กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--ปภ.
สภาพอากาศตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม มีลักษณะอากาศร้อนอบอ้าวมาก จึงเป็นช่วงที่มักเกิดพายุฤดูร้อนเป็นประจำและบ่อยครั้ง โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยในแต่ละครั้งที่เกิดพายุฤดูร้อน มักก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างเป็นจำนวนมาก
ลักษณะอากาศก่อนเกิดพายุฤดูร้อน จะมีสภาพอากาศร้อนอบอ้าวติดต่อกันหลายวัน ลมสงบ ต่อมาจะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ท้องฟ้ามืดครึ้ม ฟ้าแลบ ฟ้าคะนองในระยะไกล และอาจมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพื่อเป็นการลดความเสียหายจากพายุฤดูร้อน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ขอแนะนำวิธีการรับมือกับพายุฤดูร้อน ดังนี้
ก่อนเกิดพายุ ดูแลบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง หากอยู่ในสภาพไม่ปลอดภัย ให้รีบซ่อมแซมทันที ตัดแต่งกิ่งไม้บริเวณรอบบ้านที่อยู่ใกล้สายไฟฟ้าและตัดต้นไม้ที่อยู่ในสภาพใกล้ล้ม เพื่อป้องกันการ หักโค่นลงมา ตลอดจนเฝ้าระวังดูแล หากพบป้ายโฆษณาอยู่ในสภาพไม่ปลอดภัยหรือติดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาต เสี่ยงต่อ การล้มลงมา
ก่อให้เกิดอันตราย ให้แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการรื้อถอนหรือแก้ไขปรับปรุงต่อไป จัดเตรียมอุปกรณ์และสิ่งของไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เช่น ไฟฉาย ถ่านไฟฉาย ไม้ขีดไฟ เทียนไข เครื่องอุปโภค-บริโภค น้ำดื่มและยารักษาโรค ที่สำคัญ ควรหมั่นติดตามรับฟังพยากรณ์อากาศอย่างสม่ำเสมอ หากมีประกาศแจ้งเตือนการเกิดพายุฤดูร้อนหรือมีลมกระโชกแรงในพื้นที่ ให้จัดเก็บสิ่งของที่สามารถปลิวตามลมได้อย่างมิดชิด สำหรับเกษตรกร ให้ดูแลพื้นที่การเกษตรด้วยการใช้ไม้ค้ำยันต้นไม้ไว้ เพื่อป้องกันผลิตผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย และซ่อมแซมเล้าสัตว์หรือคอกสัตว์ให้อยู่ในสภาพแข็งแรง เพื่อป้องกันไม่ให้แรงลมพัดเล้าสัตว์จนได้รับความเสียหาย
ขณะเกิดพายุ ควรเข้าไปหลบในอาคารบ้านเรือนที่มั่นคง แข็งแรง และปิดประตูหน้าต่างให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันแรงลมหอบวัสดุต่างๆเข้ามาในบ้านเรือน อีกทั้ง ไม่ควรออกนอกบ้าน เพราะเสี่ยงต่อการถูกสิ่งของปลิวใส่หรือล้มทับ กรณีอยู่ในที่โล่งแจ้ง ให้หลบอยู่ใต้อาคารหรือที่กำบังที่มั่นคงแข็งแรง ห้ามหลบใต้ต้นไม้ใหญ่ เสาไฟฟ้า ใต้ป้ายโฆษณาและโครงเหล็กค้ำยันต่างๆเพราะนอกจากอาจจะถูกล้มทับแล้ว ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกฟ้าผ่าได้ เนื่องจากในช่วงที่เกิดพายุฤดูร้อน มักจะเกิดฟ้าผ่าเป็นประจำ เพื่อความปลอดภัย จึงไม่ควรเปิดโทรทัศน์ขณะฟ้าร้อง เนื่องจากฟ้าอาจผ่าลงมาที่เสาอากาศนอกบ้าน ทำให้โทรทัศน์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบริเวณใกล้เคียงได้รับความเสียหายรวมทั้งห้ามใช้อุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด ไม่ประกอบกิจกรรมต่างๆกลางแจ้ง เช่น เล่นกีฬา ทำสวนหรือทำนา เป็นต้น และไม่สวมใส่เครื่องประดับประเภททองคำ เงิน ทองแดง หยิบจับถือหรืออยู่ใกล้บริเวณวัตถุอื่นๆที่มีส่วนประกอบของโลหะ เพราะเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า
หลังเกิดพายุ ไม่ควรออกมาในที่โล่งทันที ควรตรวจดูจนแน่ใจว่าพายุสงบแล้วจึงออกไปสำรวจความเสียหาย หากมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที หากมีต้นไม้อยู่ในสภาพใกล้ล้ม ให้รีบโค่นทิ้งทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นไม้ล้มทับผู้อื่น หากมีเสาไฟฟ้าล้ม สายไฟฟ้าขาดหรือสายไฟฟ้าพาดเกี่ยวกับต้นไม้ ห้ามแตะต้องหรือใช้วัตถุใดๆ เขี่ยหรือเข้าใกล้บริเวณดังกล่าวเด็ดขาด เพราะอาจถูกไฟฟ้าดูดได้ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าเพื่อดำเนินการแก้ไขโดยด่วน
นอกจากนี้ ในขณะเกิดพายุฤดูร้อน จะมีฝนตกหนักและลมกระโชกแรง ทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่ดี จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ผู้ขับขี่ไม่ควรขับรถด้วยความเร็วสูง ควรเว้นระยะห่างจากรถคันหน้ามากกว่าปกติ 2-3 เท่า และเปิดไฟใหญ่เพื่อให้มองเห็นเส้นทางได้ชัดเจน หากทัศนวิสัยแย่มากจนไม่สามารถมองเห็นเส้นทางข้างหน้า ไม่ควรฝืนขับฝ่าพายุฝน ให้จอดรถพักในบริเวณที่ปลอดภัยจากสิ่งของปลิวใส่ ไม่ควรจอดรถใต้ต้นไม้ เพราะกิ่งไม้อาจหักโค่นลงมาทับรถได้ อีกทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้ายโฆษณาต่างๆ หากพบว่าไม่ปลอดภัย หรือติดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัด ตลอดจนแจ้งเตือนให้ประชาชนดูแลบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างต่างๆให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย เพื่อให้การดำเนินชีวิตในช่วงฤดูร้อนเป็นไปด้วยความปลอดภัย