เยาวชนเมืองจันท์สืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้านผ่านเสื่อจันทบูร วัยใสเรียนรู้ได้ทุกวิชาอย่างบูรณาการ

ข่าวทั่วไป Monday March 2, 2009 13:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--สสวท. ส่วนประชาสัมพันธ์ สสวท. (สินีนาฎ ทาบึงกาฬ/รายงาน) การทอเสื่อจันทบูรซึ่งรับรู้กันว่าเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านของจันทบุรีนั้น แท้จริงแล้วได้รับถ่ายทอดภูมิปัญญามาจากชาวญวนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ตั้งแต่ครั้งอยุธยาตอนปลาย สู่คณะนักบวชหญิง ”คณะภคินีรักไม้กางเขน” หรือ “คณะภคินีรักกางเขนแห่งจันทบุรี” ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นคณะภคินีที่ก่อตั้งและบริหารโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ จังหวัดจันทบุรี ซิสเตอร์อุบล ผังรักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ เล่าว่า คณะภคินีรักไม้กางเขน เป็นคณะพื้นเมือง แต่เดินั้นเป็นมิชชันนารีจากฝรั่งเศส เดินทางมาเผยแผ่ศาสนา และจุดประสงค์สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือให้การศึกษากับผู้ที่ด้อยโอกาส คณะภคินีของโรงเรียนเป็นผู้ที่รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านการทอเสื่อมาตั้งแต่เริ่มต้น ซิสเตอร์บางส่วนมาจากเวียดนาม และก่อนนี้คณะภคินี ฯ เลี้ยงชีพด้วยการทอ เสื่อกก “เมื่อก่อนชุมชนหลังโรงเรียน เป็นชุมชนญวน อยู่ริมแม่น้ำจันทบุรีทั้งสองฝั่งเลย ทำอาชีพทอเสื่อ ชุมชนที่นี่เป็นแหล่งศูนย์กลางใหญ่เลย ต่อมาอาชีพนี้ก็เลิกกันไป แต่ก็ยังมีที่เป็นชาวบ้านทออยู่บ้าง เช่น ชุมชนบ้านเสม็ดงาม บางสระก้าว แต่เมื่อพูดถึงจันทบุรีทุกคนก็จะนึกถึงเสื่อ และเมื่อเสื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรู้จักจันทบุรี ถ้าเราอนุรักษ์ไว้ คำขวัญของเมืองจันทบุรีก็คงอยู่ตลอดไป เยาวชนรุ่นหลังน่าจะได้เรียนรู้ ได้ฝึกทำ ปีหนึ่งเราถ่ายทอดให้นักเรียนประมาณ 30-40 คน ในลักษณะของชุมนุมหัตถกรรมพื้นบ้านเสื่อจันทบูร หรือ ชุมนุมทอเสื่อ สิบปีก็จะได้หลายร้อยคนเหมือนกัน อย่างน้อยเมื่อจบไป หากเขาไม่ได้ทำอาชีพนี้ แต่สามารถที่แนะนำหรือถ่ายทอดให้คนอื่นได้” การทอเสื่อ ไม่ได้เป็นเพียงการฝึกฝนอาชีพให้แก่นักเรียน แต่สาระสำคัญก็คือการประมวลความรู้จากชั้นเรียนมาประยุกต์ใช้ให้เห็นในชีวิตจริง ทำให้เห็นคุณค่าของการเรียนมากขึ้น เช่น คณิตศาสตร์ถูกนำมาใช้ในการทอเสื่อโดยใช้เนื้อหาเรื่องรูปทรง การจัดลวดลายต่าง ๆ ใช้การคำนวณ สังเกตและการประยุกต์เอาเข้ามารวมกัน ศิลปะ ถูกนำเข้ามาเข้ามาบูรณาการกัน ในเรื่องของการใส่สีสัน ออกแบบเรียงร้อยสีให้สวยงาม ความรู้ทาง วิทยาศาสตร์ ก็ถูกนำมาใช้หลายขั้นตอน เช่น ขั้นตอนของการการย้อมสี นักเรียนแยกแยะได้ว่า สีวิทยาศาสตร์ กับสีธรรมชาติต่างกันอย่างไร ขั้นตอนการนำหินจากน้ำตกมาขัดผิวเสื่อให้เรียบลื่นและขึ้นเงาหลังจากทอเสร็จ นักเรียนจะต้องรู้ว่าหินจากน้ำตกกับหินจากที่ทั่วไป ๆ ต่างกันอย่างไร การทำให้เสื่อเรียบ เป็นเงา เกิดจากอะไร หากนำหินหยาบ ๆ มาถูเสื่อจะขาดเพราะอะไร กระบวนการเรียนรู้เหล่านี้สอดคล้องกับแนวทางของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) คือเน้นการเรียนการสอนการสอนที่พัฒนาทักษะกระบวนการ ให้นักเรียนได้คิด ฝึกปฏิบัติ ทดลอง ค้นคว้าหาคำตอบด้วยตัวเอง จะทำให้เกิดความรู้เข้าใจอย่างถ่องแท้ควบคู่ไปกับความจำติดตัว และได้เรียนรู้จากสิ่งใกล้ตัวที่มีในท้องถิ่น นอกจากนั้น สสวท. ยังเน้นให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนแบบ “บูรณาการ” เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง การดำเนินชีวิตประจำวัน การแก้ปัญหา หรือการตัดสินใจ ไม่จำกัดว่าจะเกี่ยวข้องกับวิชาใดวิชาหนึ่ง อาจต้องใช้ความรู้ และทักษะจากหลายสาขาวิชาร่วมกัน การบูรณาการเป็นการเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนมาให้เข้ากับชีวิตจริงได้ ทำให้เข้าใจว่าสิ่งที่เรียนมีประโยชน์ หรือนำไปใช้จริงได้ ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ กล่าวต่อไปว่า “กระบวนการเรียนรู้ที่ได้จากการทอเสื่อมีความหลากหลาย และเด็กได้รับการเรียนรู้จากขั้นตอนการปฏิบัติได้มากกว่าผลผลิตที่เกิดขึ้น เมื่อนำภูมิปัญญาการทอเสื่อมาถ่ายทอดสู่นักเรียน สังเกตว่าเด็ก ๆ ทำด้วยความภาคภูมิใจ ทุกวันนี้เขาคิดลายแปลก ๆ ขึ้นมามากมาย จากพื้นฐานเดิมลายธรรมดา ๆ มาประยุกต์โดยอาศัยวิชาคณิตศาสตร์มาพลิกแพลงมากขึ้น พยายามคิดประดิษฐ์ เริ่มจากการทำในกระดาษ ตารางกราฟ ปัจจุบันนี้ก็พยายามใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย ทำให้เด็กภูมิใจเมื่อมีคนเห็นผลงานของเขา และเขาก็พอใจมีความสุขกับผลงานเขาที่ได้ทำออกมา ซิสเตอร์ถือว่า ไม่ว่าจะเป็นการทอเสื่อการปลูกผัก สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ได้ แต่ว่า ขั้นตอน วิธีการ กระบวนการต่างหากที่สำคัญมาก การได้มาถึงความคิด ถึงการแก้ปัญหา การทำงานร่วมกัน อันนี้เป็นสิ่งสำคัญในชีวิต ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ออกมาเป็นผลสำเร็จนั้นเป็นของแถม” อุปกรณ์ที่ใช้ในการทอเสื่อ ประกอบด้วย กกย้อมสีต่างๆ เส้นเอ็นใช้สำหรับขึง ฟืม ไม้ส่งเส้นกก หรือ ไม้พุ่ง ไม้ทำคาน เกลียวเร่ง ไม้รองคานหรือ ไม้ตุ๊กตา ไม้ขัดเอ็น เทียน ,ขี้ผึ้ง สำหรับทาเอ็น การร้อยเส้นเอ็น มีหลายแบบ แล้วแต่ลวดลายของเสื่อ วิธีการทอเสื่อ ปกติแล้วต้องใช้ 2 คนช่วยกัน คนหนึ่งเป็นคนกระทบ อีกคนหนึ่งเป็นคนพุ่งเส้นกก ขณะนี้ โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ ได้ออกแบบลายเสื่อใหม่จากฝีมือของนักเรียนล้วนๆ แล้ว 6 — 7 ลาย เช่น ลายลูกโซ่ ลายสี่เหลี่ยมเริงร่า ลายแปดเหลี่ยมมหาสนุก ลายแมลง ลายลูกโซ่นอกจากนั้น นักเรียนยังมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเสื่อเพื่อส่งจำหน่ายด้วย เช่น สมุดบันทึก กล่องใส่ทิชชู กระเป๋า พวงหรีด ฯลฯ เด็กหญิงปานแก้ว สุวรรณมาลา (ปาน) ชั้น ป. 6 โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ เล่าว่า ปกติไม่ค่อยจะมีสมาธิเท่าไหร่ แต่เมื่อมาหัดทอเสื่อแล้วก็จะใจจดจ่ออยู่กับงาน ทำให้มีสมาธิมากขึ้น ชอบที่เราคิดลายเองได้ หนูคิดลายดอกไม้ได้หลายแบบ ชอบเรียนคณิตศาสตร์ค่ะ ความรู้เรื่องเรขาคณิตนำมาใช้ในการพัฒนาลายเสื่อได้ เด็กหญิงชวนา สุทธินราธร (รีน่า) ชั้น ป. 6 โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ เล่าว่า การทอเสื่อมีความงดงาม กกแต่ละเส้น ลายแต่ละลายที่นำมาใช้มีคุณค่ามาก การทอเสื่อเป็นการฝึกสมาธิของเราด้วย จากเดิมที่วอกแวกไม่อยู่นิ่ง ทำให้นิ่งได้มากขึ้นค่ะ อาจารย์ธารา อานามนารถ ครูคณิตศาสตร์ สอนชั้น ป. 6 โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ ซึ่งตัวอาจารย์นั้นเป็นคนท้องถิ่นที่ได้รับการถ่ายทอดจากครอบครัวในด้านการทอเสื่อมาโดยตรง แล้วได้นำความรู้เกี่ยวกับทอเสื่อมาถ่ายทอดต่อให้เด็ก ๆ กล่าวเสริมว่า การนำคณิตศาสตร์มาช่วยในเรื่องของเรขาคณิตมาช่วยในเรื่องของงานเสื่อ น่าจะเป็นการบูรณาการที่ดี ระหว่างวิชาคณิตศาสตร์และวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ จึงให้นักเรียนได้คิดริเริ่มสร้างสรรค์ ขึ้นมา ได้เกิดลวดลาย แปลก ๆ ใหม่ ๆ ขึ้นมา “ตัวครูเองเป็นลูกหลานของชาวญวนจึงได้ความรู้ตรงนี้มา และถ่ายทอดให้กับเด็ก ๆ และให้ชาวบ้านที่สนใจ การออกแบบลายเสื่อจะต้องเว้นเส้นเอ็นเป็นเลขคี่ ถึงจะทอแล้วได้ลวดลายที่ไม่ยุ่งยากมาก แต่ถ้าเป็นเลขคู่ เราจะต้องทอสลับและก็วุ่นวายมาก บางทีเด็กจะทอไม่ได้ การออกแบบลายในแต่ละครั้งไม่ใช่ว่านักเรียนจะทำได้ทุกลาย คือ เมื่อออกแบบแล้วทอไม่ได้ก็มี พอออกแบบแล้วครูก็ต้องมาทดลองทอเสื่อเองด้วย” สนใจสอบถามได้ที่โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ โทร. 039 311 038, 311 360 เว็บไซต์ www.sm.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ