสัตว์ในประเทศลาว อินเดีย จีน รวมทั้งที่ประเทศตุรกีเข้ามาสนับสนุนอีกด้วย ดังนั้นจึงเชื่อว่าในปีหน้าแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจอาหารคงจะดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในแต่ละปีบริษัทฯ เตรียมงบสำหรับการสร้างแบรนด์เฉลี่ยอยู่ที่ 300-400 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในอาหารภายใต้แบรนด์ของ CPF อย่างไรก็ตาม แผนการดำเนินงานในปี 2550 ในขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการวางแผน ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้
อย่างไรก็ดี ไม่รู้สึกกังวลเกี่ยวกับค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าในปัจจุบัน เนื่องจากบริษัทฯ มีทั้งสินค้าส่งออกและนำเข้า ซึ่งถือได้ว่ามีความสมดุลในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน 'ค่าเงินบาทก็ไม่ได้มีผลกระทบและก็ไม่รู้สึกกังวลอะไรมาก เพราะเรามีทั้งสินค้าส่งออกและนำเข้า ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วอัตราแลกเปลี่ยนก็ถือว่าเฉลี่ยกันไป และก็ยังคงมีความสมดุลอยู่' นายอดิเรก กล่าว