กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--ออนไลน์ แอสเซ็ท
บมจ.ไพลอน แจกโชค 2 ชั้นให้กับผู้ถือหุ้น โดยจ่ายปันผลเป็นเงินสดอัตราหุ้นละ 0.04 บาท และจ่ายปันผลเป็นหุ้นสามัญของ PYLON ในอัตรา 3 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นปันผล รวมมูลค่าทั้งสิ้นจำนวน 56 ล้านบาท ผู้บริหารแจงเป็นแนวทางที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ผู้ถือหุ้นได้รับเงินสดพร้อมหุ้นปันผลที่ซื้อขายในกระดาน และเพิ่มสภาพคล่องให้กับหุ้นของ PYLON ส่วนบริษัทฯ ทำให้มีสภาพคล่องในมือและแผนการขยายธุรกิจในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวโดยไม่สะดุด โดยวางเป้ารายได้ปี 2552 ไว้ที่ 500-700 ล้านบาท
นายบดินทร์ แสงอารยะกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไพลอน (PYLON) เปิดเผยถึงผลประกอบการประจำปี 2551 สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2551 ว่างบการเงินรวมบริษัทฯและบริษัทย่อย มีรายได้จากการรับจ้างรวม 722 ล้านบาท มีกำไรขั้นต้น 113 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 36.5 ล้านบาท กำไรสุทธิ 58.6 ล้านบาท ส่วนงบการเงินเฉพาะของบริษัทฯ มีกำไรสุทธิสำหรับงวดปี 2551 เท่ากับ 58.2 ล้านบาท ซึ่งมากกว่างวดเดียวกันของปีก่อนเท่ากับ 47.1 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 423%
สาเหตุที่ผลประกอบการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น เนื่องจาก PYLON มีรายได้จากการรับจ้างเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 341 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 90.2% เนื่องจากในปี 2551 บริษัทได้ขยายฐานลูกค้าและรับงานรวมวัสดุมากขึ้น ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นสำหรับงวดปี 2551 เท่ากับ 15.6% ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งเท่ากับ 16.4% เนื่องจากความผันผวนของราคาวัสดุ อย่างไรก็ตามกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจาก 62.1 ล้านบาทในปี 2550 เป็น 112.3 ล้านบาทในปี 2551 หรือเพิ่มขึ้น81%
พร้อมกันนี้ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552 มีมติอนุมัติให้นำเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น เพื่อพิจารณาจัดสรรกำไรเป็นเงินสำรองตามกฎหมาย และจัดสรรกำไรเพื่อการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นจากผลประกอบการปี 2551 เป็นจำนวนเงิน 56 ล้านบาท โดยการจ่ายปันผลเป็นเงินสด จำนวน 6 ล้านบาท คิดเป็นการจ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 0.04 บาท และจ่ายปันผลเป็นหุ้นสามัญของบริษัท จำนวน 50 ล้านหุ้น(มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท) ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท ในอัตรา 3 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นปันผล รวมมูลค่าทั้งสิ้นจำนวน 50 ล้านบาท ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นรายใดมีเศษหุ้นน้อยกว่า 3 หุ้นให้จ่ายปันผลเป็นเงินสดแทนการจ่ายเป็นหุ้นปันผลสำหรับเศษหุ้นดังกล่าวในอัตราหุ้นละ 0.33 บาท
โดยกำหนดให้มีวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิเข้าประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2552 และสิทธิรับเงินปันผลในวันศุกร์ที่ 27 มีนาคม 2552 และให้รวบรวมรายชื่อตามมาตรา 225 ของ พรบ.หลักทรัพย์ฯ โดยวิธีปิดสมุดทะเบียนในวันจันทร์ที่ 30 มีนาคม 2552 และกำหนดจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม 2552
เขากล่าวต่อว่าสาเหตุที่ PYLON ตัดสินใจจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นใน 2 รูปแบบ เนื่องจากในปัจจุบันเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวทั้งในประเทศเและต่างประเทศ ทำให้บริษัทฯ พยายามเลือกแนวทางที่จะสร้างประโยชน์แก่ทั้งผู้ถือหุ้นและบริษัท
ทั้งนี้ ประเด็นหลักที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับต้นๆ คือ การรักษาสภาพคล่องของบริษัท เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการทำงาน อันเป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากเศรษฐกิจที่ค่อนข้างอ่อนแอทำให้แต่ละบริษัทต้องเตรียมความพร้อมและสร้างฐานะให้เข้มแข็งที่สุด เพื่อจะรับมือกับทุกปัญหาที่เข้ามากระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นมาก
"วิธีการนี้น่าจะเป็น option ที่ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย คือ ผู้ถือหุ้นได้รับปันผลเป็นเงินสด ส่วนหุ้นปันผลสามารถซื้อขายในกระดานได้ ขณะเดียวกันปริมาณหุ้นที่เพิ่มขึ้นน่าจะช่วยเสริมสภาพคล่องได้โดยมีการซื้อขายที่คึกคักยิ่งขึ้น และในส่วนของ PYLON ก็สามารถรักษาสภาพคล่องเอาไว้ได้ อีกทั้งบริษัทฯ ก็อยู่ระหว่างการขยายกิจการ”
เขากล่าวต่อว่าในปี 2552 คาดว่าภาครัฐจะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ซึ่งน่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของปี 2552 และที่ผ่านมาโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ- ตลิ่งชัน ได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ อยู่ระหว่างการประมูล ซึ่งจะช่วยให้มีงานเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ดังนั้นบริษัทต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว รวมถึงการขยายพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อให้รับงานได้กว้างขวางมากขึ้น
นายบดินทร์ กล่าวต่อในช่วงท้ายว่าถึงแม้ในปี 2552 จะเป็นอีกปีหนึ่งที่ดำเนินธุรกิจอย่างยากลำบาก แต่จากประสบการณ์ และผลงานที่สร้างไว้เป็นจำนวนมากในตลาด จะทำให้ PYLON ยังสามารถรักษาส่วนแบ่งในตลาดรับเหมาก่อสร้างฐานรากไว้ที่ระดับ 20% ซึ่งเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดในปัจจุบันไว้ได้ ส่วนรายได้นั้นวางเป้าหมายไว้ที่ระดับ 500 — 700 ล้านบาท เนื่องจากราคาเหล็กและน้ำมันที่ลดลงทำให้มูลค่าต่อโครงการลดลงไปด้วย
ข้อมูลบริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) (PYLON)
บริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) (PYLON) ดำเนินธุรกิจเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างงานฐานรากงาน แบ่งออกเป็น 3 สายงานหลัก ดังนี้ คือ
1.งานเสาเข็มเจาะ (Bored Pile) เสาเข็มเจาะเป็นเสาเข็มที่นิยมใช้กับการก่อสร้างฐานรากของโครงสร้างขนาดใหญ่ และโครงสร้างอาคารในบริเวณที่มีพื้นที่จำกัด นอกจากนี้เสาเข็มเจาะยังลดมลภาวะเรื่องเสียงและแรงสั่นสะเทือนเมื่อเทียบกับการใช้เสาเข็มตอก การก่อสร้างเสาเข็มเจาะนั้นสามารถปรับเปลี่ยนขนาดได้ จากขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 50 เซนติเมตร จนถึงมากกว่า 1 เมตรขึ้นไป และทำได้ถึงความลึกมากกว่า 60 เมตร ขึ้นอยู่กับการออกแบบกำลังรับน้ำหนักของเสาเข็มโดยวิศวกร และสภาพชั้นดินในแต่ละพื้นที่
2. งานปรับปรุงคุณภาพดิน (Ground Improvement) มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มเสถียรภาพให้กับโครงสร้างของดินเดิม ทำให้ดินมีกำลังรับน้ำหนักมากขึ้นและป้องกันการเคลื่อนตัวของดิน โดยบริษัทมีการให้บริการงานประเภทนี้โดยวิธีการอัดฉีดซีเมนต์ด้วยแรงดันสูง (Jet Grouting) ที่ความดันประมาณ 200 ถึง 400 บาร์ และ 3.งานก่อสร้างกำแพงกันดินชนิดไดอะแฟรม (Diaphragm Wall) กำแพงกันดินชนิดไดอะแฟรมเป็นการก่อสร้างกำแพงโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นโครงสร้างรับน้ำหนักและป้องกันการเคลื่อนตัวของดินทางด้านข้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เพื่อเป็นโครงสร้างของชั้นจอดรถใต้ดิน กำแพงอาคารผู้โดยสารสำหรับระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน และอุโมงค์ลอดทางแยก เป็นต้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : จุฬารัตน์ เจริญภักดี 089-4888337 / 02-5549395