ปกป้องผืนป่าในภูมิภาคอาเซียนช่วยยุติโลกร้อน

ข่าวทั่วไป Monday March 2, 2009 10:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--กรีนพีซ กรีนพีซวิพากษ์การประชุมสุดยอดอาเซียน ไร้วี่แววการปฏิบัติการเพื่อปกป้องป่าไม้ในภูมิภาคกว่า 283 ล้านเฮกแตร์ (2,830,000 ตารางกิโลเมตร) และการยุติภัยคุกคามวิถีชีวิตของชุมชนในเขตป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนี้ การทำลายป่าไม้อย่างรวดเร็วและขาดการตรวจสอบ ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมหาศาลและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น การรณรงค์โดยการแสดงละครล้อเลียนวันนี้ นักกิจกรรมของกรีนพีซสวมหน้ากากเป็นผู้นำอาเซียน และมีนักกิจกรรมสวมชุดอุรังอุตังเข้ามาแสดงความยินดีกับเหล่าผู้นำอาเซียนซึ่งยืนอยู่ในท่าจับมือกันและมีข้อตกลงร่วมกันในการปกป้องป่าไม้เพื่อยุติภาวะโลกร้อน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผืนป่าประมาณร้อยละ 16 ของพื้นที่ป่าเขตร้อนทั่วโลก แต่ก็เป็นภูมิภาคที่มีอัตราการตัดไม้ทำลายป่าสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกโดยมีอัตราการทำลายป่าสูงถึง 3.1 ล้านเฮกแตร์ (31,000 ตารางกิโลเมตร) ต่อปี นอกจากนี้ ประเทศอินโดนีเซียยังได้ถูกบันทึกไว้ในกินเนสส์เวิร์ลด์ เรคคอร์ด ว่าเป็นประเทศที่มีการตัดไม้ทำลายป่าเร็วในที่สุดในโลก กรีนพีซเรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนยอมรับข้อเสนอให้ยุติการตัดไม้ทำลายป่าในภูมิภาคนี้ โดยจะต้องยุติให้ได้ภายในปี 2563 “การตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลกส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึงร้อยละ 20 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีพื้นที่ป่าเขตร้อนร้อยละ 16 ของพื้นที่ป่าทั่วโลก เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การยุติการทำลายป่าไม้จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เราหวังว่าผู้นำอาเซียนจะให้ความสนใจเรื่องการปกป้องคุ้มครองป่าไม้และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและยอมรับข้อเสนอของกรีนพีซในการผลักดันให้ประเทศอุตสาหกรรมจัดสรรงบประมาณ 3 หมื่นล้านเหรียญยูโรทุกๆปี ไปจนถึงปี 2563 เพื่อนำไปสนับสนุนให้เกิดการยุติการทำลายป่าในประเทศกำลังพัฒนา แต่ก่อนที่จะก้าวไปถึงข้อเสนอดังกล่าว สิ่งแรกที่อาเซียนจะต้องลงมือทำก็คือการประกาศข้อเสนอการหยุดทำลายป่าไม้” นายบุสตาร์ ไมทาร์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านป่าไม้ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา (REDD) ควรจะมีข้อตกลงเกิดขึ้นในการเจรจาโลกร้อนที่โคเปนเฮเกน และต้องรับประกันว่าการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งสิทธิของชุมชนพื้นเมืองจะถูกบรรจุอยู่ในการเจรจาดังกล่าวด้วย โดยไม่ปล่อยให้เกิดช่องว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรม การให้เงินทุนเพื่อลดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการยุติการทำลายป่าโดยสิ้นเชิง (Zero deforestation) ในประเทศกำลังพัฒนา ภายในปี 2563 ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 13 ที่บาหลี กรีนพีซได้ยื่นข้อเสนอกลไกการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและยุติการทำลายป่าเขตร้อน (www.greenpeace.org/forestsforclimate) กลไกดังกล่าวเป็นกองทุนที่เชื่อมโยงเชิงตลาดที่เป็นแบบลูกผสม(hybrid market-linked fund) องค์ประกอบดังกล่าวจะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้งทางด้านสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ว่าขีดความสามารถของประเทศต่าง ๆ จะอยู่ในระดับใดก็ตาม ป่าเขตร้อนมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากช่วยรักษาสภาพภูมิอากาศ ระบบการไหลของน้ำ และรักษาสมดุลของระบบนิเวศซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์พึ่งพิง ป่าไม้คือชีวิตของทุกสรรพสิ่งบนโลก ทั้งอุรังอุตัง ช้าง เสือ และเสือจากัวร์ ชนพื้นเมืองกว่า 150 ล้านคนทั่วโลก อาศัยอยู่ในเขตป่า พวกเขาเหล่านี้มีอนาคตอยู่ที่ผืนป่า ดังนั้นพวกเขาจึงต้องการที่จะปกป้องพื้นที่ป่าไม้ หากแต่ละประเทศร่วมกันปกป้องผืนป่าของตนโดยประกาศใช้กฎหมายยุติการทำลายป่า พวกเราก็จะได้รับผลดีทั้งในด้านสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ชุมชน และชุมชนพื้นเมืองในผืนป่า “เป็นเวลาหลายปีที่อาเซียนได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นผู้นำอาเซียนจึงต้องร่วมกันออกข้อเสนอที่กล้าแกร่งในการปกป้องประชาชนและเศรษฐกิจในภูมิภาคจากมหันตภัยของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ข้อเสนอแบบเดิมนั้นสนับสนุนเฉพาะประเทศอุตสาหกรรม ที่สมควรเป็นผู้รับผิดชอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกแต่กลับเป็นผู้ที่ทำลายและปรุงโลกใบนี้ให้ร้อนขึ้น” นายธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว กรีนพีซ ทำงานรณรงค์ด้วยหลักการเผชิญหน้าอย่างสันติวิธี นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพฤติกรรม เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และสันติภาพ ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ บุสตาร์ ไมทาร์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านป่าไม้ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทร +6281344666135 ธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทร 089-476-9977 วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร 089-487-0678

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ