เจมส์ โฮแกน ประธานกัลฟ์แอร์ ประกาศใช้แผน “สมาร์ท แอร์ไลน์” สร้างการเติบโตและยกระดับคุณภาพบริการในไทย

ข่าวท่องเที่ยว Monday February 20, 2006 11:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.พ.--ไมนด์ ทัช
ดึงนักท่องเที่ยวมีระดับบินกัลฟ์แอร์สู่ไทย
สายการบินกัลฟ์แอร์ประกาศใช้ “สมาร์ท แอร์ไลน์” แผนกลยุทธ์สามปีปรับโครงสร้างครั้งใหญ่หวังผลเติบโตระยะยาว พร้อมยกระดับการบริการ เน้นเตรียมความพร้อมทั้งเงินสำรองเพื่อปรับโครงสร้างการลงทุน การปรับโฉมฝูงบิน และเล็งลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
มร. เจมส์ โฮแกน ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินกัลฟ์แอร์ เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการประกาศใช้แผนกลยุทธ์ “สมาร์ท แอร์ไลน์” ในโอกาสที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยว่า แผนดังกล่าวได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากคณะกรรมการและผู้ถือหุ้น โดยได้รับการอนุมัติและเห็นชอบจากที่ประชุมในการประชุมกรรมการบริหารครั้งแรก ภายใต้โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ซึ่งราชอาณาจักรบาห์เรนและรัฐสุลต่านโอมาน ถือหุ้นฝ่ายละ 50 เปอร์เซ็นต์ หลังการถอนตัวจากการเป็นผู้ถือหุ้นของอาบูดาบี
“ผมรู้สึกยินดีที่คณะกรรมการบริหารให้ความสนับสนุนเต็มที่กับแผนธุรกิจใหม่นี้ ผมมั่นใจว่าแผน Smart Airline, Successful Business จะนำพาสายการบินของเราสู่ความสำเร็จในระดับแถวหน้าของอุตสาหกรรมการบินโลก อีกทั้งยังจะเสริมสร้างภาพลักษณ์ของสายการบินคุณภาพระดับโลก ซึ่งมีเครือข่ายที่แข่งแกร่งที่สุดในภาคพื้นตะวันออกกลาง กลยุทธ์ที่จะจัดการกับศูนย์กลางการบินสองแห่งใหม่ (two-hub strategy) จะส่งผลต่อการลดต้นทุนอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงการพัฒนาปัจจัยด้านการปฏิบัติการที่สำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตรงต่อเวลา จากความคล่องตัวด้านฝูงบินและการเชื่อมต่อการเดินทางที่มีประสิทธิภาพ” มร. โฮแกนกล่าวและให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า
การดำเนินการตามแผนกลยุทธ์การจัดการศูนย์การบินสองแห่งในครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะยกเลิกเที่ยวบินจากสนามบินอาบูดาบี หากเรายังคงเที่ยวบินกว่า 50 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ทั้งไปและกลับจากอาบูดาบี ซึ่งมีทั้งเที่ยวบินตรงและเที่ยวบินเพื่อเชื่อมต่อไปยังจุดหมายปลายทางอีกหลากหลายแห่ง
ในด้านการพัฒนาฝูงบิน ส่วนหนึ่งของวงเงินกู้ 75ล้านเหรียญสหรัฐที่ได้รับการอนุมัติจากธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ จะนำไปใช้เพื่อการติดตั้งที่นั่งใหม่สำหรับที่นั่งโดยสารชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจ และใช้เพื่อปรับปรุงและตกแต่งภายในใหม่ของเครื่องรุ่น Airbus A340 ที่ใช้ในการบินระหว่างประเทศไทยฮ่องกง และ บาห์เรน อีกทั้งจะติดตั้งระบบสันทนาการต่าง ๆ ภายในเครื่องบินใหม่อีกด้วย
การปรับปรุงฝูงบินใหม่ในครั้งนี้ กัลฟ์แอร์คาดว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเลือกใช้บริการกัลฟ์แอร์ในฐานะสายการบินที่ผู้โดยสารพึงพอใจเพื่อเดินทางมาสู่กรุงเทพฯ จากภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งถือได้ว่าเป็นตลาดท่องเที่ยวที่สำคัญสำหรับประเทศไทยด้วยคุณภาพและกำลังซื้อของนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ สัญญาการบินร่วมเที่ยวบิน Code Sharing ที่เพิ่งทำขึ้นกับการบินไทยจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมายังประเทศไทย ซึ่งสัญญานี้ ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกสู่เส้นทางท่องเที่ยวยอดนิยมเพิ่มขึ้น ได้แก่ ภูเก็ต และเชียงใหม่ ทั้งยังให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่จะเดินทางไปยังฮ่องกง มัสกัต และบาห์เรนด้วย
ทั้งนี้ในส่วนของกลยุทธ์ด้านการเงินและการลงทุน มร. โฮแกนให้ความเห็นว่า “การตัดสินใจด้านการเงินและการลงทุน จะทำให้เราสามารถลงทุนในเครื่องบินใหม่ และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ เพื่อที่จะทำให้สายการบินของเราพัฒนาและก้าวหน้าไปได้ อย่างไรก็ตาม เรายังจะคงรักษาการตัดสินใจให้อยู่บนพื้นฐานของการตัดสินใจเชิงพาณิชย์ที่ดี”
“เรายังจะต้องลงทุนในกลุ่มธุรกิจหลัก และอาจจะต้องนำวิธีการควบรวมธุรกิจ และลดต้นทุนมาใช้ แต่โดยหลักการแล้วเรามีความเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถพัฒนาต่อยอดจากความสำเร็จที่เราได้รับในปัจจุบันได้ ทั้งนี้จะต้องมีกลยุทธ์ที่มีความชัดเจน และมีพัฒนาการที่ดี ผสานกับการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญด้วย โดยในแง่ของการปรับโครงสร้างทางด้านการลงทุนนั้นจะต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งทางฝ่ายรัฐบาลบาห์เรน และ โอมาน” มร. โฮแกนกล่าว
อนึ่ง ในปี 2548 ที่ผ่านมา สายการบินต่าง ๆ ต้องเผชิญกับวิกฤตราคาน้ำมัน ซึ่งจากการประเมินของ IATA ผลกระทบโดยรวมจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นมีมูลค่าสูงถึง 6.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ข้อมูลเกี่ยวกับสายการบินกัลฟ์แอร์
กัลฟ์แอร์ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2493 โดยผู้เป็นเจ้าของสายการบินในปัจจุบันคือ ราชอาณาจักรบาห์เรนและ รัฐสุลต่านโอมาน กัลฟ์แอร์เป็นสายการบินเดียวที่ครอบคลุมภาคพื้นตะวันออกลางทั้งหมด โดยมีเครือข่ายเส้นทางการบินครอบคลุมถึง 44 เมืองใน 30 ประเทศในทวีปยุโรปและเอเชียด้วยเครื่องบินที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคจำนวน 34 ลำ
สายการบินกัลฟ์แอร์ ภายใต้การบริหารของ มร. เจมส์ โฮแกน ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้มีการวางรากฐานการปฏิบัติการด้านการพานิชย์ผ่านแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งมีระยะเวลา 3 ปีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างระยะยาว และยังเป็นกรอบของการพัฒนานวัตกรรมด้านบริการ อาทิ สกายเชฟ บริการพ่อครัวบนเครื่อง และสกาย แนนนี่ บริการพี่เลี้ยงเด็กบนเครื่อง ฯลฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Smart Airline Success Business ซึ่งเป็นแผนกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ระยะต่อไป
ความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมากของกัลฟ์แอร์นั้นเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยเมื่อเดือนมกราคม 2547 ศูนย์การบินเอเชียแปซิฟิก (The Centre for Asia Pacific Aviation - CAPA) ได้มอบรางวัล Airline Turnaround of the Year Award ประจำปี 2546 อันทรงเกียรติให้แก่สายการบิน นอกจากนี้ กัลฟ์แอร์ยังได้รับรางวัล Platinum Award สำหรับสายการบินยอดเยี่ยมในภาคพื้นตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ประจำปี 2546 ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันในความมุ่งมั่นของสายการบินต่อบริการอันเป็นเลิศ
รางวัล Platinum Award สำหรับสายการบินยอดเยี่ยมในเขตตะวันออกกลางและ แอฟริกาเหนือ ประจำปี 2547
รางวัลสายการบินที่มีพัฒนาการมากที่สุดจากสกายแทรคซ์ (Skytrax) ประจำปี 2547
รางวัลอาหารบนเครื่องสำหรับผู้โดยสารชั้นหนึ่งยอดเยี่ยมจากสกายแทรคซ์ ประจำปี 2547
รางวัลบริการด้านเช็ค-อินสำหรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจยอดเยี่ยมจากสกายแทรคซ์ ประจำปี 2547
สายการบินและผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของบาห์เรนกรังด์ปรีซ์ 2006
ขอข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
เวอร์โก 68 พับบลิค รีเลชั่นส์ - ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
แฮรี เจมส์ โทร. (+852) 92633343
หรือ บริษัท ไมนด์ ทัช จำกัด — ตัวแทนที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ในประเทศไทย
สาวิตรี ปึงเจริญกุล 01 816 4598 หรือ ชัชสรัล (ป้อม) เทียมวัน 09 443 6886
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

แท็ก แอร์ไลน์  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ