เอสซีจี เปเปอร์ ส่งเสริมการปลูกยูคาลิปตัสสายพันธุ์ใหม่ สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Friday February 27, 2009 09:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์ เอสซีจี เปเปอร์ แสดงศักยภาพผู้นำอุตสาหกรรมกระดาษครบวงจร ประสบความสำเร็จพัฒนาปลูกยูคาลิปตัสลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ H4 เจ้าของรางวัลดีเด่นจากเวทีประกวดนวัตกรรม SCG Power of Innovation Award 2007 — 2008 ซึ่งมีคุณสมบัติทนแล้ง ทนต่อโรคแมลง และสภาพแวดล้อม ให้น้ำหนักดีและให้ปริมาณเยื่อสูงขึ้น สร้างผลตอบแทนในที่ดินแก่เกษตรกรเพิ่มมากขึ้นอย่างยั่งยืน นายจุมพฏ ตัณมณี กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจสวนป่าในธุรกิจกระดาษ เครือซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี เปเปอร์ เปิดเผยว่า ยูคาลิปตัสสายพันธุ์ H4 เป็นไม้ลูกผสมข้ามชนิด (Interspecific Hybrid) ซึ่งเป็นผลผลิตจากการทดลองผสมพันธุ์กว่า 2 ปี และทดลองปลูกอีก 5 ปี โดยสยามฟอเรสทรี และศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีของ SCG Paper และขณะนี้ต้นกล้ายูคาลิปตัสสายพันธุ์ H4 พร้อมสำหรับให้เกษตรกรนำไปปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ มีจุดเด่นตรงที่สามารถปลูกได้ทั้งในพื้นที่ราบระบายน้ำได้ดี และสามารถทนน้ำขังได้เป็นครั้งคราวในฤดูฝน เหมาะสำหรับการปลูกในที่ดินภาคตะวันตก ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ราบ ดินเป็นกรด ดินร่วนปนทราย หรือดินร่วนเหนียวปนทราย “การปลูกยูคาลิปตัสนับว่าเป็นการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนและมั่นคงกว่าพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เพราะเป็นพืชปลูกง่าย เติบโตเร็ว ดูแลจัดการง่าย ลงทุนน้อย ใช้แรงงานน้อย แต่ให้ผลผลิตและผลตอบแทนสูง หากดูแลตามหลักวิชาการ คืนทุนเร็วกว่าการปลูกไม้ชนิดอื่น โดยใช้เวลาเพียง 4-5 ปีก็ตัดขายได้ แล้วยังสามารถแตกหน่อได้ดี โดยสามารถตัดได้ 3-4 รอบ ในรอบที่ 2 จะให้ผลผลิตที่มากกว่ารอบแรกถึง 30% นอกจากนั้นยังสามารถปลูกพืชเกษตรควบในสวนไม้ยูคาลิปตัสได้ ได้แก่ ข้าวโพด สับปะรด มันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ในระหว่างช่วงที่รอการตัดฟันไม้ออก การปลูกสวนไม้ยูคาลิปตัสจึงช่วยเพิ่มมูลค่าที่ดินให้สูงขึ้น ดีกว่าปล่อยไว้ให้รกร้างว่างเปล่า ทำให้สูญเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์ คิดเป็นมูลค่ามหาศาล และยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น ช่วยปรับปรุงสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศให้ดีขึ้นได้” ในด้านการลงทุนและผลตอบแทนนั้น การปลูกยูคาลิปตัสสามารถสร้างรายได้ประมาณ 19,200 บาทต่อไร่ โดยคำนวณจากปริมาณผลผลิต 16 ตันต่อไร่ ส่วนค่าใช้จ่ายในการปลูกและดูแลแปลงไม้ตลอดเวลา 4 ปี รวมทั้งขั้นตอนการตัดและขนส่งไม้เข้าโรงงานตกประมาณ 9,500 บาทต่อไร่นั้น กำไรเบื้องต้นจะอยู่ที่ประมาณ 9,700 บาทต่อไร่ โดยสยามฟอเรสทรีมีบริการครบวงจร เพียงแค่เกษตรกรมีที่ดิน และมีทุน “คนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องว่า การปลูกยูคาลิปตัสจะทำให้ดินเสื่อม เพราะจะดึงธาตุอาหารจากดินไปใช้จนหมด ซึ่งที่จริงแล้ว ยูคาลิปตัสก็ไม่ต่างจากต้นไม้ทั่วไปที่ใช้ธาตุอาหารและน้ำเพื่อความเจริญเติบโต แต่การใช้ประโยชน์จากไม้ยูคาฯ นั้น ได้จากส่วนของเนื้อไม้ ซึ่งมีคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน เป็นส่วนประกอบหลักที่เกิดจากกระบวนการ สังเคราะห์แสง โดยใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ ส่วนธาตุอาหาร อันได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ที่เป็นส่วนประกอบของใบ ดอก ผล และเปลือกไม้ก็จะร่วงหล่นลงสู่พื้นดิน และย่อยสลายทำให้ธาตุอาหารยังหมุนเวียนอยู่ในดิน ไม่ได้สูญสลายไปไหน สรุปว่าการปลูกยูคาลิปตัสไม่มีผลกระทบในทางลบต่อระบบนิเวศ” นอกจากจะปลูกควบกับพืชเศรษฐกิจดังกล่าวแล้ว ยูคาลิปตัสยังสามารถปลูกบนคันนาในนาข้าว ซึ่งนอกจากจะทำให้เกษตรกรมีรายได้จากที่นาเพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชิ้นไม้สับได้วัตถุดิบป้อนโรงงานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนอีกด้วย รวมทั้งหากปอกเปลือกก่อนส่งขายให้แก่โรงงาน เปลือก ใบ และกิ่งเล็กๆ ที่ทิ้งไว้ในไร่หรือนาข้าวก็จะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยไปด้วย สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกยูคาลิปตัสบนคันนาทำได้โดยปลูกเป็นแถวเดี่ยวๆ ให้มีระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 1.5-2 เมตร เพื่อเปิดช่องว่างให้ข้าวในนาได้รับแสงสว่างอย่างเต็มที่และเพียงพอ จึงไม่ควรปลูกทุกๆ คันนา ปลูกเฉพาะบนคันนาที่มีระยะห่างกัน 30-40 เมตรก็พอแล้ว การกระทำดังกล่าวแทบจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเตรียมพื้นที่ปลูกและการดูแลรักษาเลย เพราะชาวนาจะต้องยกตกแต่งคันนาและบำรุงรักษาต้นข้าวอยู่แล้ว หากคัดเลือกสายพันธุ์ให้เหมาะสมก็จะทำให้ได้ไม้ไม่น้อยกว่า 8-10 ตันต่อไร่เมื่ออายุ 4 ปี นั่นคือจะสร้างรายได้เสริมอีกมาก “ประเทศไทยมีคันนารวมทั้งสิ้นราว 12 ล้านกิโลเมตร เฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคเดียวมีพื้นที่นาปี 33 ล้านไร่ หากเกษตรกรไทยหันมามาปลูกยูคาบนคันนาข้าวเพิ่มขึ้น ก็จะช่วยสร้างรายได้เสริมจากการใช้ประโยชน์จากที่นา รวมทั้งรายได้จากการสร้างงานในชนบทอีกจำนวนมหาศาล ผลผลิตจากยูคาลิปตัสยังมีส่วนในการผลิตวัตถุดิบให้แก่ภาคอุตสาหกรรม และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่แผ่นดินอีกด้วย หากเกษตรกรรายใดสนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 034-615040” นายจุมพฏกล่าว ข้อมูลเกี่ยวกับเอสซีจี เปเปอร์ บริษัท เอสซีจี เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจหลักของเครือซิเมนต์ไทย (SCG) และเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมกระดาษ ซึ่งดำเนินธุรกิจใน 5 กิจการหลัก ได้แก่ กิจการสวนป่า กิจการเยื่อกระดาษและกระดาษพิมพ์เขียน กิจการกระดาษอุตสาหกรรม (ที่มีกำลังการผลิตมากที่สุดในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน) กิจการกระดาษแข็งและกิจการบรรจุภัณฑ์ มีโรงงานผลิตกระดาษและบรรจุภัณฑ์กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย และในภูมิภาคอาเซียน SCG Paper ยังมีฐานการผลิตอยู่ในประเทศเวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ด้วย SCG Paper ได้พัฒนาวัตถุดิบ กระบวนการผลิต เทคโนโลยี และการจัดการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มีคุณภาพดี สามารถตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น SCG Paper ยังมีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพ ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน แถลงข่าวในนาม : ธุรกิจกระดาษ เครือซิเมนต์ไทย (SCG Paper) รายละเอียดเพิ่มเติม : โอบบุญ แย้มศิริกุล (aobboony@scg.co.th) โกวิท สว่างวารีสกุล (kovit.savangvareesakul@ogilvy.com) วีร์ดา ปานรัตน์ (weeda.parnrat@ogilvy.com) : บริษัท โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์ จำกัด โทร. 0 2205 6000 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 022056000 โกวิท สว่างวารีสกุล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ