อาเซียนต้องลงมือปกป้องสภาพภูมิอากาศ

ข่าวทั่วไป Friday February 27, 2009 14:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักกิจกรรมกรีนพีซจุดประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการแขวนป้ายผ้าบนป้ายประกาศโฆษณาตรงข้ามสถานที่จัดการประชุมสุดยอดอาเซียน มีข้อความว่า “10 ชาติ 1 วิสัยทัศน์ ลงมือปกป้องสภาพภูมิอากาศเดี๋ยวนี้” ผู้นำประเทศกลุ่มอาเซียนเดินทางมาถึงในวันนี้เพื่อเข้าร่วมการประชุมซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งๆที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ “เราเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนใช้มาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยให้ความสำคัญและสนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Investments) ซึ่งจะช่วยจัดวางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนพื้นฐานของการยุติปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบันถือเป็นโอกาสที่ทำให้เกิดการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นแนวทางให้เกิดการจ้างงาน การบูรณะโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ ขึ้นมาใหม่ การวางรากฐานของเศรษฐกิจพลังงานแบบใหม่ และได้รับเงินสนับสนุนเพื่อปกป้องคุ้มครองป่าไม้” นายธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว นักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาย้ำเตือนหลายครั้งว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวมากที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมีการเตรียมการรับมือผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่น้อยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ส่งผลให้ภูมิภาคนี้มักได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆในปัญหาภัยแล้ง ไฟป่า และพายุ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ ความสูญเสียชีวิต และกลายเป็นภัยพิบัติที่ประชาชนในภูมิภาคต้องประสบเป็นประจำทุกปี สมาชิกในกลุ่มอาเซียนได้ร่วมลงนามในปฏิญญาสิงคโปร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงานและสิ่งแวดล้อม (Singapore Declaration on Climate Change, Energy and the Environment) ซึ่งมีการรับรอง ณ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกครั้งที่ 3 (the Third East Asia summit) ในเดือนพฤศจิกายน 2550 และปฏิญญาปักกิ่ง (Beijing Declaration) ซึ่งรับรองในเดือนตุลาคม ปี 2551 ปฏิญญาทั้งสองนี้ได้ให้ความสำคัญกับความเร่งด่วนในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านพิธีสารเกียวโตและแผนปฏิบัติการระดับประเทศเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสม “กรีนพีซเรียกร้องรัฐมนตรีทุกท่านให้เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของชุมชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และคนรุ่นอนาคตโดยการผลักดันชุมชนนานาชาติให้รับผิดชอบและช่วยเหลือเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะภัยของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” นายวอน เฮอร์นันเดซ ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว ในจดหมายถึงผู้นำในกลุ่มประเทศอาเซียน กรีนพีซเรียกร้องผู้นำในกลุ่มประเทศอาเซียนให้พิจารณาถึงความสำคัญของการเจรจาโลกร้อนที่กรุงโคเปนเฮเกน และมีความเห็นร่วมกันตามประเด็นต่อไปนี้ 1. พันธะทางกฎหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับประเทศอุตสาหกรรม (ในฐานะเป็นกลุ่มประเทศ) ลงอย่างน้อยที่สุดร้อยละ 40 ภายในปี 2563 (เมื่อเทียบกับการปล่อยในปีฐาน 2533) โดยอย่างน้อยที่สุด สามในสี่ส่วน ควรเป็นการปฏิบัติการเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศ ประเทศอุตสาหกรรมควรจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการปล่อยเพื่อให้เกิดเงินทุนที่เพียงพอและคาดการณ์ได้ เพื่อสนับสนุนพลังงานสะอาดและกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่างๆ การปกป้องป่าไม้และการปรับตัวในประเทศกำลังพัฒนา 2. กลไกด้านเงินทุนในการยุติการทำลายป่าไม้เชิงสุทธิและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องในประเทศกำลังพัฒนาภายในปี 2563 ซึ่งจะต้องเป็นส่วนที่เพิ่มเติมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่อธิบายไว้ข้างต้น ควรให้ความสำคัญต่อการปกป้องป่าไม้เป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งมีคุณค่าในเชิงอนุรักษ์สูงและเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญสำหรับวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองและผู้อาศัยในพื้นที่ป่า 3. แผนปฏิบัติการเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับประเทศกำลังพัฒนาภายใต้จิตวิญญานของการเสริมสร้างความเข้มแข็ง การขยาย และการลงลึกอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการมีส่วนร่วมจากประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลงร้อยละ 15-30 ซึ่งแตกต่างไปจากการเพิ่มปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ดำเนินไปตามปกติภายในปี 2563 ภายใต้การลดปริมาณการปล่อยดังกล่าวนี้ ในแง่มาตรการการประหยัด (ไม่ต้องลงทุน) ซึ่งทำให้เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภายนอกนั้น ควรจะเป็นการดำเนินการของประเทศกำลังพัฒนา ในขณะที่การลดปริมาณการปล่อยที่เหลือจะเป็นการสนับสนุนจากประเทศอุตสาหกรรม เมื่อผนวกรวมเข้ากับความจำเป็นของการสนับสนุนทางการเงินสาธารณะ ในการพัฒนาพลังงานสะอาด (4 หมื่นล้านยูโรภายในปี 2563) การปกป้องระบบนิเวศป่าไม้ (3 หมื่นล้านยูโร ภายในปี 2563) และการปรับตัว (4 หมื่นล้านยูโร ภายในปี 2563) ปริมาณรวมของสถาปัตยกรรมทางการเงินภายในข้อตกลงโคเปนเฮเกนจะมีจำนวนอย่างน้อยที่สุด 1.1 แสนล้านยูโร กรีนพีซขอเรียกร้องให้รัฐบาลในอาเซียนช่วยกดดันประเทศอุตสาหกรรม ให้คำมั่นต่อการสนับสนุนทางการเงินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเงินทุนที่จำเป็นภายใต้บริบทของการเจรจาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่โคเปนเฮเกน กรีนพีซ ทำงานรณรงค์ด้วยหลักการเผชิญหน้าอย่างสันติวิธี นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพฤติกรรม เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และสันติภาพ ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทร 089-476-9977 วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร 089-487-0678

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ